ครั้งหนึ่ง ‘สหรัฐฯ’ ก็เคย (ไม่) ยอมรับผลเลือกตั้งเหมือนกัน
ว่าด้วยเรื่องของการเมืองไทยในช่วงนี้คงจะร้อนแรงไม่แพ้ดวงอาทิตย์ที่กำลังสาดความร้อนแผดเผาดินแดนนี้อยู่เช่นเดียวกัน เมื่อสถานการณ์การโหวตนายกฯ ครั้งที่ 1 และ 2 ไม่เป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน เพราะอำนาจของ ส.ว.ที่สื่อต่างชาติบอกว่า ‘ชัยชนะของพวกเขา = เมินเสียงประชาชน’ หรืออาจพูดอีกนัยหนึ่งก็คงจะคล้ายๆ ‘การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง’ ที่มาจากเสียงของประชาชนนั่นแหละทว่าในฟากฝั่งประเทศประชาธิปไตยที่เจริญแล้วอย่าง ‘สหรัฐฯ’ ก็เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งต้องย้อนกลับไปช่วงทศวรรษ 1860 หลังประกาศอิสระภาพจากอังกฤษมาเกือบ 100 ปีซึ่งดูเหมือนทุกอย่างจะไปได้สวย แต่ก็ยังมีปัญหา ‘ระบบทาสฝ่ายเหนือ-ใต้’ อันนำไปสู่การไม่ยอมรับผลเลือกตั้งที่จบลงด้วย ‘สงครามกลางเมือง’ ในที่สุด
การเมืองในช่วงนั้นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ‘เหนือ’ VS ‘ใต้’
สหรัฐฯ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 กำลังเผชิญกับปัญหาระบบทาสจนประเทศถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งระหว่างฝ่ายเหนือที่สนับสนุนให้เลิกทาส หรือ ‘สหภาพ’ (Union / กลุ่มภักดีต่อสหรัฐฯ ปกป้องสถาบัน) และฝ่ายใต้ที่ยังมองว่าระบบนี้ยังจำเป็นต่อการใช้แรงงานในไร่ฝ้ายอยู่ หรือ ‘สมาพันธรัฐอเมริกา’ (the Confederate States of America)
ในเวลานั้นความโกลาหลภายในพรรคพรรคเดโมแครตระหว่างฝ่ายเหนือและใต้กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งเขตอย่างรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง ‘การใช้แรงงานทาส’ ว่าควรมีต่อไปหรือไม่? ในทางตรงกันข้าม นโยบายของรีพับลิกันก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ‘ไม่เอาระบบทาส’
ขณะนั้นเองท่ามกลางการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 16 ปี 1860 และเป็น อับราฮัม ลินคอล์น จากพรรครีพับลิกันที่สามารถเอาชนะ จอห์น ซี.เบรกคินริดจ์ จากพรรคเดโมแครตฝ่ายใต้, สตีเฟน เอ.ดักลาส จากพรรคเดโมแครตฝ่ายเหนือ และจอห์น เบลล์ ผู้สมัครจากสหภาพรัฐธรรมนูญ (เสนอนโยบายการเป็นทาสถูกกฎหมายในรัฐทางใต้ และผิดกฎหมายในรัฐทางเหนือ) ได้
ฝ่ายใต้ (ไม่) ยอมรับผลเลือกตั้งที่ ‘ชนะถล่มทลาย’
6 พฤศจิกายน 1860 วันชี้ชะตาการเมืองที่แบ่งเป็น 2 ฝั่งในเวลานั้น ซึ่งประชาชนอเมริกันเป็นผู้เลือกแล้วว่าพวกเขาไม่ต้องการระบบทาส และพร้อมใจเลือกลินคอล์นจนทำให้เขาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายด้วยคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง (electoral votes) 180 เสียง และป๊อปปูล่าโหวต 1,866,452 เสียง โดยสามารถครองเสียงในรัฐทางเหนือซึ่งมีผู้คนมากกว่าทางใต้ แต่ก็ไม่สามารถครองเสียงส่วนใหญ่ในรัฐทางใต้ได้
ขณะที่
- ดักลาสได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายเหนือไปเพียง 12 เสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง (ป๊อปปูล่าโหวต 1,380,202 เสียง)
- แคนดิเดตฝ่ายใต้อย่างเบรกคินริดจ์ได้ไป 72 คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง (ป๊อปปูล่าโหวต 847,953เสียง)
- ตัวแทนจากสหภาพรัฐธรรมนูญ เบลล์ได้ 39 คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง (ป๊อปปูล่าโหวต 590,901เสียง)
1 เดือนต่อมาหลังการเลือกตั้ง ก่อนที่ลินคอล์นจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนมีนาคม 1861 ฝ่ายใต้ทั้ง 7 รัฐ ได้แก่ เซาท์แคโรไลนา มิสซิสซิปปี ฟลอริดา แอละแบมา จอร์เจีย หลุยเซียน่า และเท็กซัส ซึ่งในภายหลังมีรัฐที่แยกออกมาอีก 4 รัฐ ได้แก่ เวอร์จิเนีย อาร์คันซอ เทนเนสซี และนอร์ทแคโรไลนา
จากนั้นทั้ง 11 รัฐก็รวมตัวกันแยกออกมาเป็น ‘สมาพันธรัฐอเมริกา’ ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง เพราะลินคอล์นไม่สนับสนุนระบบทาส จึงเกิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้น (1861-1865)
และเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกองทัพฝ่ายเหนือ-ใต้ ขณะที่ทาสฝ่ายใต้ที่ไม่สามารถหลบหนีข้ามเขตไปฝ่ายเหนือได้ก็ไม่ได้รับอิสรภาพต้องอยู่ในกำมือของกองทัพและนายทาสฝ่ายใต้ นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตจากสงครามไปหลายแสนราย โดยในท้ายที่สุดสงครามก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายเหนือซึ่งเป็นจุดจบของสมาพันธรัฐอเมริกา รวมไปถึงการถือครองทาสในสหรัฐฯ นับตั้งแต่นั้นมา
และนี่คือเรื่องราวหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงการไม่ยอมรับความจริงและเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ซึ่งตอนจบมักเป็นไปในลักษณะที่แพ้ภัยตัวเองจากสิ่งที่ก่อลงไปนั่นเองดังคำกล่าวของ อับราฮัม ลินคอล์น ที่ว่า “รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”