แร่แรร์เอิร์ธที่เพิ่งเจอในสวีเดนคืออะไร ทำไมมันถึงสำคัญขนาดนี้

13 ม.ค. 2566 - 09:45

  • ล่าสุดมีการค้นพบแหล่งแร่แรร์เอิร์ธแหล่งใหญ่ที่สุดของยุโรปในสวีเดน

  • แรร์เอิร์ธเป็นส่วนประกอบสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสมาร์ทโฟน แผงวงจร แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเครื่องบินรบรุ่น F-35 ของกองทัพสหรัฐฯ

  • จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกเคยใช้แร่นี้เป็นอาวุธในสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มาแล้ว

what-are-rare-earth-elements-and-why-are-they-so-important-SPACEBAR-Thumbnail
การค้นพบแหล่งแร่ร์เอิร์ธแหล่งใหญ่ที่สุดของยุโรปในสวีเดนสร้างความฮือฮาอีกครั้ง เนื่องจากแร่แรร์เอิร์ธเป็นที่ต้องการอย่างมากของโลก ถึงขั้นที่จีนเคยใช้แรร์เอิร์ธเป็นไม้ตายเด็ดต่อกรกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่นมาแล้ว 

แร่แรร์เอิร์ธประกอบด้วยธาตุหายาก 17 ชนิด ได้แก่ สแกนเดียม (Sc), อิตเทรียม (Y), แลนทานัม (La), ซีเรียม (Ce), เพรซีโอดิเมียม (Pr), นีโอดิเมียม (Nd), โพรมีเทียม (Pm), ซาแมเรียม (Sm), ยูโรเพียม (Eu), แกโดลิเนียม (Gd), เทอร์เบียม (Tb), ดิสโพรเซียม (Dy), โฮลเมียม (Ho), เออร์เบียม (Er), ทูเลียม (Tm), อิตเตอร์เบียม (Yb) และลูทีเซียม (Lu) 

แรร์เอิร์ธเป็นสินแร่โลหะธาตุุที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสมาร์ทโฟน แผงวงจร แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเครื่องบินรบรุ่น F-35 ของกองทัพสหรัฐฯ ที่ต้องพึ่งพาแร่แรร์เอิร์ธในการผลิตชิ้นส่วนสำคัญอย่างระบบจ่ายไฟฟ้าและแม่เหล็ก รายงานของสำนักงานวิจัยแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ ระบุว่า การผลิตเครื่องบิน F-35 ของบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน  1 ลำ ต้องใช้แร่แรร์เอิร์ธถึง 417 กิโลกรัม 

ยิ่งอุปกรณ์ไฮเทคถูกนำมาใช่มากขึ้น ความต้องการแร่แรร์เอิร์ธก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยปี 2021 ความต้องการแรร์เอิร์ธทั่วโลกอยู่ที่ 125,000 เมตริกตัน และคาดว่าในปี 2030 จะพุ่งขึ้นไปถึง 315,000 เมตริกตัน 

อันที่จริงแร่เหล่านี้ไม่ได้หากยากตามชื่อ แต่สามารถพบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ เมื่อเทียบกับแร่อื่นๆ อย่างทองคำหรือไพไรต์ แต่ที่ยากนั่นคือการสกัดแร่เหล่านี้ เนื่องจากแร่แรร์เอิร์ธไม่ได้รวมอยู่ในแหล่งเดียวกัน แต่กระจัดกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ จึงยากที่จะสร้างเหมืองเพื่อขุดเจาะหาแร่ชนิดนี้ ทั้งยังทำให้เป็นแร่บริสุทธิ์ยาก 

จนถึงปี 1980 สหรัฐฯ เป็นผู้นำในการผลิตแร่แรร์เอิร์ธ แต่ตอนนี้ตำแหน่งนี้เป็นของจีนไปแล้ว 

ในปี 1993 จีนผลิตแร่แรร์เอิร์ธได้ 38% ของปริมาณที่ผลิตได้ทั้งโลก ส่วนสหรัฐฯ ผลิตได้ 33% ออสเตรเลียผลิตได้ 12% มาเลเซียและอินโดนีเซียผลิตได้ประเทศละ 5% ที่เหลือผลิตในบราซิล แคนาดา ศรีลังกา แอฟริกาใต้ รวมทั้งประเทศไทย 

อย่างไรก็ดี ในปี 2008 จีนกลายเป็นผู้ผลิตแรร์เอิร์ธที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยปริมาณกว่า 90% และในปี 2011 ตัวเลขนี้ขยับไปถึง 97% ของปริมาณที่ผลิตได้ทั้งโลก 

ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงกลายเป็นลูกค้าแรร์เอิร์ธรายใหญ่ของจีน ข้อมูลของสำนักงานธรณีวิทยาของสหรัฐฯ (USGS) ระบุว่า 78% ของแร่แรร์เอิร์ธที่สหรัฐฯ นำเข้านั้นมาจากจีน 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนเสนอร่างกฎหมายควบคุมการผลิตและส่งออกแร่แรร์เอิร์ธในจีน ขณะที่บรรดาผู้บริหารอุตสาหกรรมแรร์เอิร์ธเผยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลถามพวกเขาว่า บริษัทในสหรัฐและยุโรป รวมทั้งบริษัทผลิตอาวุธให้กองทัพ จะได้รับผลกระทบร้ายแรงเพียงใดหากจีนจำกัดการส่งออกแรร์เอิร์ธในช่วงที่ทั้งสองประเทศทำสงครามการค้ากันอยู่ ในขณะที่สหรัฐฯ และชาติอื่นๆ พยายามลดการพึ่งพาแร่แรร์เอิร์ธจากจีน 

สถานะเจ้าตลาดทำให้จีนใช้แร่แรร์เอิร์ธเป็นอาวุธที่ทรงพลังในสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ทั้งยังทำให้ประเทศอื่นๆ อาทิ แคนาดา ออสเตรเลีย แทบจะไม่สามารถสร้างซัพพลายเชนของตัวเองได้เลย และยังแข่งขันยากขึ้นด้วย  

ครั้งหนึ่งสื่อของทางการจีนเคยเสนอแนะให้รัฐบาลปักกิ่งใช้แร่แรร์เอิร์ธเป็นเครื่องมือในการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ โดยระบุว่า “(จีน) มีครื่องมือมากมายอยู่ในมือ เช่น ลดการออกใบรับรองการทำเหมืองแรร์เอิร์ธ เพิ่มมาตรฐานการเข้าสู่ตลาดของผู้ทำเหมือง ลดการส่งออกผลิตภัณฑ์แรร์เอิร์ธ และจำกัดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศ” 

บทความชิ้นนี้ยังระบุอีกว่า “การผูกขาดการผลิตแรร์เอิร์ธจะช่วยให้จีนควบคุมเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของภาคเทคโนโลยีระดับสูงของสหรัฐฯ” 

สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศแรกที่จีนใช้แร่แรร์เอิร์ธเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง เมื่อปี 2010 หลังจากความตึงเครียดระหว่างจีนกับญี่ปุ่นทวีความรุนแรงขึ้น จีนซึ่งขณะนั้นผลิตแร่แรร์เอิร์ธได้ 93% ของปริมาณที่ผลิตได้ทั้งโลกสั่งจำกัดการส่งออกไปยังญี่ปุ่น 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์