บอสคนแรก! ‘ชาร์ลส์ พอนซี’ บิดาแห่งวงการแชร์ลูกโซ่ผู้มาก่อนกาล

17 ต.ค. 2567 - 10:28

  • SPACEBAR พาผ่าวงการแชร์ลูกโซ่อีกหนึ่งตำนานระดับเจ้าพ่อ ‘ชาร์ลส์ พอนซี’ เจ้าของฉายา ‘บิดาแห่งวงการแชร์ลูกโซ่’

  • จากพนักงานร้านอาหารสู่ ‘อาชญากร’ ยักยอกเงินไปกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (664 ล้านบาท)

who-was-charles-ponzi-what-did-he-create-SPACEBAR-Hero.jpg

นาทีนี้คงไม่มีประเด็นไหนร้อนแรงเท่าคดีหลอกลวงลงทุนทำธุรกิจออนไลน์เท่ากับ ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ (The Icon Group) อีกแล้ว เนื่องจากมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความทะลุ 1,500 ราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งรายงานล่าสุดพบว่าออกหมายจับบอส 18 คน และรวบตัวแล้ว 12 คน 

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าวงการหลอกให้ลงทุนในลักษณะนี้มีมานานแล้ว ยิ่งในต่างประเทศยิ่งมีมากอย่างในเคสแชร์ลูกโซ่ของเจ้าพ่อการเงิน ‘เบอร์นี มาดอฟฟ์’ ที่ดาราฮอลลีวูดตกเป็นเหยื่อเยอะ ก็ถือว่าเป็นกระบวนการรายใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่เลยทีเดียว (อ่านเพิ่มเติม)

SPACEBAR พาไปผ่าวงการแชร์ลูกโซ่ของบอสคนแรก ‘ชาร์ลส์ พอนซี’ ที่ใครๆ ต่างก็บอกว่าเขาเป็น ‘บิดาแห่งวงการแชร์ลูกโซ่’ และผู้เป็นที่มาของคำว่า ‘Ponzi scheme’ หรือที่เรารู้จักกันใน ‘การฉ้อฉลแบบพอนซี’ หรือ ‘ธุรกิจพีระมิด’ (Pyramid scheme)

‘ชาร์ลส์ พอนซี’

จากพนักงานร้านอาหารสู่ ‘อาชญากร’ ผู้ยักยอกเงินไปกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (664 ล้านบาท)

ย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ‘ชาร์ลส์ พอนซี’ ชาวอิตาลีผู้ย้ายถิ่นฐานมายังอเมริกาเพื่อแสวงหาชีวิตใหม่ และเริ่มต้นด้วยการทำงานในร้านอาหาร ก่อนจะทำงานเป็นผู้ช่วยในธนาคารที่บริหารโดยชาวอิตาลีในแคนาดา และนั่นทำให้พอนซีได้เรียนรู้บางอย่าง ซึ่งก็คือการเอาเงินของคนอื่นมาจ่ายให้อีกคนหนึ่ง 

ธนาคารที่พอนซีทำงานอยู่รับปากว่าจะให้ดอกเบี้ยสูงมาก ในเวลานั้นเขาจึงรับเงินฝากจากเจ้าของบัญชีใหม่จากอัตราดอกเบี้ยของลูกค้าเก่า แต่สถานะการเงินของธนาคารในเวลานั้นกำลังประสบปัญหา เจ้าของธนาคารจึงลี้ภัยหนีไปอยู่เม็กซิโกแทน 

หลังจากเจ้านายหนีไป ชีวิตของพอนซีก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นสู่โลกอาชญากรของพอนซี เขาทั้งปลอมเช็คทั้งลักลอบขนของผิดกฎหมาย ทำให้เขาเข้าออกคุกเป็นว่าเล่น แต่พอออกจากคุก พอนซีก็พยายามหางานถูกกฎหมายทำ จนกระทั่งได้แต่งงานในเวลาต่อมา แล้วพอนซีก็เข้าสู่เส้นทางการบริหารธุรกิจของภรรยา แต่ไม่นานธุรกิจก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า ส่งผลให้พอนซีกลับไปพัวพันกับอาชญากรรมอีกครั้ง 

แผนการหลอกให้เชื่อของ ‘บิดาแห่งวงการแชร์ลูกโซ่’ เป็นไปในลักษณะใด...

ในปี 1919 พอนซีประสบความสำเร็จในธุรกิจขนาดเล็กผ่านการซื้อและขายคูปองไปรษณีย์ ‘พอนซี’ (Ponzi) หรือที่เรียกว่า ‘IRCs’ (international reply coupon / คูปองที่ใช้แลกรับแสตมป์ไปรษณีย์ทางอากาศแบบด่วนจากประเทศอื่นได้) เขาจึงใช้โอกาสนี้สร้างรายได้เพิ่ม จนกระทั่งในเดือนมกราคม 1920 พอนซีได้ก่อตั้งบริษัทของตัวเองที่มีชื่อว่า ‘Securities Exchange Company’

กลโกงก็คือ :

พอนซีจะส่งเงินไปให้เอเย่นต์ที่ทำงานให้เขาในประเทศอื่น ซึ่งเอเย่นต์จะซื้อ IRC และส่งกลับไปยังสหรัฐฯ จากนั้นพอนซีจะแลก IRC เป็นแสตมป์ที่มีมูลค่ามากกว่าที่เขาซื้อมาแล้วขายแสตมป์เหล่านั้น ทั้งนี้มีรายงานว่าพอนซีสามารถทำรายได้มากกว่า 400% จากการขายแสตมป์เหล่านี้ไปบางส่วน

พอนซีสัญญากับนักลงทุนว่า พวกเขาจะได้รับผลตอบแทนสูงถึง 50% ในเวลาเพียง 45 วัน ข้อเสนอนี้แพร่กระจายออกไปและบริษัทก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้พอนซีดึงดูดนักลงทุนในท้องถิ่นได้หลายพันคน จากนั้นบริษัทก็ขยายตัวจนมีผู้ร่วมลงทุนเป็นหมื่นราย เงินลงทุนจึงเพิ่มขึ้นจากหลายพันดอลลาร์เป็นหมื่นดอลลาร์ และในที่สุดก็เพิ่มขึ้นเป็นล้านดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน 1920 เพียง 6 เดือนหลังจากเริ่มดำเนินธุรกิจเท่านั้น และในวันที่ 6 กรกฎาคม พบว่า บริษัทสามารถทำรายได้ 1,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.37 หมื่นล้านบาท) ในวันเดียวเป็นครั้งแรก 

ในช่วงที่ประสบความสำเร็จสูงสุด พอนซีสามารถทำเงินได้ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ราว 8.3 ล้านบาท) และกวาดรายได้ไปราว 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 498 ล้านบาท) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 1920 

นักลงทุนรายแรกของพอนซีมักประกอบด้วยผู้อพยพชนชั้นแรงงานเช่นเดียวกับเขา แต่ในเวลาต่อมา พอนซีก็ค่อยๆ ดึงดูดนักการธนาคาร นักการเมือง และคนชั้นสูงที่ร่ำรวยที่สุดในบอสตันได้เป็นจำนวนมาก 

รวยได้ไม่นาน สุดท้ายก็ถูกจับได้...

who-was-charles-ponzi-what-did-he-create-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Wikipedia / US Goverment

แม้ว่าบริษัทของพอนซีจะมีกำไรมหาศาลในแต่ละวัน แต่การดำเนินงานกลับขาดทุนมหาศาล ตราบใดที่ยังมีเงินใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนรายเดิมก็สามารถได้รับเงินคืน แต่พอนซีก็ไม่ได้พยายามสร้างกำไรที่แท้จริง

นักลงทุนและสื่อท้องถิ่นจำนวนหนึ่งจึงเริ่มตั้งคำถามว่า ‘เหตุใดพอนซีจึงเปลี่ยนจากไม่มีเงินมาเป็นเศรษฐีได้รวดเร็วเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ’

หนังสือพิมพ์ Boston Post ได้ดำเนินการตรวจสอบแผนการของพอนซี หลังพบข้อสงสัยว่าพอนซีไม่ได้ลงทุนกับบริษัทของตัวเอง และในที่สุด แผนการฉ้อโกงของพอนซีก็ถูกเปิดเผย และล่มสลายอย่างรวดเร็ว ทำให้บบรดานักลงทุนในพื้นที่ที่รู้ข่าวแห่พากันไปตั้งแคมป์อยู่หน้าสำนักงานของเขาเพื่อเรียกร้องขอเงินคืน 

การล่มสลายของธุรกิจพอนซีทำให้ธนาคาร 6 แห่งต้องล้มละลาย หลายคนต้องสูญเสียเงินออมไปตลอดชีวิต และนักลงทุนหลายพันคนสูญเสียเงินไปจำนวนมากรวมมูลค่าแล้วประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเวลานั้น (ราว 664 ล้านบาท) ซึ่งหลายคนเป็นผู้อพยพชนชั้นแรงงานธรรมดาเช่นเดียวกับพอนซีเอง รวมถึงพี่เขยและคนขับรถของเขาเองด้วย  

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 1920 พอนซีถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงทางไปรษณีย์ 86 กระทง และถูกตัดสินจำคุก 5 ปี แต่ได้รับการปล่อยตัวหลังจากรับโทษเพียง 3 ปีครึ่ง แต่หลังจากได้รับการปล่อยตัวเขาถูกตั้งข้อหาลักทรัพย์อีก 22 กระทง และถูกตัดสินโทษจำคุก 9 ปีด้วยเหตุผลที่ว่าเป็น ‘หัวขโมยที่ฉาวโฉ่’ 

อย่างไรก็ดี พอนซีได้รับการปล่อยตัวในปี 1934 จากนั้นในวันที่ 7 ตุลาคม เขาก็ถูกเนรเทศกลับไปยังอิตาลี ประเทศบ้านเกิด แต่สื่อบางสำนักก็รายงานว่าเขาหนีไปบราซิล บางสำนักรายงานว่าเขาประสบความสำเร็จในธุรกิจสายการบินของอิตาลี 

ต่อมาในปี 1948 พอนซีก็ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองจนกลายเป็นอัมพาตบางส่วน และเสียชีวิตในเวลาต่อมาไม่นานในปี 1949 ในวัย 66 ปี ที่โรงพยาบาลในเมืองริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล 

Photo : Wikipedia / Boston Library

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์