“การศึกษาที่มีคุณภาพช่วยให้เราสามารถต่อสู้กับสงครามแห่ง ‘ความไม่รู้’ และ ‘ความยากจน’ ได้”
ชาร์ลส์ เรนเกิล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวไว้
หากกล่าวถึงหนึ่งในระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกแล้ว คุณจะนึกถึงประเทศอะไร? สหรัฐฯ หรือ อังกฤษ ใช่ไหม? แต่เปล่าเลย…ดินแดนแห่งนี้ประสบความสำเร็จด้านปฏิรูปการศึกษาจนอยู่ระดับต้นๆ ของโลก เน้นที่ตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รับฟังสิ่งที่ผู้เรียนต้องการและปฏิบัติต่อพวกเขาในฐานะนักคิดอิสระของสังคม ที่สำคัญคือ ‘แทบจะไม่มีการบ้าน’ ‘ไม่มีการสอบ’ และ ‘ไม่มีเกรดเฉลี่ย’ ประเทศนั้นก็คือ ‘ฟินแลนด์’ เจ้าของแชมป์ดินแดนที่พลเมืองมีความสุขที่สุดในโลก 7 ปีซ้อนนั่นเอง
เพราะเหตุใดระบบการศึกษาที่นี่ถึงประสบความสำเร็จเช่นนี้? ความลับของฟินแลนด์คืออะไร?
-การศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นหลัก-
รัฐบาลฟินแลนด์มุ่งเน้นไปที่การทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยและเท่าเทียมกันเป็นหลัก โดยตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 โรงเรียนในฟินแลนด์ทุกแห่งให้ความสำคัญกับสิทธิ์พื้นฐานต่อไปนี้
- มีบริการอาหารในโรงเรียนฟรี
- การเข้าถึงการรักษาพยาบาล
- การให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตผ่านการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาสำหรับผู้เรียนทุกคน
- การแนะแนวสำหรับนักเรียนแต่ละคนเพื่อทำความเข้าใจความต้องการของตัวเอง
การศึกษาในฟินแลนด์ไม่เน้นการจัดอันดับและไม่มีการเปรียบเทียบ แต่เน้นสร้างบรรยากาศของความเท่าเทียมกันทางสังคม ความสามัคคี และความสุขให้กับผู้เรียนเพื่อผ่อนคลายกับการเรียนรู้
ผู้เรียนส่วนใหญ่จะทำงานที่ได้รับมอบหมายทุกอย่างให้เสร็จก่อนเลิกเรียน (ทำให้ไม่มีการบ้าน) เนื่องจากในแต่ละวันมีเรียนเพียงไม่กี่คาบ หรือเพียง 2 คาบ/วัน และไม่มีตารางเวลาที่เข้มงวดจึงทำให้ผู้เรียนไม่ค่อยมีภาวะเครียด แถมยังมีเวลาพักทานอาหาร ทำกิจกรรมสันทนาการ พักผ่อน และทำงานอื่นๆ ประมาณ 15-20 นาที
ครูในโรงเรียนจะเชื่อในกฎง่ายๆ ว่า ‘นักเรียนต้องมีความสุขเมื่อไปโรงเรียนเพื่อเรียนรู้’
ในแต่ละโรงเรียนจะมุ่งเน้นไปที่การสอนนักเรียนให้เป็นนักคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีส่วนร่วมในสังคม และตัดสินใจด้วยตัวเองว่าพวกเขาต้องการอะไร
-การสอบไม่สำคัญ!-

สิ่งที่มักเกิดขึ้นกับการทดสอบมาตรฐาน (standardized testing) ก็คือ ผู้เรียนเรียนรู้ที่จะเร่งอ่านหนังสืออย่างหนักเพียงเพื่อให้ผ่านการทดสอบ ขณะที่ครูจะสอนโดยมีวัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียวคือ ให้นักเรียนผ่านการทดสอบ ซึ่งนั่นทำให้การเรียนรู้นั้นมีความสำคัญน้อยหรือไม่มีเลย
แต่สำหรับที่นี่ฟินแลนด์ไม่มีการทดสอบมาตรฐาน เว้นแต่จะเป็นการทดสอบเพียงอย่างเดียวที่เรียกว่า ‘National Matriculation Exam’ หรือการทดสอบวัดผลโดยสมัครใจสำหรับนักเรียนที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อให้มีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย เด็กทุกคนทั่วฟินแลนด์จะได้รับการจัดระดับตามรายบุคคลโดยใช้ระบบการให้เกรด ขณะที่ทางกระทรวงศึกษาธิการจะคอยติดตามความคืบหน้าโดยรวม ซึ่งจะสุ่มกลุ่มตัวอย่างจากโรงเรียนต่างๆ
-ไม่เน้นการบ้านเยอะ-

นักเรียนในฟินแลนด์ถือว่ามีการบ้านน้อยมากเมื่อเทียบกับโรงเรียนในสหราชอาณาจักร และจากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ยังระบุอีกว่า นักเรียนในฟินแลนด์มี ‘การบ้านน้อยที่สุด’ เมื่อเทียบกับนักเรียนประเทศอื่นๆ ในโลก
พวกเขาใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้นในการทำการบ้าน แถมยังไม่ต้องกังวลกับเกรดเฉลี่ยหรือกลัวว่าได้การบ้านเยอะ นอกจากนี้ ที่ฟินแลนด์ยังไม่มีวัฒนธรรมการสอนพิเศษแบบส่วนตัวเพิ่มเติมอีกด้วย แต่การเรียนการสอนก็ยังได้ประสิทธิภาพ
-ไม่ต้องตื่นไปเรียนแต่เช้า-

โรงเรียนในฟินแลนด์มักจะเริ่มเรียนตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00-9.45 น. และมักจะเลิกเรียนเวลาประมาณ 14.00-14.45 น. ตรงกันข้ามกับประเทศส่วนใหญ่ที่โรงเรียนจะเริ่มเรียนตั้งแต่เวลาประมาณ 7.00-8.00 น. ขณะเดียวกันระหว่างคาบเรียนก็มีช่วงพักนาน 15-20 นาที
การวิจัยจากหอสมุดแพทยศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐฯ เผยให้เห็นว่า “การเริ่มเรียนเร็วเป็นอันตรายต่อความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพ และการเจริญเติบโตของนักเรียน”
ระบบการศึกษาโดยรวมของที่นี่ไม่นิยมสอนแบบยัดๆ ข้อมูลให้นักเรียน แต่เน้นสร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้แบบองค์รวมมากกว่า
-ครูเป็นเหมือนคนในครอบครัว-

นักเรียนในฟินแลนด์มักจะมีครูคนเดียวกันเป็นเวลาถึง 6 ปีตลอดการศึกษาของพวกเขา ในช่วงเวลานี้ ครูสามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือแม้แต่สมาชิกในครอบครัวได้ ความไว้วางใจและความผูกพันซึ่งกันและกันจะถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่าย (ครูและนักเรียน) รู้จักและเคารพซึ่งกันและกัน
ครูชาวฟินแลนด์สามารถอธิบายและเข้าใจความต้องการและรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไปของนักเรียนแต่ละคน ถึงขนาดที่ครูเหล่านี้สามารถจัดทำแผนภูมิและดูแลความก้าวหน้าได้อย่างแม่นยำ ซึ่งมันช่วยให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายได้
แล้วคุณคิดไหมว่าหากประเทศไทยของเราจะเลือกเคล็ดลับของฟินแลนด์มาสัก 1-2 ข้อ จะทำให้ระบบการศึกษาไทยดีขึ้นจากเดิมหรือไม่ จริงๆ แล้วเราเรียนเพื่อรู้เอาตัวรอด เอาความรู้ไปต่อยอด หรือเพื่อสอบแข่งขันกันแน่?