ดูไบกำลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักเป็นประวัติการณ์หลังพายุโจมตีโอมานครั้งแรกในวันอาทิตย์ (14 เม.ย.) จากนั้นจึงพัดถล่มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อวันอังคาร (16 เม.ย.) ทำให้ดูไบเผชิญกับฝนตกหนักที่สุดในรอบ 75 ปีเป็นเหตุให้ไฟฟ้าดับ น้ำท่วมทางหลวงและบ้านเรือน ผู้คนติดอยู่ในบ้าน การจราจรติดขัด อีกทั้งเที่ยวบินก็ต้องหยุดชะงักไปด้วยเนื่องจากรันเวย์กลายเป็นแม่น้ำ
ฝนตกหนักขนาดไหน?
ดูไบตั้งอยู่บนชายฝั่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่มีสภาพอากาศแห้งมาก ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 100 มม. (3.9 นิ้ว) ต่อปี แต่ก็มีฝนตกหนักมากเป็นครั้งคราว ทว่าเมื่อฝนตกหนักในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมากลับพบว่าเมืองอัลไอน์ซึ่งห่างจากดูไบเพียง 100 กม. (62 ไมล์) มีปริมาณน้ำฝนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 256 มม. (10 นิ้ว) ถือเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่เริ่มบันทึกในปี 1949
อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำฝนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมากในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และที่อื่นๆ บนคาบสมุทรอาหรับ ซึ่งโดยทั่วไปขึ้นชื่อในเรื่องสภาพอากาศแบบทะเลทรายแห้งแล้ง โดยอุณหภูมิอากาศในฤดูร้อนอาจสูงถึง 50 องศาฯ
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้ฝนตกหนักก็คือ ‘จุดตัดต่ำ’ (cut-off low) บริเวณความกดอากาศต่ำในบรรยากาศที่แยกหรือตัดออกจากการไหลเวียนของบรรยากาศหลัก ซึ่งดึงอากาศอุ่นชื้นเข้ามา และขัดขวางระบบสภาพอากาศอื่นๆ ไม่ให้ผ่านเข้ามา
“ส่วนนี้ของโลกมีลักษณะพิเศษคือไม่มีฝนตกเป็นเวลานาน และต่อมาก็มีฝนตกหนักไม่สม่ำเสมอ แต่ถึงกระนั้น นี่เป็นเหตุการณ์ฝนตกที่หายากมาก”
ศาสตราจารย์มาร์เทน อัมบัม นักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยเรดดิงผู้ศึกษารูปแบบฝนในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียอธิบาย
แล้วการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทต่อเหตุฝนตกหนักในดูไบอย่างไร?

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าฝนตกหนักครั้งนี้น่าจะเกิดจากระบบสภาพอากาศปกติที่เลวร้ายลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ ‘ปรากฏการณ์ผิดปกติ’ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่คาดคิดในเดือนเมษายน เนื่องจากเมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลง และความกดอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว…การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดพายุด้วย” เอสรา อัลนักบี นักพยากรณ์อาวุโสประจำศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กล่าว
ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศก็กล่าวอีกว่า “อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ กำลังนำไปสู่เหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้นทั่วโลก รวมถึงความเข้มของปริมาณน้ำฝน”
แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทมากน้อยเพียงใด ซึ่งจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มรูปแบบเกี่ยวกับปัจจัยทางธรรมชาติและปัจจัยของมนุษย์ และอาจใช้เวลาหลายเดือน
ทว่าปริมาณน้ำฝนที่บันทึกได้นั้นสอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
พูดง่ายๆ ก็คือ อากาศที่อุ่นกว่าสามารถกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น ประมาณ 7% ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ องศาฯ ส่งผลให้ความเข้มของฝน (intensity of rain) มากขึ้น
“ความเข้มของฝนทำลายสถิติ แต่ก็สอดคล้องกับสภาพอากาศที่อบอุ่น โดยมีความชื้นที่มากขึ้นเป็นเหมือนตัวเติมเชื้อเพลิงให้กับพายุ ทำให้เกิดฝนตกและน้ำท่วมหนักมากขึ้นเรื่อยๆ” ริชาร์ด อัลลัน ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยเรดดิงอธิบาย
ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ชี้ให้เห็นว่าปริมาณน้ำฝนต่อปีอาจเพิ่มขึ้นได้ถึงประมาณ 30% ทั่วทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ในขณะที่โลกยังคงอบอุ่นอยู่
“หากมนุษย์ยังคงเผาน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน สภาพอากาศจะยังคงอุ่นขึ้น ปริมาณน้ำฝนก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ และผู้คนจะยังคงเสียชีวิตจากน้ำท่วม” ดร.ฟรีเดอริก อ็อตโต อาจารย์อาวุโสด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอนกล่าว
แต่คาดว่าฝนตกหนักอาจเกี่ยวกับ ‘การเพาะเมฆ’ ด้วยเหมือนกัน?
หลังจากเกิดเหตุฝนตกหนักเมื่อวันอังคารก็มีคำถามเกิดขึ้นว่านอกจากสภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงแล้ว ‘การเพาะเมฆ’ (Cloud seeding) ซึ่งเป็นกระบวนการที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ดำเนินการเป็นประจำก็อาจทำให้เกิดฝนตกหนักหรือไม่?
‘การเพาะเมฆ’ เป็นกระบวนการที่ฝังสารเคมีลงในเมฆเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝน
ช่วยให้ฝนตกมากขึ้นในสภาพแวดล้อมที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้เครื่องบินเพื่อปล่อยอนุภาคขนาดเล็ก (เช่น ซิลเวอร์ไอโอไดด์) ลงในเมฆ เพื่อให้ไอน้ำในอากาศจับตัวควบแน่นได้ง่ายขึ้นและกลายเป็นฝน
เทคนิคนี้มีมานานหลายทศวรรษแล้ว สำหรับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคที่ร้อนที่สุดและแห้งแล้งที่สุดในโลกได้ใช้เทคนิคนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และกลายเป็นผู้นำในการเพาะเมฆและเพิ่มปริมาณฝน

แต่หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์บอกกับสำนักข่าว Reuters ว่า “ไม่มีการปฏิบัติการดังกล่าวก่อนเกิดพายุ”
ในช่วงหลายชั่วโมงหลังเกิดน้ำท่วม ผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางรายก็เข้าใจว่าสภาพอากาศสุดขั้วนั้นเป็นเพียง ‘การดำเนินการเพาะเมฆ’ ในประเทศเท่านั้น
รายงานจากสำนักข่าว Bloomberg ก่อนหน้านี้ระบุว่า “เครื่องบินเพาะเมฆถูกนำไปใช้ในวันอาทิตย์ (14 เม.ย.) และวันจันทร์ (15 เม.ย.) แต่ไม่ใช่ในวันอังคาร (16 เม.ย.) ที่เกิดเหตุฝนตกหนักน้ำท่วมรุนแรง
แม้ว่าสำนักข่าว BBC ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างอิสระว่าเกิดจากการเพาะเมฆหรือไม่ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “อย่างน้อยที่สุด มันจะส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อพายุ และการมุ่งเน้นไปที่การเพาะเมฆนั้นทำให้เกิด ‘การเข้าใจผิด’ ”
“แม้ว่าการเพาะเมฆจะช่วยกระตุ้นให้เมฆรอบๆ ดูไบปล่อยหยดน้ำลงมา แต่บรรยากาศก็มีแนวโน้มที่จะอุ้มน้ำมากขึ้นเพื่อก่อตัวเป็นเมฆตั้งแต่แรก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ดร.อ็อตโตกล่าว
โดยทั่วไปการเพาะเมฆจะถูกนำมาใช้เมื่อสภาพลม ความชื้น และฝุ่นไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดฝนตก แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักพยากรณ์ได้เตือนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมสูงทั่วอ่าวเปอร์เซีย
ขณะเดียวกัน แมตต์ เทย์เลอร์ นักอุตุนิยมวิทยาของ BBC Weather ก็ตั้งข้อสังเกตว่า “เหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายดังกล่าวถูกพยากรณ์ไว้แล้ว ก่อนเกิดเหตุการณ์ แบบจำลองคอมพิวเตอร์ (ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเพาะเมฆ) ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าฝนจะตกหนักเหมือนตกทั้งปีภายในเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง”
“ผลกระทบนั้นกว้างกว่าที่ผมคาดไว้มากจากการเพาะเมฆเพียงอย่างเดียวเช่นกัน น้ำท่วมรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ขนาดใหญ่ตั้งแต่บาห์เรนไปจนถึงโอมาน” เทย์เลอร์กล่าว
Photo by Ahmed RAMAZAN / AFP