ใช้ชีวิตไง!!! เมื่อมือถือ-WiFi เป็นสิ่งต้องห้ามในเมืองกรีนแบงก์ของสหรัฐฯ

22 ก.ค. 2567 - 00:00

  • ยินดีต้อนรับสู่หมู่บ้านชนบทเล็กๆ ในเทือกเขาอัลเลเกนี เมืองกรีนแบงก์ รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย สหรัฐฯ และดินแดนแห่งนี้ที่ผ่านๆ มามีผู้คนอาศัยอยู่ไม่เคยเกิน 300 คน

  • เมืองแห่งนี้ได้รับการขนานนามให้เป็น ‘เมืองที่เงียบสงบที่สุดในโลก’ แต่มีข้อห้ามสุดแปลกคือ ห้ามใช้มือมือ-ห้ามเชื่อม WiFi แม้แต่ไมโครเวฟก็ห้ามใช้

why-does-this-us-town-green-bank-ban-wifi-cell-phones-SPACEBAR-Hero.png

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้นอกจากปัจจัย 4 ที่ขาดไม่ได้แล้วก็มี ‘โทรศัพท์มือถือ’ และ ‘อินเทอร์เน็ต’ นี่แหละที่แทบจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ที่ 6 ไปแล้วสำหรับใครหลายๆ คน แต่เคยจินตนาการไหมว่าถ้าเราไม่มีทั้ง 2 สิ่งนี้หรือไม่ได้ใช้มันเลยจะเป็นยังไง? จะทำได้ไหม? คำตอบก็คือ (บอกเลยว่ายาก!!!) หากไม่ได้ใช้ในเวลาไม่นานอาจทำได้ แต่ระยะยาวล่ะ (คงจะไม่มีทาง) เพราะต้องยอมรับว่ามันก็จำเป็นต่อการใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ 

แต่สำหรับสถานที่แห่งนี้ ‘มันเป็นเรื่องต้องห้าม!!!’ เพราะ ‘Wi-Fi’ และ ‘โทรศัพท์’ กลับกลายเป็น ‘สิ่งผิดกฎหมาย’ ไปซะงั้น แล้วผู้คนที่นี่ใช้ชีวิตกันยังไงล่ะ 

ยินดีต้อนรับสู่ เมืองกรีนแบงก์ รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย สหรัฐฯ ที่นี่เป็นหมู่บ้านชนบทเล็กๆ ตั้งอยู่ในเทือกเขาอัลเลเกนีอันเขียวชอุ่มทางตอนใต้ ซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 182 คนตามข้อมูลสำมโนประชากรปี 2022 ร้านอาหารร้านค้าก็มีเพียงไม่กี่ร้าน จนได้รับการขนานนามให้เป็น ‘เมืองที่เงียบสงบที่สุดในโลก’ 

ทำไม ‘Wi-Fi’ และ ‘โทรศัพท์’ เป็นสิ่งต้องห้าม

why-does-this-us-town-green-bank-ban-wifi-cell-phones-SPACEBAR-Photo01.png

นั่นก็เพราะว่าเมืองแห่งนี้อยู่ในเขตที่ตั้งของกล้องโทรทรรศน์โรเบิร์ต ซี. เบิร์ด กรีนแบงก์ (Robert C. Byrd Green Bank Telescope / GBT) กล้องโทรทรรศน์บังคับทิศทางขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และอยู่ในเขตพื้นที่ห้ามใช้วิทยุกระจายเสียงกว่า 13,000 ตารางไมล์ 

กฎข้อห้ามดังกล่าวบังคับใช้โดย ‘ตำรวจวิทยุประเภทพิเศษ’ ซึ่งจะออกตระเวนโดยตรวจหาคลื่นความถี่ที่ผิดปกติ นอกจากนี้ ยังมีรถลาดตระเวนที่เรียกว่า ‘Ghostbusters’ ติดสาอากาศและเซ็นเซอร์เพื่อตรวจสอบคลื่นรบกวน และตรวจให้แน่ใจว่าผู้คนในเมืองปฏิบัติตามกฎ แต่ทุกครั้งที่รถวิ่งไปตามถนน ผู้คนมักก็จะถอดปลั๊กไมโครเวฟออกเพื่อไม่ให้ถูกจับได้ 

กล้อง GBT ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1956 มีความสูงถึง 485 ฟุต (147 เมตร) ต้องไม่มีสัญญาณใดๆ รบกวนในบริเวณใกล้เคียงจึงจะใช้งานได้ กล้อง GBT นี้จะใช้ทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ โดยมีหน้าที่หลักๆ คือ ฟังเสียงกาแล็กซีที่จุดที่ห่างไกลที่สุดในจักรวาลและค้นหาสิ่งมีชีวิตในอวกาศ กล้อง GBT มีความไวสูงมากและสามารถฟังเสียงกระซิบแผ่วเบาที่สุดของจักรวาลได้ แน่นอนว่าโทรศัพท์มือถือที่โดยทั่วไปจะปล่อยพลังงานประมาณ 3 วัตต์นั้นสามารถกลบเสียงที่ส่งมาจากอวกาศได้ 

หมายความว่าผู้อยู่อาศัยที่นั่น 180 กว่าคนจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือ ทีวี บลูทูธ เราเตอร์ Wi-Fi หรือแม้แต่ไมโครเวฟก็เป็นสิ่งต้องห้าม หากต้องการโทรหาใครสักคนในขณะที่อยู่นอกบ้านและอยู่ห่างจากโทรศัพท์บ้านก็ต้องใช้ตู้โทรศัพท์แบบเก่า และหากใครฝ่าฝืนเชื่อมต่อออนไลน์จะมีโทษปรับ 50 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,800 บาท) 

เจย์ ล็อคแมน นักวิทยาศาสตร์บอกกับสำนักข่าว CNN ว่า “ในช่วง 5,000 ปีที่ผ่านมา มนุษย์สามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากสิ่งเหล่านี้ ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ดูเหมือนจะแปลกเล็กน้อยที่ในปัจจุบัน ผู้คนกลับพบว่าการไม่มีโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่น่าควรค่าแก่การพูดคุย” 

คนท้องถิ่นที่เติบโตที่นี่บอกว่า “มันธรรมดามาก”

แม้ว่าที่นี่อาจดูเหมือนเป็นจุดหมายปลายทางที่ไม่พึงปรารถนาสำหรับพลเมืองที่ชื่นชอบเทคโนโลยี แต่ก็มีผู้คนจำนวนหนึ่งย้ายเข้ามาในเมืองแห่งนี้เพราะต้องการตัดขาดจากโลกภายนอก หลีกหนีจากโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วย ‘Social Toxic’ และอยากใช้ชีวิตที่สงบใจอย่างแท้จริง 

แบร์รี ไบแอส วัยรุ่นท้องถิ่นคนหนึ่งเผยว่า เขาไม่ได้รู้สึกว่าขาดอะไรเพียงแค่เพราะไม่สามารถเข้าถึงบัญชีโซเชียลมีเดียได้ทันที นอกจากนี้ เขาไม่ได้รู้สึกกังวลใจที่ไม่สามารถส่งข้อความหาเพื่อนๆ ได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ “ผมเรียนอยู่ที่นี่ และคุณสามารถไปคุยกับพวกเขาได้เกือบตลอดเวลา คุณก็แค่เดินไปหาพวกเขาที่บ้าน หรือเดินหารอบๆ เมือง เมืองนี้ไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น”  

คนท้องถิ่นบอกอีกว่าถ้าต้องการใช้มือถือเล่นโซเชียลก็ต้องขับรถออกจากเมืองไปราว 80 กิโลเมตรเพื่อรับสัญญาณ 

แต่สำหรับบางคนเมืองนี้คือ ‘สวรรค์’

why-does-this-us-town-green-bank-ban-wifi-cell-phones-SPACEBAR-Photo02.png

ไดแอน ชู ชาวอเมริกันและสามีของเธอย้ายเข้ามาอยู่ในกรีนแบงก์เมื่อปี 2007 ก่อนหน้านี้ชูเคยอาศัยอยู่ที่เมืองซีดาร์ฟอลส์ รัฐไอโอวา ในปี 2002 เมื่อผู้ให้บริการไร้สายติดตั้งเสาส่งสัญญาณความถี่ใกล้กับฟาร์มของพวกเขา หลังจากนั้นชูก็มักจะปวดหัว กล้ามเนื้อกระตุก และมีอาการปวดเรื้อรัง เธอเชื่อว่าตัวเองเป็นโรคแพ้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ EHS (ปัจจุบันยังไม่ถือว่าเป็นโรคจริง ๆ ทางการแพทย์ และยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าเกิดจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจริง ๆ) เพราะเธอจะรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่ได้รับคลื่นความถี่วิทยุ 

“ฉันเหนื่อยมาก ตอนกลางคืนฉันนอนไม่หลับเลย ฉันมีผื่นขึ้น ผมร่วง ผิวหนังมีริ้วรอย และฉันคิดว่าเป็นเพราะสิ่งที่ฉันกินเข้าไป หรือไม่ก็เป็นเพราะอายุที่มากขึ้น” ชูเล่า แต่ไม่นานเธอก็เริ่มเชื่อมโยงความเจ็บปวดเข้ากับปัจจัยกระตุ้น เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือการขับรถผ่านเสาสัญญาณ เป็นต้น 

ต่อมาในปี 2007 ชูและสามีก็พบว่ามีเมืองที่จำกัดการปล่อยสัญญาณวิทยุ หรือ ‘Radio Quiet Zone’ จากนั้นพวกเขาจึงลองไปเยือน และชูเริ่มรู้สึกดีขึ้นทันที พวกเขาจึงตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่นี่ บ้านใหม่ในกรีนแบงก์ พวกเขาใช้โทรศัพท์บ้าน และใช้คอมพิวเตอร์ไม่เชื่อม Wi-Fi  

“ชีวิตที่นี่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ ไม่มีร้านขายของชำ ไม่มีร้านอาหาร ไม่มีโรงพยาบาลใกล้ๆ แต่อย่างน้อยฉันอยู่ที่นี่ สุขภาพฉันก็ดีขึ้น ฉันสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง ฉันไม่ต้องนอนปวดหัวอยู่บนเตียงตลอดเวลา” ชูเล่า และเธอยังเชื่อว่าผู้คนหลายสิบคนที่เป็นเหมือนกับเธอซึ่งย้ายเข้ามาในเมืองนี้เพื่อหลีกหนีความเจ็บปวดจากคลื่นไฟฟ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 

แล้วคุณล่ะ คิดว่าเมืองนี้น่าอยู่ไหม?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์