สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เตือนประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าใกล้ชิดกับจีน และยังปกป้องการตัดสินใจของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกผ่านมาตรการภาษีที่ส่งผลกระทบต่อตลาด
เบสเซนต์กล่าวในงานประชุมสุดยอดนักการธนาคารในวอชิงตันว่า ประเทศต่างๆ ที่ต้องการสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนหลังสหรัฐฯ เปลี่ยนท่าทีจะต้องทบทวนอีกครั้ง โดยบอกว่า “นั่นเท่ากับเชือดคอตัวเอง”
“พวกเขาเดินหน้าผลิตและผลิต ทุ่มตลาดและทุ่มตลาด แล้วมันก็ไปที่ไหนสักแห่ง”
สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ
คำกล่าวของเบสเซนต์เกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากหลายสิบประเทศของทรัมป์ รวมทั้งพันธมิตรของสหรัฐฯ หลายประเทศมีผลบังคับใช้ และไม่นานหลังจากปักกิ่งประกาศเก็บภาษีศุลกากรตอยโต้ในอัตราเดียวกัน
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทรัมป์ส่งผลให้ภาษีศุลกากรของจีนในปีนี้ขยับไปอยู่ที่ 104% เมื่อรวมกับภาษีที่ถูกเรียกเก็บก่อนหน้านี้
ไม่นานหลังจากภาษีศุลกากรรอบล่าสุดมีผลบังคับใช้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ถูกเทขายอย่างหนัก แม้ว่าโดยปกติแล้วจะถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่ปลอดภัยในช่วงเวลาที่เกิดความไม่แน่นอนขึ้นก็ตาม เนื่องจากบรรดานักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถดถอย และพยายามชดเชยการขาดทุนจากตลาดหุ้น
จนถึงตอนนี้ เบสเซนต์เผยว่าเขากำลังเตรียมพร้อมสำหรับการพูดคุยกับพันธมิตรประมาณ 70 ราย และว่า ทรัมป์อาจบรรลุข้อตกลงทางภาษีศุลกากรกับพันธมิตรของสหรัฐฯ
“จากนั้นเราสามารถเข้าถึงจีนแบบเป็นกลุ่มได้” เบสเซนต์กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังย้ำว่า อัตราภาษีที่กำหนดเป็นรายประเทศของทรัมป์คือเพดานสูงสุดหากรัฐบาลประเทศนั้นๆ ไม่ตอบโต้ และว่า ทรัมป์อาจชะลอการขึ้นภาษีหากไม่ถูกกดดันกลับ
เบสเซนต์เผยว่า จีนเลือกยกระดับสถานการณ์
แม้ว่าตลาดการเงินจะผันผวน แต่เบสเซนต์กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคง “แข็งแกร่งอย่างมาก” และ “อยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างดี”
ถึงคราวของคนทั่วไปแล้ว
เบสเซนต์ยังกล่าวว่า กระทรวงการคลังจะดำเนินการปฏิรูปที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลธนาคาร
“วอลล์สตรีทมั่งคั่งมากขึ้นกว่าที่เคย และยังสามารถเติบโตต่อไปและทำได้ดี” เบสเซนต์เผยในงานประชุมสุดยอดสมาคมนักการธนาคารอเมริกันในวอชิงตัน “แต่ในอีก 4 ปีข้างหน้า แผนงานของทรัมป์จะเน้นไปที่คนทั่วไป ถึงคราวของคนทั่วไปแล้ว” โดยหมายถึงธุรกิจขนาดเล็ก นักลงทุน และสถาบันต่างๆ
“นโยบายการเงินรับใช้สถาบันการเงินขนาดใหญ่มานานเกินไปแล้ว ซึ่งทำให้สถาบันการเงินขนาดเล็กต้องแบกรับภาระ ต่อไปนี้จะไม่มีอีกแล้ว” เบสเซนต์กล่าวเพิ่ม
รัฐบาลทรัมป์ได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ รวมถึงภาษีศุลกากร โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมในประเทศและผลักดันการยกเลิกกฎระเบียบ ซึ่งเบสเซนต์ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นนี้เช่นกัน เพื่อให้แน่ใจว่าการลดหย่อนภาษีของทรัมป์ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกจะไม่หมดอายุลง โดยกล่าวว่าการทำเช่นนี้จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้