‘ทางข้ามราฟาห์’ เส้นทางลำเลียงความช่วยเหลือเข้ากาซาเพียงทางเดียวทำไมถึงเปิดยากเย็น

21 ต.ค. 2566 - 00:00

  • ‘ทางข้ามราฟาห์’ คืออะไร? ทำไมถึงมีความสำคัญขนาดที่ได้ชื่อว่าเป็นเหมือน ‘เส้นชีวิตพลเมืองกาซา’?

what_is_rafah_crossing_gaza_lifeline_SPACEBAR_Hero_79488032fd.jpg

หลังจากสู้รบกันมานานถึง 2 สัปดาห์ซึ่งดูทีท่าว่าสถานการณ์ของสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาสจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนว่าเป็นพลเมืองบริสุทธิ์ของทั้ง 2 ประเทศเองที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งนี้อย่างไม่จบไม่สิ้น โดยเฉพาะพรมแดนแคบๆ ในฉนวนกาซาที่วินาทีนี้กลายเป็นหนึ่งในสนามรบจนแทบจะไม่มีใครอยากอยู่ที่นั่นแล้ว เพราะไม่ว่าจะอพยพไปทางไหน ทั้งขึ้นเหนือ หรือลงใต้ก็ไม่มีที่แห่งใดปลอดภัยสำหรับพวกเขาอีกต่อไป 

แต่ทว่ายังมีชายแดนแห่งหนึ่งที่เป็นเหมือนความหวังสุดท้ายของพวกเขาในการหนีสงครามซึ่งถือว่าเป็น ‘เส้นชีวิต’ (gaza lifeline) ของพลเมืองกาซาเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือ ‘ทางข้ามราฟาห์’ หรือ ‘จุดผ่านแดนราฟาห์’ (Rafah crossing)  

แล้วทางข้ามที่ว่านี้คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญสำหรับพลเมืองกาซามากขนาดนั้น? 

‘ทางข้ามราฟาห์’ เส้นชีวิตพลเมืองกาซาคืออะไร?

what_is_rafah_crossing_gaza_lifeline_SPACEBAR_Photo02_31114d6de1.jpg
Wikipedia / Gringer

‘ทางข้ามราฟาห์’ เป็นทางออกจากฉนวนกาซาทางใต้สุดและติดกับคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ ทอดตัวไปตามรั้วยาว 12.8 กิโลเมตรซึ่งกั้นฉนวนกาซาออกจากทะเลทรายไซนาย โดยมีเพียง 2 จุดผ่านแดนสำหรับเข้าและออกจากฉนวนกาซา ได้แก่ ‘เอเรซ’ (Erez) จุดผ่านแดนพลเมืองกับอิสราเอลทางตอนเหนือของฉนวนกาซา และ ‘เคเรม ชาลอม’ (Kerem Shalom) จุดผ่านแดนสินค้าเชิงพาณิชย์กับอิสราเอลทางตอนใต้ของฉนวนกาซา 

แต่ทั้ง 2 จุดนี้ปิดไปตั้งแต่เริ่มสงคราม และเพิ่งได้รับอนุญาตจากประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตอห์ เอล-ซีซี ของอียิปต์ให้รถบรรทุกผ่านเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทางจุดผ่านราฟาห์เข้าสู่ฉนวนกาซาเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีรายงานว่าไม่มีทีท่าจะเปิด 

ขณะเดียวกันชาวปาเลสไตน์ต่างก็มารวมตัวกันที่ชายแดนราฟาห์ด้วยความหวังว่าจะออกเดินทางจากพื้นที่สงครามเหล่านี้ ขณะที่สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า จุดผ่านแดนดังกล่าวจะเปิดให้คนทั้ง 2 สัญชาติเดินทางออกได้ และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไป 

ทำไมถึงสำคัญมากขนาดนี้?

นับตั้งแต่ฮามาสขึ้นมามีอำนาจในฉนวนกาซาราวๆ ปี 2007 เป็นต้นมา อียิปต์และอิสราเอลจึงกำหนดการควบคุมการสัญจรของผู้คนและสินค้าอย่างเข้มงวดบริเวณพรมแดนของตัวเองกับดินแดนฉนวนกาซา โดยให้เหตุผลด้านความปลอดภัย ขณะที่อิสราเอลเองก็จำกัดการเดินทางทางทะเลหรือทางอากาศ ทั้งยังปิดล้อมอาณาเขตด้วยรั้วชายแดนที่มีการป้องกันอย่างแน่นหนาด้วย 

หลังจากกลุ่มฮามาสเปิดฉากยิงและโจมตีจุดผ่านแดนเอเรซเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม หลายวันต่อมา อิสราเอลจึงประกาศว่า ‘จุดผ่านเอเรซและเคเรม ชาลอมจะปิดจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม’ ซึ่งนั่นทำให้ชายแดนราฟาห์เป็นหนทางเดียวสำหรับเข้าและออกของพลเมืองจากฉนวนกาซา รวมทั้งยังเป็นจุดผ่านแดนเดียวสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย 

สื่ออียิปต์ระบุว่า ทางข้ามถูกปิดหลังจากการโจมตีของอิสราเอล 3 ครั้งในวันที่ 9 และ 10 ตุลาคม กระทั่งวันที่ 12 ตุลาคม รัฐบาลอียิปต์ขอให้อิสราเอลหยุดการโจมตีใกล้จุดผ่านแดนราฟาห์เพราะมันเป็นเหมือน ‘เส้นชีวิต’ ของพลเมืองในฉนวนกาซา และชี้ชัดว่าจะไม่เปิดเส้นทางดังกล่าวจนกว่าจะมีการรับประกันความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ 

เมื่อวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ฝูงชนต่างก็มารวมตัวกันที่จุดผ่านแดนราฟาห์หลังจากมีรายงานว่าทางข้ามจะเปิดอีกครั้งชั่วคราวระหว่างการหยุดยิงช่วงสั้นๆ แต่ทว่าทั้งอิสราเอลและฮามาสก็ออกมาปฏิเสธ 

ตามตัวเลขขององค์การสหประชาชาติเมื่อเดือนกรกฎาคมระบุว่า มีผู้คนข้ามพรมแดนโดยเฉลี่ย 27,000 คนในแต่ละเดือน โดยชายแดนเปิด 138 วัน และปิด 74 วันในปีนี้ ซึ่งการปิดมักจะขึ้นอยู่กับความมั่นคงและสถานการณ์ทางการเมืองในพื้นที่ แม้ว่าอิสราเอลจะไม่สามารถควบคุมทางข้ามได้โดยตรง แต่การปิดของอียิปต์มักจะเกิดขึ้นพร้อมกับการที่อิสราเอลเข้มงวดในการจำกัดการเข้าออกฉนวนกาซา 

ปกติแล้วจะผ่านทางข้ามราฟาห์ได้อย่างไร?

what_is_rafah_crossing_gaza_lifeline_SPACEBAR_Photo03_ad6de81215.jpg
Mohammed ABED / AFP

การเข้าออกทางข้ามราฟาห์ในวันปกตินั้นมีจำกัดอย่างยิ่ง เฉพาะพลเมืองกาซาที่มีใบอนุญาตและชาวต่างชาติเท่านั้นที่สามารถใช้จุดผ่านแดนเดินทางระหว่างฉนวนกาซาและอียิปต์ได้ 

ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชาวปาเลสไตน์ที่จะออกจากฉนวนกาซาผ่านทางข้ามดังกล่าว หากพวกเขาต้องการใช้เส้นทางผ่านทางข้ามราฟาห์จะต้องลงทะเบียนกับทางการปาเลสไตน์ในท้องถิ่นล่วงหน้าราว 2-4 สัปดาห์ หรือนานถึง 3 เดือน และอาจถูกปฏิเสธโดยทางการปาเลสไตน์ หรืออียิปต์โดยไม่มีคำเตือนหรือคำอธิบาย 

ตามข้อมูลของสหประชาชาติเมื่อเดือนสิงหาคมระบุว่า ทางการอียิปต์อนุญาตให้มีผู้ออกจากฉนวนกาซาได้ 19,608 คน และไม่อนุญาตให้คนเข้าเมือง 314 คน 

นักเดินทางต้องมีใบอนุญาตขอออกจากกลุ่มฮามาสและใบอนุญาตขอเข้าจากอียิปต์ ไม่กี่วันต่อมาก็จะได้รับข้อความแจ้งว่าจะออกเดินทางได้วันไหนซึ่งอาจนานถึง 3 เดือน 

ในวันออกเดินทาง รถบัสจะพานักเดินทางจากชายแดนฝั่งปาเลสไตน์ไปยังอียิปต์ ซึ่งต้องรอหลายชั่วโมงเพื่อให้ทางการอียิปต์รับและดำเนินการยื่นขอวีซ่า ทั้งนี้มีนักเดินทางจำนวนมากถูกปฏิเสธ ขณะที่ชาวปาเลสไตน์มักถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม 

ทำไมอียิปต์ถึง (ลังเล) ที่จะเปิดทางข้ามให้พลเมืองกาซา?

อียิปต์ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่รองรับผู้อพยพหลายล้านคนอยู่แล้ว แต่ทว่าทางการก็ไม่ได้สบายใจมากนักที่จะเปิดรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์หลายแสนคนข้ามจุดผ่านแดนราฟาห์เข้ามาในดินแดนของตน  

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีฟัตตอห์ เอล-ซีซี ของอียิปต์เผยว่า ประเทศของเขากำลังพยายามช่วยเหลือภายในขอบเขตจำกัด “แน่นอนว่าเราเห็นใจ แต่ระวังในขณะที่เราเห็นอกเห็นใจ เราก็ต้องใช้ความคิดเพื่อบรรลุความสงบสุขและปลอดภัยในลักษณะที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากนัก” 

รายงานจากสหประชาชาติชี้ให้เห็นว่า ‘การที่อียิปต์ไม่เต็มใจที่จะเปิดทางข้ามราฟาห์ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาเพียงเพราะต้องการจะหลีกเลี่ยงการอพยพของชาวปาเลสไตน์หลายแสนคน ซึ่งอาจส่งผลให้พวกเขาตั้งถิ่นฐานใหม่อย่างถาวรในอียิปต์’ 

อย่างไรก็ดี ในบรรดาประเทศอาหรับที่มีพรมแดนติดกับอิสราเอลและดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง อียิปต์เป็นประเทศเดียวที่ไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งค่ายผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์บนดินแดนของตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากซีเรียที่รองรับผู้ลี้ภัยมากกว่า 500,000 คน ขณะที่จอร์แดนรองรับ 2 ล้านคน และเลบานอนให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยมากกว่า 200,000 คน 

ทั้งๆ ที่อียิปต์ต่อต้านการเนรเทศชาวปาเลสไตน์ออกจากฉนวนกาซา และสนับสนุนพวกเขาในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐอธิปไตยมาโดยตลอด แต่ในทางพฤตินัยแล้ว อียิปต์กลับไม่ต้องการให้พวกเขาลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศตนเสียได้ 

ขณะที่ฟัตตอห์ เอล-ซีซีกล่าวว่า “อียิปต์ไม่ได้ปิดทางข้ามราฟาห์ แต่การทิ้งระเบิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าของอิสราเอลบริเวณทางข้ามฝั่งปาเลสไตน์ทำให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้” พร้อมเผยอีกว่า ‘จะไม่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยจากฉนวนกาซาหลั่งไหลเข้ามา เพราะมันอาจเหมือนกับการพลัดถิ่นของชาวปาเลสไตน์จากเวสต์แบงก์เข้าจอร์แดนที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน’ 

...หลังจากลังเลอยู่นาน แต่สุดท้ายอียิปต์ก็ยอมเปิดทางข้ามราฟาห์เพื่อ ‘มนุษยธรรม’ 

ประธานาธิบดีฟัตตอห์ เอล-ซีซีตกลงที่จะปล่อยรถบรรทุกไม่เกิน 20 คันผ่านในขั้นต้น ขณะที่ไบเดนกล่าวว่าถนนใกล้ทางข้ามราฟาห์ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการซ่อมแซมเนื่องจากการสู้รบ โดยความช่วยเหลือดังกล่าวได้เริ่มแผ่ขยายเข้าสู่ภูมิภาคนี้ในวันศุกร์ (20 ต.ค.) ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ยังมีรถบรรทุกช่วยเหลืออีกหลายร้อยคันที่รออยู่บริเวณประตูทางข้ามแดนซึ่งถูกอิสราเอลทิ้งระเบิด 

ทว่าในเวลาต่อมากำหนดการที่จะเปิดให้เข้าออกเมื่อวันศุกร์ก็ถูกเลื่อนออกไปอีก 

ในท้ายที่สุดนี้ท่ามกลางสงครามที่ไม่รู้จะไปจบที่ตรงไหน “การสู้รบของคนไม่รู้จักกัน และไม่เกลียดกัน แต่ต้องมาฆ่ากัน...จากการตัดสินใจของคนบ้าอำนาจและอุดมการณ์ที่รูู้จักกัน แต่ไม่ฆ่ากัน สุดท้ายคนที่สูญเสียก็คือ ‘ประชาชน’ ที่พวกเขามองข้าม”

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์