นับถอยหลังอีกเพียง 2 วันเท่านั้น 5 พฤศจิกายนนี้ สหรัฐฯ จะได้ประธานาธิบดีคนที่ 47 เลือกตั้งครั้งสำคัญที่มีผลกระทบต่อทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ท่าทีต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน และในตะวันออกกลาง หรือแม้แต่ทิศทางการเมือง ตลอดจนวงการเศรษฐกิจทั่วโลก
จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? หากว่า ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ แคนดิเดตจากพรรครีพับลิกัน หรือ ‘กมลา แฮร์ริส’ แคนดิเดตจากพรรคเดโมแครต ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ และนี่คือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น...
ถ้า ‘ทรัมป์’ กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง...

หาก ‘ทรัมป์’ ชนะเลือกตั้งครั้งนี้ นี่จะเป็นการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 2 ของเขา ใครๆ ต่างก็บอกว่าการกลับมาของเขาอาจทำให้โลกปั่นป่วนโดยเฉพาะในโลกการเงิน เนื่องจากนโยบายของเขาบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำอีกครั้ง
-นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ที่อาจทำย่างให้การเงินโลกปั่นป่วน-
นโยบายที่ชัดเจนที่สุดที่ทรัมป์ประกาศคือ ‘ภาษีศุลกากรที่มากขึ้น’ เขาเสนอภาษีศุลกากรจากทุกประเทศที่ 10% หรืออาจจะ 20% แต่สำหรับจีนจะอยู่ที่ 60% หรือมากกว่านั้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ มากที่สุด แต่การส่งออกของหลายประเทศไปยังสหรัฐฯ ก็จะลดลงเช่นกัน แม้ว่าจะมีบางประเทศที่จัดหาสินค้าทดแทนสินค้าจีนก็ตาม
ผลกระทบจาก ‘Trump trade shock’ จะไม่จบลงเพียงแค่นั้น หากภาษีศุลกากรขัดขวางการเติบโตในจีน ความต้องการสินค้านำเข้าของจีนอาจลดลง ส่งผลให้ประเทศเศรษฐกิจที่จีนเป็นพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่ได้รับผลกระทบอีกครั้ง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เป็นไปได้ว่าหลายประเทศที่ทรัมป์เรียกเก็บภาษีจะตอบโต้ จนส่งผลให้ผู้ส่งออกของสหรัฐฯ เผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น “สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปจะมีแต่ผู้สูญเสียเท่านั้น” คริสเตียน ลินด์เนอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของเยอรมนี เปิดเผยกับสำนักข่าว Reuters
ความปรารถนาของทรัมป์ที่ต้องการให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอาจทำให้การส่งออกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อ่อนค่าลง และแรงกดดันต่อประเทศอาเซียนในการเลือกฝ่ายในความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทรัมป์ให้ความสำคัญกับการแข่งขันกับจีนเป็นอันดับแรก
แบบจำลองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า ผลกระทบของนโยบายการค้าครั้งก่อนของทรัมป์ก็คือ การลด GDP ของสหรัฐฯ และทั่วโลก ลงประมาณครึ่งหนึ่งถึง 1% แต่ตอนนี้ เขาเสนอให้เพิ่มภาษีนำเข้าให้สูงขึ้นมาก
อีกหนึ่งนโยบายที่แปลกประหลาดของทรัมป์คือ ‘การสร้างคลังเก็บบิตคอยน์แห่งชาติ’ ตามแนวทางของ นายิบ บูเกเล ผู้นำเผด็จการแห่งเอลซัลวาดอร์ โดยที่ทรัมป์จะนำเงินภาษีของประชาชนไปเสี่ยงกับโทเค็นเก็งกำไรจำนวนมากซึ่งเขาเคยเรียกมันว่าเป็น ‘กลลวง’
เนื่องจากสหรัฐฯ มีฐานเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกและเป็นลูกค้ารายใหญ่ของส่วนอื่นๆ ในโลก เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีนโยบายคุ้มครองทางการค้าและมีขนาดเล็กลงจะฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานลดลงและมีงานทำน้อยลงทั่วโลก
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังจะมีหนี้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย “การดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้หนี้สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 7.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 253 ล้านล้านล้านบาท) ในช่วง 10 ปี นอกเหนือจากการเติบโตของหนี้ 22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 743 ล้านล้านล้านบาท) ที่สำนักงานงบประมาณของรัฐสภาประมาณการไว้ก่อนหน้านี้จนถึงปี 2034” นักวิเคราะห์ด้านงบประมาณ กล่าว
-ท่าทีทรัมป์ต่อสงคราม-
ท่าทีของทรัมป์ต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่หลายฝ่ายก็ไม่ไว้วางใจว่าจะเป็นอย่างไรหากทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง เพราะใครๆ ก็รู้ดีว่าเขาเป็นเพื่อนกับ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แต่ทรัมป์ก็ย้ำนักย้ำหนาว่า ‘จะสามารถยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ภายใน 24 ชั่วโมงหากชนะเลือกตั้ง’ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเขามีแผนอะไร แต่ก็แทบไม่มีใครเชื่อเลยว่าสิ่งนี้จะเป็นไปได้
“ยูเครนกำลังแพ้สงคราม...อาจต้องกดดันให้ยูเครนยอมเสียดินแดนหรือยอมแพ้ต่อความทะเยอทะยานในการเข้าร่วมนาโต” คนใกล้ชิดทรัมป์ แถลง ดังนั้นการผลักดันให้เกิดการยุติสงครามจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องในทางศีลธรรม และทรัมป์เองก็เชื่อว่าการเป็นสมาชิกนาโตไม่ใช่ทางเลือกสำหรับยูเครนในระยะสั้น
“สิ่งที่ผมจะทำก็คือ ผมจะพูดคุยกับฝ่ายหนึ่ง แล้วก็จะไปคุยกับอีกฝ่าย จากนั้นผมก็จะรวมพวกเขาเข้าด้วยกัน”
ทรัมป์ กล่าวระหว่างดีเบต
แล้วสถานการณ์ในตะวันออกกลางจะเป็นอย่างไรต่อไป...
“ถ้าผมไม่ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ อิสราเอลซึ่งมีสหาย กมลา แฮร์ริส ผู้นำสหรัฐฯ จะต้องล่มสลาย อิสราเอลล่มสลายแน่ อิสราเอลจะหายไป หนึ่งปีหรือสองปี อิสราเอลจะไม่มีอยู่อีกต่อไป”
ทรัมป์ กล่าวกับผู้สนับสนุนในรัฐวิสคอนซิน
คนใกล้ชิดกับ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯ อิสราเอล เผยว่า “หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ก็จะไม่มีการคว่ำบาตร แต่หากทรัมป์แพ้การเลือกตั้ง เราจะมีปัญหากับการคว่ำบาตรที่รัฐบาลที่นี่จะต้องจัดการ”
ในขณะที่ ไบรอัน ฮิวจ์ส ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการรณรงค์หาเสียงของทรัมป์กล่าวว่า “มีเพียงประธานาธิบดีทรัมป์เท่านั้นที่จะฟื้นฟูสันติภาพและเสถียรภาพในตะวันออกกลางให้กับประชาชนทุกคนได้”
-ความสัมพันธ์ที่ไม่ไว้วางใจระหว่างจีน-สหรัฐฯ-
ว่ากันว่าการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 2 ของทรัมป์น่าจะทำให้สหรัฐฯ มีท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นด้านความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจกับจีน ซึ่งจะนำไปสู่การแยกเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศออกจากกันมากขึ้น หลังจากในช่วงต้นปีนี้ ทรัมป์ได้ประกาศนโยบายกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทั้งหมดในอัตรา 60% ขึ้นไป และอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกจุดต้นทางในอัตรา 10% ขึ้นไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายหาเสียงของเขา
ในด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง จีนยังไม่ได้ตัดสินใจว่าการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ครั้งที่สองจะส่งผลต่อจีนอย่างไร แต่การกลับมาของเขา อาจบั่นทอนความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนทั่วโลกอย่างร้ายแรง ซึ่งนั่นเป็นผลดีต่อจีน
ส่วนประเด็นที่สหรัฐจะทิ้งไต้หวันนั้น จีนมองว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เนื่องจากในวาระแรกของทรัมป์ ทัศนคติและจุดยืนของสหรัฐฯ ที่มีต่อไต้หวันเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าทึ่งที่สุดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เช่น การยกเลิกกฎของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ห้ามการโต้ตอบระหว่างนักการทูตสหรัฐฯ และไต้หวันอย่างกะทันหัน ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าว “เท่ากับเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ของสหรัฐฯกับไต้หวันในเชิงสัญลักษณ์แต่มีนัยสำคัญ” ตามรายงานของวอชิงตันโพสต์
จีนไม่เชื่อว่าทรัมป์ต้องการทำสงครามกับจีนประเด็นไต้หวัน แต่พวกเขามองว่าเหตที่เป็นเช่นนั้น อาจเป็นผลจากการกดดันสูงสุดเพื่อบังคับให้จีนยอมแพ้ในแนวรบอื่นๆ เช่น การค้า หากเป็นเช่นนั้น สหรัฐฯ และจีนจะมีความปั่นป่วนมากขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะประเด็นไต้หวันภายใต้การนำของทรัมป์อีกครั้ง
จีนอาจกลัวชัยชนะของทรัมป์มากกว่า เพราะเขามีความไม่แน่นอนสูง จึงไม่แปลกหากว่าจีนอยากให้แฮร์ริสชนะเลือกตั้งมากกว่า
ถ้า ‘แฮร์ริส’ ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ล่ะ...

หาก ‘แฮร์ริส’ ชนะเลือกตั้ง 2024 เธอจะเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มว่าแฮร์ริสจะดำเนินนโยบายสานต่อจาก โจ ไบเดน ขณะที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเธอมีศักยภาพมากพอในการฟื้นตัวการค้าโลกซึ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้
-นโยบายที่ดูประนีประนอมแต่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ-
นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร Goldman Sachs เผยว่า “เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะมีประสิทธิภาพดีขึ้นภายใต้การนำของแฮร์ริส”
อย่างที่ทราบกันดีว่าแฮร์ริสวิพากษ์วิจารณ์นโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์อย่างหนัก โดยให้เหตุผลว่าแนวทางนี้เปรียบเสมือนการเก็บภาษีขายมูลค่า 3,900 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.31 แสนบาท) ต่อชาวอเมริกัน และทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นและเกิดภาวะเงินเฟ้อ แทนที่จะใช้มาตรการภาษีศุลกากรแบบครอบคลุม
ในขณะที่ทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าจากจีนสูงถึง 60% แต่แฮร์ริสยังคงสนับสนุนภาษีศุลกากรกับจีนต่อไป ซึ่งคล้ายกับการขึ้นภาษีที่ทำเนียบขาวเพิ่งบังคับใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าและเซมิคอนดักเตอร์ของจีน รวมถึงสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย
ความแตกต่างระหว่างแฮร์ริสกับทรัมป์ก็คือ ภาษีศุลกากรของแฮร์ริสเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินนโยบายอย่างหนึ่ง เพราะเธอไม่ค่อยสนใจการตั้งกำแพงภาษีเท่าใดนัก ในขณะที่นโยบายของทรัมป์สะท้อนถึงวิธีการที่ไม่รอบคอบ
นโยบายเศรษฐกิจในวงกว้างของแฮร์ริสจะเน้นไปที่การเสริมสร้างการผลิตในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าผ่านเงินอุดหนุนทางเศรษฐกิจต่างๆ แทนภาษีศุลกากร นอกจากนี้ แฮร์ริสจะยังคงใช้กฎหมายการค้าเพื่อต่อสู้กับการละเมิดสิทธิแรงงานระหว่างประเทศด้วย
ขณะเดียวกัน แฮร์ริสก็ยังจะสานต่อนโยบายความร่วมมือพหุภาคีของไบเดนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับสภาพอากาศ ภาษีนิติบุคคล การผ่อนปรนหนี้ และการปฏิรูปธนาคารพัฒนา แต่แผนของแฮร์ริสก็มีแนวโน้มที่จะทำให้หนี้ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่จะ ‘น้อยกว่าของทรัมป์มาก’
-ท่าทีแฮร์ริสต่อสงคราม-
“เราจะยืนหยัดอย่างเข้มแข็งเคียงข้างยูเครนและพันธมิตรนาโตของเรา”
แฮร์ริส กล่าวในที่ประชุมเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
หากมองเผินๆ ดูเหมือนว่านโยบายในอนาคตของรัฐบาลแฮร์ริสที่มีต่อรัสเซียและยูเครนจะแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของนโยบายในรัฐบาลของไบเดนด้วยการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและทหารจำนวนหนึ่งไปยังยูเครน ในขณะที่ทรัมป์กลับดำเนินนโยบายไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยลดการสนับสนุนของสหรัฐฯ ที่มีต่อยูเครน และบังคับให้ต้องเจรจาข้อตกลงกับรัสเซียแทน
จุดยืนของแฮร์ริสที่มีต่อสงครามในตะวันออกกลาง...
ในขณะที่ทรัมป์มีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะเลิกคว่ำบาตรอิสราเอล แต่ท่าทีของแฮร์ริสนั้นยังคงดูคลุมเครือในจุดยืนด้านนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นต่างๆ เช่น ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์
แฮร์ริสชี้แจงอย่างชัดเจนว่าแม้เธอจะสนับสนุนอิสราเอล แต่เธอยังเชื่อในการยุติสงครามในฉนวนกาซาและสร้างดินแดนขึ้นใหม่ เธอเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งทรัมป์โจมตีอย่างรุนแรง โดยกล่าวหาแฮร์ริสว่า “เกลียดอิสราเอล” พร้อมทั้งบอกว่าอิสราเอลจะล่มสลายหากเธอได้รับชัยชนะ
เนทันยาฮูเชื่อว่าท่าทีของแฮร์ริสอาจนำไปสู่แรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นต่ออิสราเอลในการเจรจากับชาวปาเลสไตน์ และชัยชนะของแฮร์ริสอาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าสหรัฐฯ จะเปลี่ยนท่าทีต่ออิสราเอลน้อยลงหรือไม่ เนื่องจากเธอสนับสนุนแนวทางสองรัฐ
ในทางกลับกัน ทรัมป์กลับยืนหยัดเคียงข้างเนทันยาฮู และเพิกเฉยต่อแนวทางสองรัฐ แถมยังเข้าข้างฝ่ายขวาจัดของอิสราเอล
-ดูเหมือนว่าแฮร์ริสอาจเดินเกมแข่งขันกับจีนต่อ-
“ทรัมป์และแฮร์ริสเป็นเหมือนยาพิษสองชามสำหรับปักกิ่ง ทั้งคู่มองว่าจีนเป็นคู่แข่งหรือแม้กระทั่งเป็นศัตรู”
ศาสตราจารย์คนหนึ่งจากสถาบันการศึกษานานาชาติและศูนย์การศึกษาอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยฟูตัน กล่าว
นโยบายในรัฐบาลไบเดนได้ละทิ้งแนวคิดเก่าๆ เกี่ยวกับการมีส่วนร่วม และหันมาใช้จุดยืน ‘การแข่งขันทุกด้าน’ แทน ไม่ว่าจะเป็นระดับภูมิภาค เศรษฐกิจ การทหาร และเทคโนโลยี ส่วนในแง่ของการทูตระดับภูมิภาค ไบเดนก็มุ่งเน้นที่การกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตร โดยเฉพาะญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย รวมถึงการดึงดูดพันธมิตรใหม่ๆ อย่างอินเดีย
“สหรัฐฯ ควรเป็นผู้นำโลกในอุตสาหกรรมของอนาคต...อเมริกา ไม่ใช่จีน ที่จะชนะการแข่งขันในศตวรรษที่ 21” แฮร์ริส กล่าว
รัฐบาลแฮร์ริสมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปต่อจีน เมื่อพิจารณาถึงความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ นั่นหมายความว่า ‘ความสัมพันธ์จะไม่มั่นคงเลย’
“ไม่มีแนวโน้มที่รัฐบาลจะสนับสนุนจีน ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม”
ข้อความส่วนหนึ่งจากในหนังสือของ เดวิด แซงเจอร์ นักข่าวจาก New York Times