เคยมีคำกล่าวว่า
“เจ้าของเป็นอย่างไร สุนัขก็เป็นอย่างนั้น”
วลีนี้ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าไม่ใช่แค่ลักษณะท่าทาง หรือนิสัย แต่หน้าตาก็มีความคล้ายกันด้วย สิ่งเหล่านี้มันส่งต่อข้ามสายพันธ์ุกันได้ด้วยหรอ? คนกับสุนัขเนี่ยนะ? มันเป็นเพราะความผูกพันธ์ระหว่างเจ้าของกับเพื่อนขนฟูหรืออย่างไร?
ประเด็นนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากว่าเกิดขึ้นระหว่าง ‘คน’ ซึ่งมักจะพบเจอในหมู่พี่น้อง หรือเพื่อนสนิท ที่อยู่ด้วยกันนานก็มักจะซึมซับติดนิสัยกันมา หน้าตาคล้ายๆ กัน พูด หรืออุทานอะไรๆ พร้อมๆ กัน แต่งานวิจัยรับรองแล้วว่า ‘เจ้าของ’ กับ ‘สุนัข’ ก็มีลักษณะคล้ายกันได้
เพราะความผูกพันธ์ระหว่าง ‘เจ้าของ’ กับ ‘เพื่อนขนฟู’
“อิทธิพลที่มนุษย์มีต่อเพื่อนขนฟูไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ...แม้ว่าบุคลิกลักษณะของสุนัขประมาณ 1 ใน 3 เป็นทางพันธุกรรม แต่อีก 2 ใน 3 ถูกกำหนดโดยสภาพแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่ถูกหล่อหลอมโดยเจ้าของหากว่าสุนัขอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัขเล็กๆ สุนัขยังพร้อมที่จะวางใจเจ้าของด้วย เนื่องจากสุนัขถูกเลี้ยงดูมาเป็นเวลานานนับหมื่นปี ทำให้สุนัขผูกพันกับเราอย่างลึกซึ้ง”
บอร์บาลา ตูร์ซาน นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอิตเวิช โลรานด์ (ELTE) ในฮังการี ซึ่งศึกษาพฤติกรรมของสุนัข กล่าว
ตูร์ซาน เสริมว่า “...สุนัขสร้างความสัมพันธ์นี้กับมนุษย์ นี่คือพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างสุนัขกับมนุษย์...สุนัขมองเจ้าของเป็นแบบอย่าง และเชื่อใจเจ้าของของพวกมันอย่างสนิทใจ”
ตัวอย่างเช่น หากมีรถบรรทุกวิ่งมาและเสียงดังมาก สุนัขก็จะหันกลับมามองเจ้าของ หากเจ้าของไม่สนใจ สุนัขก็จะเรียนรู้ที่จะไม่สนใจ
จากการทดลองก่อนหน้านี้พบว่าลักษณะนิสัยของมนุษย์ ยกตัวอย่าง เจ้าของที่มีนิสัยไม่ค่อยชอบเข้าสังคม เราจะสามารถสังเกตพฤติกรรมของสุนัขได้อย่างชัดเจนว่า : สุนัขมักจะก้าวร้าวกับคนแปลกหน้า ขี้อาย หรือมักหลบอยู่หลังขาเจ้าของมากกว่า
“จริงๆ แล้ว เรามีความคล้ายคลึงกับสุนัขมากกว่าเพื่อน และคู่ครองของเรา”
ตูร์ซาน กล่าว
สุนัขและเจ้าของมีแนวโน้มที่จะแสดงลักษณะนิสัยที่คล้ายกัน สิ่งสำคัญคือความสัมพันธ์นี้ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยระยะเวลาที่สุนัขและเจ้าของใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน แต่หากว่าอยู่ด้วยกันนานหลายปี ทั้งเจ้าของและเพื่อนขนฟูก็อาจรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของกันและกันได้ เช่น เพื่อนขนฟูจะสามารถรับรู้ได้ถึงกลิ่นความเครียดของเจ้าของ ซึ่งนั่นจะส่งผลต่ออารมณ์ของเพื่อนขนฟูอาจทำให้พวกมันรู้สึกเครียด หรือหดหู่ตามไปด้วย
เป็นเรื่องน่าทึ่งเมื่อนึกถึงความสัมพันธ์นี้ที่เกิดขึ้นครั้งแรก มนุษย์เริ่มเลี้ยงสุนัขตั้งแต่เมื่อ 30,000 ปีก่อน เพื่อช่วยในการล่าสัตว์ แต่เราก็ค่อยๆ เพาะพันธุ์สัตว์เหล่านี้ตามแบบฉบับของเราเอง ทำให้เราสามารถสร้างสายสัมพันธ์ทางอารมณ์อันแน่นแฟ้นซึ่งข้ามพรมแดนธรรมชาติระหว่างสายพันธุ์ของเราได้
ปัจจุบัน หน้าตาเพื่อนขนฟูดูเหมือนเรา ทำตัวเหมือนเรา ไม่เหมือนกับมนุษย์คนอื่นๆ พวกมันตอบสนองความรู้สึกของเราเสมอ ในหลายๆ ด้าน พวกมันสะท้อนธรรมชาติที่แท้จริงของเราได้ดีกว่า ไม่น่าแปลกใจเลยที่ปัจจุบันเราจะมองว่าพวกมันเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์
ดูเหมือนว่าเพื่อนขนฟูจะหน้าตาคล้ายเจ้าของด้วย!

ผู้เชี่ยวชาญสังเกตว่า คนเรามักจะเลือกเลี้ยงเพื่อนขนฟูที่มีลักษณะคล้ายๆ กับตัวเอง หรือสะท้อนถึงตัวเองในทางใดทางหนึ่ง หรือบางทีอาจเป็นเพราะจิตใต้สำนึกก็เป็นได้
งานวิจัยซึ่งวิจัยซ้ำหลายครั้งของ ดร.ซาดาฮิโกะ นากาจิมะ ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2009 พบว่า ความคิดที่บอกว่า ‘สุนัขมีหน้าตาเหมือนเจ้าของ’ นั้นเป็นความจริง โดยสาเหตุหลักประการหนึ่งที่บ่งชี้ว่าสุนัขมีหน้าตาคล้ายกับเจ้าของก็คือ ทฤษฎี ‘mere exposure effect’ (ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่ผู้คนมักจะชอบหรือไม่ชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงเพราะคุ้นเคยกับสิ่งนั้น) หรือความคิดที่ว่าคนเราอาจเลือกเลี้ยงสุนัขที่มีหน้าตาคล้ายกับตัวเองเพียงเพราะชอบสิ่งที่คุ้นเคย
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ มนุษย์มักชอบสิ่งของที่คุ้นเคยซึ่งอาจช่วยอธิบายได้ว่า ‘ทำไมคนที่มีผมยาวจึงเลือกสุนัขที่มีหูยาวย้อย’ เป็นต้น งานวิจัยทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าความผูกพันทางอารมณ์ที่เรามีร่วมกับสุนัขอาจขยายไปถึงการมีหน้าตาที่คล้ายกันด้วย
ในขณะที่นักจิตวิทยาบางคนมองว่าเรื่องนี้เป็นผลมาจากวิธีที่มนุษย์วิวัฒนาการมาเพื่อค้นหาคู่ครอง การออกเดทกับคนที่หน้าตาเหมือนเรา ซึ่งอาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะรับรองได้ว่ายีนของเราเข้ากันได้ทางพันธุกรรมและเพิ่มโอกาสในการถ่ายทอดทางพันธุกรรม (ในเอกสารทางวิทยาศาสตร์ เรียกสิ่งนี้ว่า การเลือกคู่ครองตามความเหมาะสม หรือ การแสวงหาความชอบส่วนตัว) อันที่จริง การศึกษาวิจัยบางกรณีแสดงให้เห็นว่าคู่รักมักมีความคล้ายคลึงกันทางใบหน้ามากกว่าการจับคู่แบบสุ่ม
“มันคล้ายกับวิธีที่เรามองหาคู่ครองของเราด้วย...สุนัขและเจ้าของมี ‘ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก’…เทียบได้กับความสัมพันธ์ของมนุษย์หลายๆ ประการ”
ยานา เบนเดอร์ นักวิจัยระดับปริญญาเอกในกลุ่มวิจัย ‘DogStudies’ แห่งสถาบันวิจัย ‘Max Planck Institute of Geoanthropology’ ในเยอรมนี กล่าว