เจ้าหน้าที่ทางการค้าสหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีสูงสุดสำหรับโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการสรุปคดีการค้าที่ดำเนินมา 1 ปี ซึ่งผู้ผลิตในสหรัฐฯ กล่าวหาบริษัทจีนว่าทุ่มตลาดด้วยสินค้าราคาถูกอย่างไม่เป็นธรรม
คดีดังกล่าวยื่นฟ้องเมื่อปีที่แล้วโดยบริษัท Hanwha Qcells ของเกาหลีใต้ บริษัท First Solar Inc ในแอริโซนา และผู้ผลิตรายเล็กๆ อีกหลายราย เพื่อปกป้องการลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐฯ
กลุ่มผู้ร้องเรียนซึ่งก็คือ คณะกรรมการกลุ่มผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ กล่าวหาว่า ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ที่มีโรงานอยู่ในมาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม และไทย จำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ในราคาต่ำว่าต้นทุนและได้รับการสนับสนุนที่ทำให้สินค้าอเมริกันไม่สามารถแข่งขันได้
อัตราภาษีศุลกากรที่ประกาศเมื่อวันจันทร์ (21 เม.ย.) แตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริษัทและประเทศ แต่ในภาพรวมสูงกว่าอัตราภาษีเบื้องต้นที่ประกาศเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว
อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและตอบโต้การอุดหนุนรวมกันสำหรับบริษัท Jinko Solar จากมาเลเซียต่ำที่สุดคือ 41.56% สินค้าจากบริษัท Rival Trina Solar จากโรงงานที่ตั้งอยู่ในไทยถูกเรียกเก็บ 375.19% สินค้าจากกัมพูชาถูกเรียกเก็บภาษีสูงสุดที่ 3,521% เนื่องจากผู้ผลิตไม่ร่วมมือกับการตรวจสอบของสหรัฐฯ
“นี่คือผลลัพธ์ที่รุนแรงมาก” ทิม ไบรท์บิลล์ นักกฎหมายของกลุ่มผู้ผลิตสหรัฐฯ เผย “เรามั่นใจว่าพวกเขาจะจัดการกับการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของบริษัทที่เป็นเจ้าของโดยชาวจีนใน 4 ประเทศนี้ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐฯ มานานเกินไป”
การเก็บภาษีจากประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์โซลาร์เซลล์ให้สหรัฐฯ มูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้ว สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการค้าโซลาร์เซลล์ของโลก การนำเข้าจาก 4 ประเทศที่เป็นเป้าหมายของสหรัฐฯ ในปีนี้น้อยลงจากเมื่อ 1 ปีก่อน ขณะที่การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์จากลาวและอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ประกาศอัตราภาษีศุลกากรล่าสุดนี้จะถือเป็นที่สุดเมื่อคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศลงมติในเดือน มิ.ย. ว่าอุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าที่เป็นการทุ่มตลาดและได้รับการสนับสนุนหรือไม่
Photo by Brendan SMIALOWSKI / AFP