ตำรวจญี่ปุ่นกำลังเดินหน้ากวาดล้างแก๊งชาวเวียดนามตระเวนขโมยของจากร้านค้าต่างๆ ก่อนจะส่งกลับไปขายที่ประเทศบ้านเกิด พบทำกันเป็นขบวนการ มีศูนย์กลางอยู่ที่ฮานอย เฉพาะปีที่แล้วคดีขโมยของในร้านค้าของญี่ปุ่นพุ่งสูงทุบสถิติเกิน 15,000 เคส
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว กรมตำรวจกรุงโตเกียวร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ บุกค้นสถานที่ของแก๊งขโมยของชาวเวียดนามหลายแห่งทั่วญี่ปุ่น รวมทั้งในภูมิภาคคันโตและเมืองโอซากา และสืบสวนสอบสวนและวิเคราะห์โทรศัพท์ที่ยึดมาได้จนทราบว่ามีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ในกรุงฮานอย เจ้าหน้าที่เชื่อว่า สิ่งของจำนวนมากที่ถูกขโมยไปจากร้านขายยาทั่วญี่ปุ่นถูกส่งไปที่ศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าว
การสอบสวนสามารถระบุตัวชาวเวียดนามที่เป็นคนสั่งการให้ขโมยของได้ 2 คนเป็นหญิง 1 คนและชาย 1 คน โดยทั้งสองคนเคยมีประวัติเดินทางไปญี่ปุ่น โดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่าทั้งสองคนออกคำสั่งจากเวียดนามผ่านแอปพลิเคชันการสื่อสารว่าต้องขโมยสินค้าใดบ้างและต้องส่งของที่ขโมยมาไปให้สมาชิกคนไหนในญี่ปุ่น
จนถึงตอนนี้ทางการญี่ปุ่นจับกุมชาวเวียดนามได้แล้ว 11 คน
ต่อมาในเดือนมกราคม ทีมงานของสำนักข่าว NHK ของญี่ปุ่นเดินทางไปยังพื้นที่ต้องสงสัยในกรุงฮานอยตามข้อมูลของกรมตำรวจ และพบอาคารคล้ายโกดังแห่งหนึ่ง
หลังสังเกตการณ์อาคารดังกล่าวหลายวัน ผู้สื่อข่าวของ NHK พบจักรยานคันหนึ่งเข้ามาพร้อมกับกล่องกระดาษ ก่อนจะมีผู้หญิงวัยรุ่นคนหนึ่งเดินออกมาพบแล้วรับกล่องเข้าไปด้านใน
เมื่อผู้สื่อข่าวของ NHK ถามผู้หญิงว่าเก็บอะไรไว้ในตัวอาคารก็ได้รับคำตอบว่า เครื่องสำอาง อาหารเสริม และเสื้อผ้าที่ซื้อจากญี่ปุ่นสำหรับลูกค้าในเวียดนาม ผู้หญิงคนดังกล่าวปฏิเสธว่าสินค้าเหล่านี้ไม่ได้ถูกขโมยมา และอธิบายว่าสินค้าเหล่านี้ซื้อจากร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินและร้านอื่นๆ โดยตอนแรกมีใบเสร็จมาด้วยแต่ถูกทิ้งไปแล้ว
ชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ใกล้กับโกดังต้องสงสัยเล่าให้ผู้สื่อข่าวของ NHK ฟังว่า เคยมีรถบรรทุกขับมาจอดส่งและรับของทั้งกลางวันและกลางคืน แต่จำนวนรถลดลงช่วงเดือนธันวาคม
NHK ระบุว่า รถที่ลดลงสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ทีมสอบสวนของญี่ปุ่นบุกตรวจค้นสถานที่ที่แก๊งชาวเวียดนามใช้

ทำไมต้องเป็นสินค้าญี่ปุ่น
ตลาดสินค้าความสวยความงามของเวียดนามบูมมาก และสินค้าจากญี่ปุ่นก็เป็นที่ต้องการมากเนื่องจากคุณภาพสูง เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นขับเคลื่อนความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้ตลาดเครื่องสำอางเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
เมื่อความต้องการมากขึ้นก็เริ่มมีเครื่องสำอางและอาหารเสริมญี่ปุ่นปลอมออกมาวางขาย ในขณะที่ทางการเวียดนามพยายามปราบปรามสินค้าปลอม แต่ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นในสินค้าเหล่านี้ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าที่มาจากญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น
แหล่งข่าวที่อยู่ในทีมสืบสวนของญี่ปุ่นเผยกับ NHK ว่า ความต้องการนี้ทำให้แก๊งขโมยของชาวเวียดนามในญี่ปุ่นระบาดหนักขึ้น
ชินอิจิ อิชิซุกะ ผู้ก่อตั้งสถาบันคลังสมอง Criminal Justice Future ในกรุงเกียว เผยกับ This Week in Asia ว่า การป้องกันที่หละหลวม อาทิ ไม่มีกล้องวงจรปิด ของร้านค้าปลีกทำให้ญี่ปุ่นตกเป็นเป้า
“มีสองเหตุผลสำหรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ แต่ตำรวจทำถูกแล้วที่เข้มงวดขึ้น เพราะนี่คือปัญหาที่กำลังขยายวงกว้าง ผู้คนจำนวนมากขึ้นเดินทางเข้าญี่ปุ่นในฐานะนักท่องเที่ยว และพวกเขาเห็นว่าร้านค้าที่นี่ไม่ได้ป้องกันการขโมยสินค้าเข้มงวดเหมือนในประเทศอื่นๆ”
ชินอิจิ อิชิซุกะ ผู้ก่อตั้งสถาบันคลังสมอง Criminal Justice Future ในกรุงเกียว
สูญเสียมหาศาล
ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นระบุว่า ปีที่แล้วมีการขโมยเครื่องสำอางและยาในร้านขายยา 15,161 ครั้ง มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เมื่อวิเคราะห์เคสขโมยของในร้านค้าตั้งแต่ปี 2021-2024 พบว่า ชาวต่างชาติขโมยสินค้ามูลค่าเฉลี่ย 78,936 เยน (17,710 บาท) ส่วนสินค้าที่คนญี่ปุ่นขโมยมีมูลค่าเฉลี่ย 10,774 เยน (2,417 บาท)
สำนักงานตำรวจขอให้ร้านขายยาและกลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีกติดโปสเตอร์ต่อต้านการขโมยสินค้าเป็นภาษาต่างประเทศในร้าน หากเป็นสินค้าราคาสูงให้โชว์เฉพาะกล่องเปล่าไว้บนเชลฟ์แทนสินค้าจริง
อาชญากรรมข้ามพรมแดนสอบสวนยาก
บางเคส โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงและการขโมย มีการสั่งการให้ลงมือจากต่างประเทศ แต่ตำรวจญี่ปุ่นไม่มีอำนาจในการสอบสวนหรือจับกุมนอกประเทศ บางครั้งรัฐบาลญี่ปุ่นจะขอให้ประเทศอื่นควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยอาศัยอินเตอร์โพลหรือผ่านช่องทางการทูต หรืออาจขอให้ลงโทษตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ หลังส่งมอบหลักฐานการกระทำความผิดให้
สำหรับการสอบสวนครั้งนี้ยังไม่แน่ชัดว่าทางการเวียดนามจะให้ความร่วมมือระดับใด
อิชิซุกะเผยอีกว่า นอกจากโจรเหล่านี้จะเข้ามาในรูปแบบของนักท่องเที่ยวแล้ว โจรอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยฐานะของแรงงานต่างชาติที่ย้ายไปทำงานในญี่ปุ่นในโครงการฝึกงานด้านเทคนิคของรัฐบาลซึ่งมักจะต้องทำงานในสภาพงานที่ไม่ค่อยดีและรายได้ต่ำ บางคนจึงเข้ามาข้องแวะกับอาชญากรรมที่ทำรายได้อย่างงาม
ชาวต่างชาติยังก่ออาชญากรรมอื่นๆ ในญี่ปุ่นนอกเหนือจากการขโมยของในร้านค้า เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ชาวกัมพูชา 4 คนถูกจับในข้อหาตระเวนขโมยสายทองแดงจากแผงโซลาร์เซลล์ใน 15 จังหวัดทางตอนใต้ของญี่ปุ่น
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรของญี่ปุ่นออกคำเตือนเกษตรกรให้หาทางป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ทำเกษตร ผลผลิต และสัตว์ถูกขโมย
อิชิซุกะเล่าอีกว่า โจรเหล่านี้สร้างเครือข่ายกับแก๊งอาชญากรในญี่ปุ่นเพื่อขายสิ่งของที่ขโมยมา เพราะส่งกลับประเทศบ้านเกิดตัวเองยาก

รัฐบาลรับนักท่องเที่ยวเยอะ แต่ร้านค้าต้องรับกรรม
“ตอนนี้เงินเยนอ่อนค่า จึงเป็นเรื่องง่ายที่คนกลุ่มนี้จะเดินทางเข้าญี่ปุ่นแล้วทำทีเป็นนักท่องเที่ยวหรือทำงานในกลุ่มแก๊งเพื่อขโมยของจากร้านค้า นอกจากนี้ ตำรวจญี่ปุ่นยังงานยุ่งมากขึ้นกับปัญหาอาชญากรรมอื่น เช่น การฉ้อโกง อาชญากรรมออนไลน์ อาชญากรรมความรุนแรง ทำให้ยากที่ตำรวจจะจัดการทุกอย่างให้อยู่หมัด” อิชิซุกะเผย
ส่วนมิซะกิ ยูตะ เจ้าของกิจการที่มักจะโพสต์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจบนโซเชียลมีเดียทวีตแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับการขโมยของในร้านค้าบน X ว่า “หลังจากเชิญหัวขโมยพวกนี้เข้าญี่ปุ่นแล้ว กลับกลายเป็นห้างร้านต่างๆ ที่ต้องมาตามเช็ดก้น พวกเขาถูกบังคับให้แบกรับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อป้องกันอาชญากรรม หรือแม้แต่ถูกกดดันให้ขึ้นค่าแรง สุดท้ายคนญี่ปุ่นที่ทำงานอย่างหนักต้องกล้ำกลืนน้ำตาหรือเปล่า”
Photo by Shutterstock/ArieStudio