‘เหลียง เหวินเฟิง’ ชายผู้อยู่เบื้องหลัง ‘DeepSeek’ แอปฯ ที่สั่นสะเทือนวงการ AI สหรัฐฯ

28 ม.ค. 2568 - 09:38

  • ทำความรู้จัก ‘เหลียง เหวินเฟิง’ ชายผู้อยู่เบื้องหลังและก่อตั้ง ‘DeepSeek’ แอปฯ ที่สั่นสะเทือนวงการ AI

  • DeepSeek คืออะไร? ทำไมแซงหน้า ChatGPT กลายเป็นแอปฯ ฟรีที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในสหรัฐฯ

  • การเติบโตอย่างรวดเร็วของ DeepSeek ไม่เพียงแต่สร้างความปั่นป่วนให้กับภูมิทัศน์เทคโนโลยี AI เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดทั่วโลก

who-is-liang-wenfeng-chinese-businessman-behind-deepseek-SPACEBAR-Hero.jpg

‘DeepSeek’ บริษัทปัญญาประดิษฐ์ (AI) จากจีนสร้างความสั่นสะเทือนให้กับอุตสาหกรรม AI หลังจากยอดดาวน์โหลดใน Apple Store พุ่งขึ้นสู่อันดับสูงสุดแซงหน้า ChatGPT กลายเป็นแอปฯ ฟรีที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในสหรัฐฯ  

การเติบโตอย่างรวดเร็วของ DeepSeek ไม่เพียงแต่สร้างความปั่นป่วนให้กับภูมิทัศน์เทคโนโลยี AI เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดทั่วโลก และยังทำให้หุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ร่วงในวันจันทร์ (27 ม.ค.) ที่ผ่านมาอีกด้วย 

ว่ากันว่าแอปฯ DeepSeek มีประสิทธิภาพทัดเทียม หรือดีกว่าโมเดลของ Open AI และ Meta อีกด้วย ทั้งยังสามารถสร้างได้ในราคาที่ถูกกว่าและใช้พลังงานน้อยกว่า ทั้งนี้พบว่า โมเดล ‘DeepSeek-R1’ มีราคาใช้งานถูกกว่าโมเดล ‘OpenAI O1’ ถึง 20-50 เท่า ขึ้นอยู่กับการใช้งาน  

‘DeepSeek’ คืออะไร?

‘DeepSeek’ เป็นแชทบอทที่ขับเคลื่อนด้วย AI เช่นเดียวกับ ChatGPT และเป็นแอปฯ ที่ดาวน์โหลดได้ฟรีจาก App Store ของ Apple พร้อมคำโปรยของ DeepSeek ที่บอกว่า “แอปฯ นี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบคำถามของคุณและปรับปรุงชีวิตของคุณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” 

มีรายงานว่า โมเดล AI ของ DeepSeek ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวมันเองที่เรียกว่า ‘R1’ นั้นมีพารามิเตอร์ประมาณ 670 พันล้านตัว ทำให้เป็นโมเดลภาษาโอเพ่นซอร์สขนาดใหญ่ที่สุดจนถึงขณะนี้ ซึ่งมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับโมเดล ‘O1’ ของ OpenAI ซึ่งเป็นกำลังหลักของ ChatGPT ทั้งในด้านคณิตศาสตร์ การเข้ารหัส และการใช้เหตุผล 

นอกจากนี้ DeepSeek ยังถูกป้อนข้อมูลให้เลี่ยงคำถามที่ละเอียดอ่อนทางการเมือง เช่นเดียวกับโมเดล AI ของจีนอื่นๆ อีกมากมาย เช่น Ernie ของ Baidu หรือ Doubao ของ ByteDance เมื่อทางสำนักข่าว BBC ลองถามแอปฯ ว่าเกิดอะไรขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 4 มิถุนายน 1989 DeepSeek ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับการสังหารหมู่ครั้งนั้น ซึ่งเป็นหัวข้อต้องห้ามในประเทศจีน โดยระบบตอบกลับมาว่า “ขออภัย ฉันตอบคำถามนั้นไม่ได้ ฉันเป็นผู้ช่วย AI ที่ได้รับการออกแบบมาให้ตอบคำถามที่เป็นประโยชน์และไม่ก่อให้เกิดอันตราย” 

นักวิจัยที่อยู่เบื้องหลังการสร้าง DeepSeek อ้างว่า แอปฯ นี้มีต้นทุนการสร้างเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 200 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณที่จำกัดเมื่อเทียบกับงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ที่บริษัท AI ในสหรัฐฯ ใช้จ่ายไป 

ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าพวกเขาทำได้อย่างไรกันแน่ แต่มีรายงานว่าผู้ก่อตั้ง DeepSeek ได้สร้างคลังชิป Nvidia A100 ขึ้นมา ซึ่งถูกห้ามส่งออกไปยังจีนตั้งแต่เดือนกันยายน 2022 แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าคอลเลกชันนี้ โดยบางคนคาดว่ามีชิปอยู่ 50,000 ชิ้น ทำให้ผู้ก่อตั้งสร้างโมเดล AI ที่ทรงพลังได้ โดยจับคู่ชิปเหล่านี้กับชิปที่ถูกกว่า และซับซ้อนน้อยกว่า 

‘เหลียง เหวินเฟิง’ ชายผู้อยู่เบื้องหลังและก่อตั้ง ‘DeepSeek’

‘เหลียง เหวินเฟิง’ นักธุรกิจ, ผู้ประกอบการชาวจีน และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ DeepSeek วัย 40 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีและโทด้านวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ในปี 2015 เหลียงและเพื่อนร่วมสาขาวิชาได้ก่อตั้งกองทุนป้องกันความเสี่ยงเชิงปริมาณที่ชื่อว่า ‘High-Flyer’ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการใช้ AI ในกลยุทธ์การซื้อขาย โดยใช้การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) คาดการณ์แนวโน้มของตลาดและเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจลงทุน 

ในปี 2021 เหลียงเริ่มซื้อหน่วยประมวลผลกราฟิก Nvidia  หลายพันตัว ก่อนที่รัฐบาล โจ ไบเดน ในขณะนั้นจะเริ่มจำกัดการส่งออกชิป AI ของสหรัฐฯ ไปยังจีน ซึ่งในตอนแรกดูเหมือนเป็นโปรเจ็กต์เสริม หรือเป็นการทดลอง AI ที่แม้แต่เพื่อนร่วมงานของเขาก็มองว่ามันเป็นเพียงงานอดิเรกแปลกๆ ไม่สมจริง และไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้   

ถึงแม้จะมีความกังขา แต่ความมุ่งมั่นที่ไม่ลดละของเหลียงก็นำไปสู่การสร้าง ‘DeepSeek’ ซึ่งเป็นโครงการที่หลายคนคิดว่ามีเพียงยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง ByteDance หรือ Alibaba เท่านั้นที่สามารถทำได้ 

ในปี 2023 เหลียงเริ่มต้นสร้าง DeepSeek โดยตั้งเป้าที่จะพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป หรือปัญญาประดิษฐ์ระดับเทียบเท่ากับสติปัญญาของมนุษย์ 

และในตอนนี้ DeepSeek กำลังทำให้หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ร่วง เนื่องจากการพัฒนา AI ของ DeepSeek ที่ล้ำสมัยด้วยต้นทุนเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของคู่แข่งอย่าง OpenAI และ Google ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับเงินนับร้อยพันล้านดอลลาร์ที่วางไว้สำหรับการลงทุนในภาคส่วนนี้และที่อื่นๆ 

เมื่อ ‘DeepSeek’ กลายเป็นผู้ท้าชิงด้าน AI ที่เหนือกว่า ‘ChatGPT’ ในสหรัฐฯ...

‘DeepSeek’ เริ่มต้นจากการเป็นโครงการริเริ่ม AI ขนาดเล็ก แต่ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วจนกลายมาเป็นคู่แข่งรายสำคัญในด้านปัญญาประดิษฐ์ ประกอบกับเหลียงได้ทุ่มเทให้กับการสร้าง DeepSeek ให้เป็นผู้นำในประเทศในด้าน AI โดยคัดเลือกผู้มีความสามารถจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน และจ่ายเงินเดือนในระดับเดียวกับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok

“เป็นเวลาหลายปีแล้วที่บริษัทจีนคุ้นเคยกับการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในที่อื่นและสร้างรายได้จากนวัตกรรมเหล่านี้ผ่านการใช้งาน แต่สิ่งนี้ไม่ยั่งยืน ในครั้งนี้ เป้าหมายของเราไม่ใช่การทำกำไรอย่างรวดเร็ว แต่เป็นการพัฒนาขอบเขตของเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของระบบนิเวศทางธุรกิจ...สิ่งที่เรายังขาดอยู่ไม่ใช่เงินทุน แต่เป็นความมั่นใจและความสามารถในการจัดระเบียบบุคลากรที่มีคุณภาพสูงเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีประสิทธิผล”

เหลียง กล่าว

เหลียงต้องการผลักดันให้จีนก้าวไปข้างหน้า เขาเคยกล่าวไว้ว่า “เราพบว่า AI ของจีนไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งผู้ตามได้ตลอดไป เราพูดกันบ่อยๆ ว่ามีช่องว่างระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หนึ่งหรือสองปี แต่ช่องว่างที่แท้จริงคือ ระหว่างความคิดริเริ่มและการเลียนแบบ หากสิ่งนี้ไม่เปลี่ยนแปลง จีนจะยังคงเป็นผู้ตามตลอดไป...” 

ทั้งนี้พบว่า แพลตฟอร์มที่เปิดตัวในปี 2024 มีคุณสมบัติคล้ายกับ ChatGPT ซึ่งโดดเด่นในด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติ การวิเคราะห์ข้อมูล และแอปฯ การเรียนรู้ของเครื่องจักร รวมไปถึงอินเทอร์เฟซที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ และคุณสมบัติขั้นสูงที่ได้รับการตอบรับจากผู้ใช้ทั่วโลก ทำให้ยอดดาวน์โหลดแอปฯ DeepSeek ทะยานขึ้นสู่อันดับสูงสุดในสหรัฐฯ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์