ผลงานการดีเบตครั้งแรกก่อนที่การเลือกตั้งสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ไม่เข้าตากรรมการจนเกิดเสียงเรียกร้องหนาหูแม้แต่จากคนในพรรคเดโมแครตเองบางคนให้ไบเดนในวัย 81 ปีถอนตัว เพราะห่วงว่า “อายุ” และ “ความฟิต” ของไบเดนจะเป็นอุปสรรคต่อการเป็นผู้นำประเทศมหาอำนาจท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
หลังการดีเบตจบลงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The New York Times เป็นสื่อเจ้าแรกที่เรียกร้องให้ไบเดนถอนตัว โดยเขียนบทความแสดงความคิดเห็นไว้ว่า “การทำเพื่อประชาชนที่ไบเดนทำได้ในตอนนี้คือการประกาศว่าจะไม่ลงเลือกตั้งครั้งใหม่”
“ท่านประธานาธิบดีปรากฏตัวเมื่อคืนวันพฤหัสบดีในฐานะเงาของข้าราชการผู้ยิ่งใหญ่ เขาพยายามอธิบายอย่างยากลำบากว่าเขาจะทำอะไรให้สำเร็จบ้างในสมัยที่ 2 เขาพยายามตอบโต้การยั่วยุจากทรัมป์อย่างยากลำบาก เขาพยายามอย่างยากลำบากในการทำให้ทรัมป์รับผิดชอบกับคำโกหก ความล้มเหลว และแผนการที่น่ากลัว เขาพยายามอย่างยากลำบากมากกว่า 1 ครั้งในการพูดให้จบประโยค...ไบเดนไม่ใช่ไบเดนคนเดิมเมื่อ 4 ปีก่อนแล้ว”
บทบรรณาธิการ The New York Times ระบุ
นอกจาก The New York Times ยังมีสื่อเจ้าดังอีกหลายแห่ง รวมทั้ง Wall Street Journal, Financial Times และ the Atlantic ที่เขียนบทความคิดเห็นพิเศษ (op-ed) เรียกร้องแบบเดียวกัน โดยเพ็กกี นูนาน คอลัมนิสต์ของ Wall Street Journal เขียนไว้ว่า การปล่อยให้ไบเดนเดินหน้าชิงเก้าอี้ต่อ “ดูเหมือนเป็นการทรมานคนแก่”
คำถามคือ ถ้าไบเดนถอนตัวขึ้นมาจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น
คณะผู้แทนเลือกตั้งจากมลรัฐจะยกมือให้ไบเดน
ไบเดนโกยคะแนนเสียงจากคณะผู้แทนเลือกตั้งจากมลรัฐ (delegate) อย่างท่วมท้นจากการเลือกตั้งขั้นต้น (primary) และในที่ประชุมใหญ่ของพรรคเดือนสิงหาคมนี้คณะผู้แทนเลือกตั้งจากมลรัฐจากทั้ง 50 มลรัฐเกือบ 4,000 คนของพรรคเดโมแครตก็มีหน้าที่ต้องโหวตตามผลการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อเลือกตัวแทนพรรคอย่างเป็นทางการ นั่นคือยกมือให้ไบเดน ซึ่งหมายความว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ไบเดนจะถูกบังคับให้ถอนตัว นอกเสียจากว่าเจ้าตัวจะเต็มใจเอง
หากไบเดนถอนตัวคณะผู้แทนเลือกตั้งจากมลรัฐก็ต้องหาคนอื่นมาแทน ซึ่งนั่นอาจทำให้การเมืองสหรัฐฯ ถอยหลังกลับไปสู่ช่วงก่อนๆ ที่คนใหญ่คนโตของพรรค (superdelegate คือผู้นำพรรคระดับอาวุโสและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการเลือกตั้งที่เป็นคณะผู้แทนเลือกตั้งของการประชุมใหญ่พรรคโดยตำแหน่งซึ่งปกติจะไม่ได้ออกเสียงในการเลือกตัวแทนพรรครอบแรก) ชิงไหวชิงพริบกันเพื่อเลือกตัวแทนของพรรคผ่านการดีลกันหลังบ้านและต้องมีการลงคะแนนกันหลายรอบ
เคยมีคนถอนตัวมาแล้ว
วันที่ 31 มีนาคม 1968 ประธานาธิบดี ลินดอน จอห์นสัน สร้างความตกตะลึงด้วยการประกาศท่ามกลางสงครามเวียดนามว่าจะไม่ลงเลือกตั้งในสมัยที่ 2
ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้การประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตเพื่อเลือกตัวแทนพรรคไปชิงชัยกับพรรครีพับลิกันกลายเป็นวิกฤตทางการเมือง เนื่องจากกลุ่มผู้ประท้วงและคณะผู้แทนเลือกตั้งจากมลรัฐฝ่ายซ้ายไม่พอใจต่อท่าทีหนุนการทำสงครามของ ฮิวเบิร์ต ฮัมฟรีย์ ที่พรรคเลือกมาแทนที่ประธานาธิบดีจอห์นสัน

คณะผู้แทนเลือกตั้งจากมลรัฐเทไบเดนได้มั้ย
แม้ว่าจะไม่มีกลไกในการปลดไบเดนจากการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต แต่คณะผู้แทนเลือกตั้งจากมลรัฐอาจจะเลือกคนอื่นมาแทนไบเดนก็ได้ ทว่าเรื่องนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ ถึงแม้จะไม่มีข้อกำหนดให้คณะผู้แทนเลือกตั้งจากมลรัฐต้องเลือกไบเดน แต่โดยปกติแล้วคณะผู้แทนเลือกตั้งจากมลรัฐจะเลือกตัวแทนพรรคที่ชนะการเลือกตั้งขั้นต้น
หากไบเดนไม่ได้เสียงส่วนใหญ่จากคณะผู้แทนเลือกตั้งจากมลรัฐในการประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตรอบแรก ก็จะมีการลงคะแนนเลือกไปจนกว่าจะได้ตัวแทนที่ได้เสียงส่วนใหญ่ โดยในการเลือกตัวแทนครั้งต่อๆ มาคณะผู้แทนเลือกตั้งจากมลรัฐสามารถเลือกใครก็ได้
นอกจากนี้ คณะผู้แทนเลือกตั้งจากมลรัฐอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า superdelegate อีกราว 700 คนที่เป็นผู้นำระดับอาวุโสของพรรคและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการเลือกตั้ง ก็มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกใครก็ได้หากมีการลงคะแนนเลือกตัวแทนพรรคครั้งที่ 2 (กฎของพรรคเดโมแครตห้ามไม่ให้ superdelegate ลงคะแนนในการเลือกรอบแรก เพราะคนกลุ่มนี้มีอิทธิพลที่สามารถเปลี่ยนแปลงการเสนอชื่อได้)
ท่าทีไบเดน
จนถึงตอนนี้ไบเดนยังมั่นใจว่าตัวเอง “เอาอยู่” แน่นอน เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามถึงการถอนตัวไบเดนตอบว่า “ไม่...การดีเบตกับคนขี้โกหกมันยาก” และบอกกับผู้สนับสนุนในแอตแลนตาหลังดีเบตว่า “มาลุยกันต่อเถอะ”
และในวันต่อมาไบเดนกล่าวสุนทรพจน์ (ด้วยน้ำเสียงทรงพลังกว่าตอนดีเบตกับทรัมป์) ว่าจะเดินหน้าต่อ แต่ก็ยอมรับว่า “ผมรู้ว่าผมไม่ใช่หนุ่มๆ แล้ว ผมไม่ได้เดินสะดวกเหมือนแต่ก่อน ผมไม่ได้พูดได้ดีเหมือนที่เคย ผมดีเบตได้ไม่ดีเท่าที่เคยทำ แต่ผมจะไม่ลงเลือกตั้งอีกถ้าผมไม่ได้เชื่อมั่นด้วยหัวใจและจิตวิญญาณของตัวเองว่าผมทำงานนี้ได้...ผมรู้ในสิ่งที่ผมรู้ ผมรู้ว่าความจริงพูดอย่างไร”
Photo by Mandel NGAN / AFP