มาตรการขึ้นภาษีสหรัฐฯ ต่อประเทศทั่วโลกมีผลบังคับใช้แล้วในวันนี้ (9 เม.ย.) ท่ามกลางความปั่นป่วนของตลาดโลกที่ร่วงลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ทีมคณะรัฐมนตรีจากรัฐบาลต่างๆ ก็เตรียมหารือต่อคิวยาวขอต่อรองภาษีกับทรัมป์
แต่เบื้องหลังความวุ่นวายนี้ SPACEBAR จะพาไปทำความรู้จักที่ปรึกษาคนสำคัญของทรัมป์ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ผู้วางนโยบายภาษีศุลกากรครั้งใหญ่’ ในรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งเขาคนนั้นก็คือ ‘ปีเตอร์ นาวาร์โร’ ที่เพิ่งจะมีเรื่องโต้เถียงกับ อีลอน มัสก์ กันอย่างดุเดือดบนโซเชียลมีเดียเมื่อไม่นานมานี้
‘ปีเตอร์ นาวาร์โร’ ชายผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายภาษีทรัมป์
“บทเรียนอันน่าตกตะลึงก็คือ อเมริกาถูกโกงทุกวันในตลาดโลก ทั้งจากการฉกฉวยโอกาสจากจีนคอมมิวนิสต์ และจากองค์การการค้าโลกที่ไม่เป็นธรรม...การแก้ไขความท้าทายสองประการนี้จะเป็นหนทางที่ดีในการฟื้นคืนความยิ่งใหญ่ของอเมริกา ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการทหาร”
นาวาร์โร เขียนเมื่อ 2 ปีก่อน
ปีเตอร์ นาวาร์โร วัย 75 ปี เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทัฟส์และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นที่จดจำในฐานะอดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวคนแรกที่ถูกจำคุก 4 เดือนจากเหตุโจมตีอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021
ก่อนหน้านี้เขาเคยดำรงตำแหน่ง ‘ผู้อำนวยการสภาการค้าแห่งชาติ’ ในรัฐบาลทรัมป์ชุดแรก และได้รับเลือกจากรัฐบาลทรัมป์อีกครั้งให้ดำรงตำแหน่ง ‘ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการค้าและการผลิต’ เมื่อเดือนธันวาคม 2024
เรื่องอื้อฉาว...กับการแอบอ้างตัวตนในหนังสือที่ไม่มีอยู่จริง
ในปี 2019 นาวาร์โรถูกจับได้ในประเด็นที่เขาอ้างอิงคำพูดของนักเศรษฐศาสตร์ที่จบการศึกษาจากฮาร์วาร์ดซ้ำแล้วซ้ำเล่า (ซึ่งเขาคนนี้ไม่มีตัวตนอยู่จริง) ในหนังสือของเขา
จากหนังสือ 13 เล่มที่นาวาร์โรตีพิมพ์ นาวาร์โรได้อ้างคำพูดของ ‘รอน วารา’ (Ron Vara) ที่เขาอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ซึ่งปรากฏในหนังสือของเขาถึง 6 เล่ม รวมถึงปรากฏในหนังสือ ‘Death By China’ ของเขาในปี 2011 อีกด้วย
จนกระทั่ง เทสซา มอร์ริส-ซูซูกิ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ได้ทำการสืบสวนเพิ่มเติม จึงได้รู้ว่า ‘วารา’ เป็นตัวตนปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมา โดยชื่อ ‘Ron Vara’ เป็นคำที่สลับอักษรจากชื่อของ ‘Navarro’ นั่นเอง “มันเป็นเรื่องบังเอิญโดยสิ้นเชิง” มอร์ริส-ซูซูกิ กล่าว
มอร์ริส-ซูซูกิ เล่าว่าคำพูดบางส่วนของวาราที่ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มหนึ่งนั้น “น่ากังวลมาก” ดังนั้นเธอจึงค้นหาชื่อของเขาในกูเกิล และโทรไปสอบถามความจริงที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อยืนยันว่าเขาเป็นนักศึกษาที่นั่นจริงหรือไม่ แล้วก็พบว่าไม่มีบันทึกเข้าเรียนของ รอน วารา แต่อย่างใด
นาวาร์โรยอมรับถึงการกุเรื่องขึ้นมา “มันเป็นนามปากกา…เพื่อความคิดเห็นและความบันเทิงล้วนๆ ไม่ใช่เป็นแหล่งที่มาของข้อเท็จจริง” นาวาร์โรกล่าวในเวลานั้น
ผู้มีอิทธิพลต่อมาตรการภาษีศุลกากรสุดเข้มงวด

นาวาร์โรได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน ‘ผู้สนับสนุนที่กระตือรือร้นที่สุด’ ในการเก็บภาษีศุลกากรในระยะยาว แผนการค้าของเขาเป็นส่วนหนึ่งของ ‘Project 2025’ ซึ่งเป็นคู่มือแนวนโยบายที่เผยแพร่โดยกลุ่มวิจัยแนวอนุรักษนิยม ‘Heritage Foundation’
เขาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเล็งเป้าไปที่ ‘ประเทศที่มีการขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ ค่อนข้างมากและเก็บภาษีศุลกากรที่ค่อนข้างสูง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน อินเดีย ไทย ไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (EU) นอกจากนี้ นาวาร์โรยังเสนอนโยบายขยายภาษีศุลกากรต่อจีนเพื่อ ‘ปิดกั้น’ สินค้าที่ผลิตในจีน
และนับตั้งแต่ที่ทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีเมื่อวันที่ 2 เมษายน สงครามการค้าระหว่างทั้งสองประเทศก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น ถึงขนาดที่ตอนนี้ทรัมป์เรียกเก็บภาษีจากจีนถึง 104% แล้ว เนื่องจากจีนไม่ยอมยกเลิกมาตรการตอบโต้ที่จัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ
“แนวทางของนาวาร์โรเป็นที่ทราบกันดีมานานหลายทศวรรษแล้ว แนวทางของเขาไม่ถือเป็นแบบแผนใดๆ เลย เขามีคุณสมบัติจากฮาร์วาร์ด แต่ผมไม่รู้จักนักเศรษฐศาสตร์ที่ผ่านการอบรมจากฮาร์วาร์ดหลายคนที่เห็นด้วยกับเขา...” จาเร็ด มอนด์เชน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยที่ศูนย์ศึกษาสหรัฐฯ กล่าว
ทะเลาะกับ อีลอน มัสก์...
เมื่อไม่นานมานี้ นาวาร์โร และ มัสก์ ต่างตอบโต้กันทางโซเชียลมีเดียอย่างดุเดือด ถือเป็นรอยร้าวระหว่างคนวงในรัฐบาลทรัมป์ที่เผยให้เห็นต่อสาธารณะมากที่สุด เนื่องจากมัสก์ไม่เห็นด้วยกับมาตรการภาษีดังกล่าว และเกลี่ยกล่อมทรัมป์แล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ
ภาษีศุลกากรที่ประกาศใน ‘วันปลดปล่อยประเทศ’ เมื่อวันที่ 2 เม.ย.นับเป็นนโยบายที่ได้รับชัยชนะของนาวาร์โร ซึ่งสนับสนุนมาตรการการค้าโดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นการผลิตในประเทศ
ไม่นานหลังจากนั้น มัสก์ก็โพสต์บน X ว่า “การได้รับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเป็นเรื่องแย่ ไม่ใช่เรื่องดี” มัสก์หมายถึงปริญญาของนาวาร์โร
ขณะที่ นาวาร์โรสัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC ของสหรัฐฯ ว่า “ความเห็นของมัสก์เรื่องภาษีนั้นเป็นศูนย์ ไม่น่าแปลกใจนักเมื่อพิจารณาถึงบทบาทของเขาในฐานะ ‘คนที่ชื่นชอบรถยนต์’...เมื่อพูดถึงเรื่องภาษีศุลกากรและการค้า เราทุกคนในทำเนียบขาวก็เข้าใจดี และคนอเมริกันก็เข้าใจเช่นกันว่าอีลอนเป็นผู้ผลิตรถยนต์ แต่ ‘เขาไม่ใช่ผู้ผลิตรถยนต์’ เขาเป็นเพียงผู้ประกอบรถยนต์ เขาต้องการชิ้นส่วนต่างประเทศราคาถูก”
มัสก์โพสต์ตอบโต้โดยบอกว่า “นาวาร์โรเป็นคนโง่จริงๆ”
แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว กล่าวถึงความบาดหมางดังกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันอังคาร (8 เม.ย.) ว่า “ดูสิ พวกเขาเป็นบุคคลสองคนที่มีมุมมองที่แตกต่างกันมากในเรื่องการค้าและภาษีศุลกากร เด็กผู้ชายก็คือเด็กผู้ชาย และเราจะปล่อยให้พวกเขาโต้ตอบกันต่อหน้าสาธารณชนต่อไป”
อย่างไรก็ดี การโต้เถียงกันระหว่างวงในไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ในรัฐบาลทรัมป์ “ในการดำรงตำแหน่งวาระแรกของทรัมป์ มีการโต้เถียงเกิดขึ้นมากกว่านี้ และที่น่าแปลกใจก็คือการโต้เถียงดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเปิดเผยเป็นเวลานานขนาดนี้” มอนด์เชน กล่าว
Photo : Shutterstock / Consolidated News Photos