แม้จะยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเหตุการณ์ลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลอย่างไรกับการชิงเก้าอี้ในทำเนียบขาว แต่ภาพที่ทรัมป์ลุกขึ้นมาด้วยใบหน้าด้านขวาเปื้อนเลือดท่ามกลางวงล้อมของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แล้วชูกำปั้นขึ้นพร้อมตะโกนว่า “สู้! สู้! สู้!” โดยมีธงชาติสหรัฐฯ โบกอยู่ด้านหลัง ก่อนจะถูกพาตัวออกไป กลายเป็นภาพไวรัลในเวลาอันรวดเร็ว
นักวิเคราะห์มองว่า ปฏิกิริยาของทรัมป์นี้ทำให้เขาดูเป็นคนที่แข็งแกร่ง ไม่ยอมแพ้ และภาพการชูกำปั้นจะกลายเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นประจำตัวทรัมป์ และอาจเป็นตัวกำหนดผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ได้เลยทีเดียว
เบนจามิน ไรลีย์ นักวิจัยจากศูนย์อเมริกันศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์เผยกับ Channel New Asia ว่า “ปฏิกิริยาของทรัมป์ต่อเหตุลอบสังหารแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง ไม่ยอมแพ้ หลังจากเหตุการณ์นี้คนจะเปลี่ยนมาสนับสนุนทรัมป์อย่างมากอย่างแน่นอน ทรัมป์ดูแข็งแกร่งอยู่แล้วเมื่อเทียบกับไบเดน และตอนนี้เราได้เห็นความแข็งแกร่งของเขาในช่วงเวลาแห่งความบอบช้ำ ซึ่งจะได้คะแนนความสงสารจากฝั่งผู้สนับสนุน”
เป็นผลเสียกับฝั่งไบเดน
ไรลีย์มองว่า เหตุลอบยิงยิ่งเพิ่มโอกาสที่พรรคเดโมแครตจะเปลี่ยนตัวไบเดน
“นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของไบเดน เขาไม่ได้อยู่ในช่วงที่ท็อปฟอร์มที่สุด จะมีคนที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครอีกมากมายที่บอกว่าจะเลือกทรัมป์ เพราะรู้สึกได้ใจกับภาพ (ของทรัมป์) ที่พวกเขาเห็น...แม้นโยบายจะไม่ได้เปลี่ยน แต่ภาพลักษณ์สำคัญมากๆ และนั่นจะสร้างความกดดันกับฝั่งเดโมแครตที่จะต้องปรับยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง”

เป็นผลดีกับฝั่งทรัมป์
หลังเกิดเหตุ โซเชียลมีเดียต่างพากันวิเคราะห์ว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้
แฟรงค์ ลาวิน อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองของทำเนียบขาวเผยว่า “คนอเมริกันมีความบอบช้ำทางจิตใจ พวกเขารู้สึกอ่อนไหวต่อการบาดเจ็บของคนคนนี้ (ทรัมป์) และต้องการแสดงการสนับสนุน ทรัมป์จะได้รับความนิยมมากขึ้นทางการเมืองจากเหตุการณ์นี้”
นอกจากนี้ยังมีมหาเศรษฐีคนดังประกาศสนับสนุนทรัมป์หลังเจ้าตัวถูกยิง ไม่ว่าจะเป็น อีลอน มัสก์ หรือบิล แอคแมน
นักวิเคราะห์มองว่าฝั่งของทรัมป์จะใช้ประโยชน์จากการลอบยิงนี้เปลี่ยนใจคนที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครหรือคนที่เลือกลงคะแนนให้ผู้สมัครที่เพิ่งเจอเหตุการณ์ร้ายๆ
เจค็อบ ไนไฮเซล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโลเผยว่า “ภาพที่ทรัมป์ปรากฏตัวพร้อมกับหูที่มีผ้าพันแผลจะถูกฉายซ้ำๆ หากมองในมุมของการหาเสียง การเสนอข่าวของสื่อและสายตาทุกคู่ที่จับจ้องมายังตัวผู้สมัคร...มันช่วยได้มากๆ”
อย่างไรก็ดี แฟรงค์ ลุนตซ์ จากวงการสำรวจความคิดเห็นประชาชนกล่าวว่า “ท้ายที่สุดแล้วผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะสงบลงแล้วกลับมาที่ตัวเลือกที่ตัวเองหมายตาไว้ คนที่ไปทางทรัมป์เพราะสงสารอาจจะถอยออกมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่เพนซิลเวเนียจะส่งผลต่อการเลือกตั้งรอบสุดท้ายแน่นอน และเป็นการรับประกันว่าคนที่หนุนทรัมป์จะลงคะแนนให้เขาจริงๆ แต่นี่ก็ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าทรัมป์จะกวาดคะแนนจากเพนซิลเวเนียมาเป็นของฝั่งรีพับลิกัน แต่เส้นทางที่ยากลำบากอยู่แล้วของไบเดนจะยิ่งยากลำบากขึ้นไปอีก”
กฎหมายปืนจะเปลี่ยนมั้ย
ประเด็นเรื่องการครอบครองปืนเป็นที่ถกเถียงกันอย่างดุเดือดในการหาเสียงเลือกตั้งสหรัฐฯ อยู่แล้ว ไบเดนออกกฎอย่างเข้มงวดและต้องการแบนปืนไรเฟิล ส่วนทรัมป์ประกาศว่าจะผ่อนคลายข้อห้ามหากชนะการเลือกตั้ง
นักวิเคราะห์มองว่าเหตุลอบยิงทรัมป์ไม่น่าจะเปลี่ยนใจฝั่งรีพับลิกันให้หันมาเห็นชอบกับการคุมเข้มการครอบครองอาวุธปืน
ไนไฮเซลเผยว่า “ดูจะเป็นการไร้เดียงสาไปหน่อยหากบอกว่าในสหรัฐฯ ไม่เคยเกิดความรุนแรงทางการเมืองเลย...เราแค่คิดว่ามันเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในยุคสมัยใหม่ นี่คือประเด็นที่เป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่องในสหรัฐฯ และไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ไขได้ง่ายๆ”
อย่างไรก็ดี ไรลีย์ยกตัวอย่างเหตุการณ์ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่นำมาสู่การปฏิรูปกฎหมายอาวุธปืน เช่น มีการออกกฎหมายอาวุธปืนหลานสิบฉบับหลังการลอบสังหาร จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐฯ เมื่อปี 1963 และบอกว่าทรัมป์ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังคัดค้านการคุมเข้มปืน อาจจะเปลี่ยนใจเพราะตกเป็นเหยื่อด้วยตนเองและรอดชีวิตมาได้อย่างฉิวเฉียด
“ต้องรอดูกันต่อไป...ว่าประสบการณ์เฉียดตายจะส่งผลอย่างไรกับคนย่างทรัมป์”
Photo by Rebecca DROKE / AFP