สงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ไม่รู้ว่าปลายทางจะจบลงเมื่อไรไม่เพียงแต่ตึงเครียดลุกลามทั่วตะวันออกกลางเท่านั้น เพราะนอกสนามรบก็ดุเดือดไม่แพ้กัน หลังเหล่านักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐฯ พากันออกมาประท้วงครั้งใหญ่ต่อสงครามในครั้งนี้ด้วย
เป็นเหตุให้มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มตำรวจกับผู้ประท้วงที่สนับสนุนปาเลสไตน์ซึ่งตั้งค่ายพักแรมตามวิทยาเขตมหาวิทยาลัยหลายสิบแห่ง และมีการจับกุมไปแล้วเกือบ 1,000 ราย
ทว่าสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องคืออะไร? ทำไมมันถึงบานปลายขนาดนี้
พวกเขาประท้วงเรื่องอะไร? ทำไมต้องประท้วง?

จุดประสงค์ในการประท้วงของนักศึกษาทั่วสหรัฐฯ ก็คือ
พวกเขาต้องการให้มหาวิทยาลัยหยุดทำธุรกิจกับอิสราเอล หรือบริษัทใดๆ ที่สนับสนุนสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ในฉนวนกาซา
ข้อเรียกร้องเหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามกลุ่มผู้ประท้วงแต่ละกลุ่มในมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้แก่ :
- หยุดทำธุรกิจกับผู้ผลิตอาวุธทหารที่จัดหาอาวุธให้อิสราเอล
- หยุดรับเงินวิจัยจากอิสราเอลสำหรับโครงการที่ช่วยเหลือทางทหารของประเทศ
- มีความโปร่งใสมากขึ้นเกี่ยวกับเงินที่ได้รับจากอิสราเอลและนำไปใช้เพื่ออะไร
- หยุดลงทุนกองทุนการกุศลของมหาวิทยาลัย (การถือครองและการลงทุนที่สถาบันการศึกษาระดับสูง มูลนิธิ และองค์กรไม่แสวงหากำไรบางแห่งจัดการเป็นบัญชีออมทรัพย์ถาวรประเภทหนึ่ง) กับผู้จัดการเงินที่ได้กำไรจากบริษัทหรือผู้รับเหมาของอิสราเอล
นอกจากนี้ ยังมีการประท้วงต่อต้านอิสราเอลในวิทยาเขตหลายแห่ง โดยนักศึกษาชาวยิวบางคนกล่าวว่าการประท้วงดังกล่าวกลายเป็นการต่อต้านยิว (antisemitism) และทำให้พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัยในบริเวณมหาวิทยาลัยของตน
การประท้วงครั้งใหญ่ลุกลามทั่วประเทศหลังจากนักศึกษาตั้งค่ายที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์กเมื่อวันพุธที่ 17 เมษายน โดยเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยถอนตัวจากบริษัทที่พวกเขาอ้างว่า ‘ได้กำไรจากการแบ่งแยกสีผิวของอิสราเอล’
มันเป็นกลยุทธ์ของนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนปาเลสไตน์กลุ่มเล็กๆ ซึ่งวางแผนมาเป็นเวลาหลายเดือน “การประท้วงที่เกิดขึ้นตามมาจำนวนมากเป็นการกระทำที่ไม่มีการตระเตรียมใดๆ” เอเลีย ซัน นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจากโคลัมเบียกล่าว
แต่หลังจากตำรวจพยายามเคลียร์พื้นที่ตั้งแคมป์เมื่อวันที่ 18 เมษายน และจับกุมผู้ประท้วงได้ 108 คน กลับทำให้สถานการณ์ประท้วงตึงเครียดยิ่งกว่าเดิม ทั้งยังกระตุ้นให้นักศึกษาคนอื่นๆ ทั่วประเทศจัดกลุ่มประท้วงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก, มหาวิทยาลัยเยล, มหาวิทยาลัยแมรีวอชิงตัน, มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย, มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน, มหาวิทยาลัยจอร์เจีย, มหาวิทยาลัยเท็กซัส เป็นต้น
นักศึกษาต่างพากันตั้งแคมป์บริเวณมหาวิทยาลัย เดินขบวนประท้วง และหลายแห่งมีการปะทะกับตำรวจจนถูกจับกุมไปหลายราย นักศึกษาบางคนถูกพักการเรียน ถูกคุมความประพฤติ ขณะที่บางคนถึงขั้นโดนไล่ออก
“นักศึกษากำลังเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยหยุดลงทุนในบริษัทที่ผลิตอาวุธที่ใช้ในฉนวนกาซา…ประเด็นนี้ต้องส่งเสียงดังให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซาและสิ่งที่เกิดขึ้นในปาเลสไตน์นั้นไม่ใช่เรื่องปกติ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถทำตัวเหมือนทุกอย่างเป็นเรื่องปกติได้…นักศึกษาวางแผนที่จะพักค้างคืนให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือหลายสัปดาห์ จนกว่าความต้องการของพวกเขาจะได้รับการตอบสนอง”
อาลี อาบู ผู้จัดการประท้วงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา
การประท้วงลามข้ามทวีปไปฝรั่งเศสแล้ว!

การประท้วงในมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ใจกลางกรุงปารีสเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (29 เม.ย.) เพียง 3 วันหลังจากการประท้วงที่มหาวิทยาลัยซิยอง โป (Sciences Po) ในเมืองหลวงของฝรั่งเศส โดยพบว่ามีผู้ประท้วงราว 100 คนต่างพากันโบกธงปาเลสไตน์ขนาดยักษ์ และตะโกนคำขวัญเพื่อสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐฯ
ขณะที่นักการเมืองฝรั่งเศสหลายคน รวมถึงสมาชิกอาวุโสของพรรคฝ่ายซ้ายจัด ‘ลาฟร็องแซ็งซูมีซ’ (La France Insoumise / LFI) ได้ออกมาเรียกร้องบนโซเชียลมีเดียให้พลเมืองออกไปเข้าร่วมการประท้วงที่ซอร์บอนน์ก่อนหน้านี้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักศึกษาได้ประท้วงที่มหาวิทยาลัยซิยอง โป ในปารีสเป็นเวลาหลายวัน เพื่อเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซา แต่ตำรวจได้เข้ามาแทรกแซงเมื่อวันศุกร์ (26 เม.ย.) ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างผู้ประท้วงและกลุ่มสนับสนุนอิสราเอลประมาณ 50 คนซึ่งเข้ามาบริเวณที่เกิดเหตุ
สมาชิกพรรคฝ่ายขวาจากพรรคเลย์เคปู๊ปบลิเกน (Les Républicains) โพสต์บน X โดยกล่าวโทษการประท้วงว่าเป็น “ชนกลุ่มน้อยหัวรุนแรงที่เรียกร้องให้เกิดความเกลียดชังต่อต้านชาวยิว (anti-Semitic) และได้รับการสนับสนุนจากพรรค LFI และพันธมิตรอิสลามฝ่ายซ้าย”
แต่ผู้ประท้วงออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาต่อต้านชาวยิว
บางทีการประท้วงดังกล่าวเป็นเพียงเส้นแบ่งบางๆ ระหว่าง ‘เสรีภาพในการพูด’ และ ‘คำพูดแสดงความเกลียดชัง’

มาร์ค สโตน ผู้สื่อข่าวสหรัฐฯ ของสำนักข่าว Sky News ในนิวยอร์กกล่าวว่า
“ฉนวนกาซาเป็นตัวเร่ง อิสราเอลคือเป้าหมาย”
“เป็นที่แน่ชัดว่าตำแหน่งถูกยึดที่มั่น มุมมองมีการแบ่งขั้ว และมีอารมณ์สูงมาก ปัญหาที่ซับซ้อนกำลังถูกย่อให้อยู่ในรูปแบบที่เรียบง่ายที่สุดและเข้าใจง่ายที่สุด...บ่อยครั้งจึงสูญเสียความแตกต่างเล็กน้อย แม้กระทั่งในหมู่เจ้าหน้าที่ คณาจารย์ ก็ยังมีความเห็นแตกแยก อาจารย์ชาวยิวบางคนกังวลอย่างมากต่อความปลอดภัยของพวกเขา และคนอื่นๆ ก็ตีกรอบเรื่องนี้ด้วยวิธีที่แตกต่างออกไปมาก”
“เห็นได้ชัดว่ามีมุมมองที่หลากหลาย และตามคำจำกัดความแล้ว นั่นจะหมายถึงลัทธิหัวรุนแรงทั้งสองฝ่าย…นอกจากนี้ มันยังหมายถึงคำจำกัดความของการต่อต้านยิว หรือโรคกลัวอิสลาม (Islamophobia) ที่ถูกกลั่นกรองและเปิดให้ตีความได้ ดังนั้นจึงเป็นความสมดุลระหว่างการเคารพเสรีภาพในการพูดและการจำกัดเสรีภาพ เส้นแบ่งระหว่างเสรีภาพในการพูดและคำพูดแสดงความเกลียดชัง”
สโตนกล่าว