สองสัปดาห์หลังจากเกิดเหตุกลุ่มก่อการร้ายโจมตีนักท่องเที่ยวในแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอินเดีย จนมีผู้เสียชีวิต อินเดียก็เปิดฉากโจมตีสถานที่ต่างๆ ในปากีสถานและดินแดนแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของปากีสถานหลายครั้ง
กระทรวงกลาโหมอินเดียกล่าวว่า การโจมตีดังกล่าวซึ่งเรียกว่า ‘ปฏิบัติการซินดูร์’ (Operation Sindoor) เป็นส่วนหนึ่งของ ‘พันธกรณี’ ที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 22 เมษายน ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นชาวอินเดีย 25 ราย และชาวเนปาล 1 ราย แต่ปากีสถานปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีเมื่อเดือนที่แล้ว
เกิดอะไรขึ้นกันแน่ อินเดียและปากีสถานมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
-อินเดียโจมตีตรงไหน?-
เมื่อเช้าตรู่ของวันพุธ (7 พ.ค.) อินเดียระบุว่า มีการโจมตีสถานที่ต่างๆ 9 แห่งในทั้งแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของปากีสถานและปากีสถาน สถานที่เหล่านี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของผู้ก่อการร้าย ซึ่งเป็นสถานที่ที่ ‘วางแผนและกำหนดทิศทางการโจมตี’
กองทัพอินเดียย้ำว่า ไม่ได้โจมตีฐานทัพทหารปากีสถานแห่งใด “การกระทำของกองทัพอินเดียนั้นเป็นการโจมตีแบบมุ่งเป้า มีการวางแผนอย่างรอบคอบ และไม่มีลักษณะลุกลาม”
ด้านปากีสถานระบุว่า ปากีสถานถูกโจมตีพื้นที่ 3 แห่ง ได้แก่ มูซัฟฟาราบาด, โคตลีในแคว้นแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้ปกครองของปากีสถาน, และบาฮาวัลปูร์ในแคว้นปัญจาบของปากีสถาน
รัฐมนตรีกลาโหมปากีสถาน คาวาจา อาซิฟ เปิดเผยกับสำนักข่าว GeoTV ว่า “การโจมตีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพื้นที่พลเรือน” พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหาของอินเดียที่อ้างว่าเป็นการโจมตีค่ายผู้ก่อการร้าย
-ปากีสถานประกาศ “จะเอาคืน”-
อาเหม็ด ชารีฟ โฆษกกองทัพปากีสถาน กล่าวกับสำนักข่าว BBC ในเวลาต่อมาว่า “มีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีครั้งนี้ 7 คน รวมถึงเด็ก 2 คน”
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าว AFP ในแคชเมียร์และปัญจาบซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของปากีสถานเล่าวว่าได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นหลายครั้ง
นายกฯ ปากีสถานน เชห์บาซ ชารีฟ กล่าวว่า “การโจมตีของอินเดีย...‘เป็นการขี้ขลาด’ และการรุกรานที่ชั่วร้ายครั้งนี้จะไม่ถูกปล่อยให้ลอยนวลไปโดยไม่ได้รับการลงโทษ”
-ทำไมอินเดียถึงเปิดการโจมตี...-
การโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างอินเดียและปากีสถานจากเหตุยิงกันในเมืองพาฮาลกัมเป็นเวลาหลายสัปดาห์
การโจมตีโดยกลุ่มก่อการร้ายเมื่อวันที่ 22 เมษายน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 26 ราย โดยผู้รอดชีวิตกล่าวว่ากลุ่มก่อการร้ายเลือกปฏิบัติต่อชายชาวฮินดูเท่านั้น นับเป็นการโจมตีพลเรือนที่เลวร้ายที่สุดในภูมิภาคในรอบสองทศวรรษ และก่อให้เกิดความโกรธแค้นอย่างกว้างขวางในอินเดีย
นายกฯ นเรนทรา โมดี กล่าวว่า “ประเทศจะตามล่าผู้ต้องสงสัย ‘ไปจนสุดขอบโลก’...ผู้ที่วางแผนและดำเนินการตามแผนดังกล่าวจะต้องถูกลงโทษเกินกว่าที่พวกเขาจะจินตนาการได้”
อย่างไรก็ตาม ตำรวจอินเดียกล่าวหาว่าผู้ก่อเหตุ 2 คนว่าเป็นชาวปากีสถาน โดยอินเดียกล่าวหาปากีสถานว่าให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งปากีสถานปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และบอกกว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 22 เมษายน
ในช่วงสองสัปดาห์นับจากนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างก็ใช้มาตรการตอบโต้กัน รวมทั้งขับไล่เจ้าหน้าที่การทูต ระงับวีซ่า และปิดจุดผ่านแดน
-เหตุใด...แคชเมียร์จึงกลายเป็นจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน-
อินเดียและปากีสถานอ้างสิทธิ์ดินแดนแคชเมียร์ทั้งหมดซึ่งแต่ละฝ่ายปกครองเพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากทั้งสองประเทศถูกแบ่งแยกออกจากกันหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ทั้งสองประเทศทำสงครามกันถึงสองครั้ง
แต่ในช่วงหลังนี้ การโจมตีโดยกลุ่มก่อการร้ายทำให้ทั้งสองประเทศใกล้ถึงจุดวิกฤต แคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอินเดียเผชิญกับการก่อกบฏติดอาวุธต่อต้านการปกครองของอินเดียมาตั้งแต่ปี 1989 โดยกลุ่มก่อการร้ายโจมตีทั้งกองกำลังรักษาความปลอดภัยและพลเรือน
นี่เป็นการโจมตีพลเรือนครั้งใหญ่ครั้งแรกนับตั้งแต่อินเดียเพิกถอนมาตรา 370 ที่ให้แคชเมียร์มีสถานะกึ่งปกครองตัวเองในปี 2019 หลังจากการตัดสินใจดังกล่าว ภูมิภาคนี้ก็เกิดการประท้วงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ความรุนแรงก็ลดลง และจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนภูมิภาคก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ในปี 2016 หลังจากทหารอินเดีย 19 นายเสียชีวิตในเมืองอูรี อินเดียก็เปิดฉากโจมตีทางอากาศ ข้ามเส้นควบคุม ซึ่งเป็นพรมแดนโดยพฤตินัยระหว่างอินเดียและปากีสถาน โดยโจมตีฐานทัพของกลุ่มก่อการร้าย
ในปี 2019 เหตุระเบิดที่เมืองปูลวามา ส่งผลให้เจ้าหน้าที่กึ่งทหารอินเดียเสียชีวิต 40 นาย ทำให้เกิดการโจมตีทางอากาศอย่างรุนแรงในเมืองบาลาโกต ซึ่งถือเป็นการโจมตีครั้งแรกในปากีสถานนับตั้งแต่ปี 1971 และทำให้เกิดการโจมตีตอบโต้และการต่อสู้ทางอากาศตามมา
แม้สถานการณ์จะไม่เลวร้ายลง แต่ทั่วโลกยังคงตื่นตัวต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ประเทศต่างๆ และนักการทูตทั่วโลกต่างพยายามหยุดยั้งสถานการณ์ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้มีการใช้มาตรการควบคุมตัวเองให้มากที่สุด ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ก็หวังหวังว่าการสู้รบจะยุติลงเร็วๆ นี้
(Photo by Shahid Saeed MIRZA / AFP)