อินโดนีเซียเพิ่งฉลองวันประกาศอิสรภาพครบรอบ 79 ปีเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่เมืองนูซันตารา (Nusantara) ในจังหวัดกาลีมันตันตะวันออก ว่าที่เมืองหลวงใหม่ในอนาคตที่ยังสร้างไม่เสร็จซึ่งริเริ่มโครงการมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว แต่แว่วมาว่าการก่อสร้างนั้นกลับล่าช้ากว่ากำหนด แถมยังสร้างไม่ใกล้เสร็จสมบูรณ์เลยเนื่องจากขาดเงินทุน รวมถึงขาดการสนับสนุนจากคนในพื้นที่ นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญบางคนก็คัดค้านโครงการก่อสร้างด้วย
การย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตามาที่นูซันตาราเป็นที่ถกเถียงกันมานานหลายปี แต่ในท้ายที่สุด โจโค วิโดโด หรือโจโควี อดีตประธานาธิบดีคนก่อนก็ประกาศแผนการสร้างเมืองหลวงใหม่นี้เมื่อปี 2019 ด้วยความหวังที่จะลดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเกาะชวาและเกาะอื่นๆ ในประเทศ และลดความหนาแน่นของประชากรในจาการ์ตา เนื่องจากมีประชากรอาศัยอยู่เยอะ
จาก ‘จาร์กาตา’ สู่ ‘นูซันตารา’ ทำไมอินโดฯ ต้องย้ายเมืองหลวง
‘จาการ์ตา’ ที่กำลังจะกลายเป็นอดีตเมืองหลวงในอนาคตอันใกล้นี้ตั้งอยู่บนเกาะชวา และเป็นเมืองหลวงมาตั้งแต่ประเทศประกาศเอกราชจากเนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1945 (เนเธอร์แลนด์ยอมรับเอกราชของอินโดฯ ในอีก 4 ปีต่อมามา) ซึ่งจริงๆ แล้ว แนวคิดที่จะย้ายเมืองหลวงของอินโดฯ ออกจากจาการ์ตามีมาตั้งแต่ยุคแรกของการประกาศเอกราช
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กรุงจาการ์ตาขยายตัวเมืองอย่างรวดเร็ว ประกอบกับสูบน้ำใต้ดินมากเกินไปจนกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่ทรุดตัวเร็วที่สุดในโลก แถมพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึงที่อยู่อาศัยจำนวนมากโดยเฉพาะในเขตมหานครจาการ์ตา หรือจาการ์ตาตอนบน (กรุงจาการ์ตา และปริมณฑล = เขตมหานครจาการ์ตา) ซึ่งเป็นเขตมหานครที่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุดราว 30 ล้านคน ก็ถูกทำลายไปเนื่องจากน้ำท่วม และดูเหมือนว่าจะรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเพราะระดับน้ำทะเลชวาสูงขึ้น
ทั้งนี้พบว่าพื้นที่ของเขตมหานครบางส่วนทรุดตัวมากถึง 25 ซม.ต่อปี ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญประมาณการว่าบางส่วนของเขตมหานครจะไม่สามารถอยู่อาศัยได้ หรืออาจเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งภายในปี 2030 และพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองอาจจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมดภายในปี 2050
ส่วนแรงจูงใจอื่นๆ ในการย้ายเมืองหลวงก็อาจเป็นเพราะรัฐต้องการกระจายความมั่งคั่ง และกิจกรรมต่างๆ ให้ทั่วถึงกันมากขึ้นทั่วประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมา เศรษฐกิจของอินโดฯ นั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะชวามาโดยตลอด
ในปี 2022 คณะกรรมการที่รับผิดชอบการวางแผนสร้างเมืองหลวงใหม่ กล่าวว่า “การย้ายเมืองหลวงออกจากจาการ์ตาเป็น ‘สถานการณ์ที่เลี่ยงไม่ได้’ เนื่องจากเมืองและเกาะชวาต้องเผชิญกับภาวะตึงเครียดอย่างมากจากปัจจัยต่างๆ เช่น การจราจรติดขัด มลพิษทางสิ่งแวดล้อม และประชากรหนาแน่น”
อย่างไรก็ตาม แผนการย้ายเมืองหลวงดังกล่าวเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันทางการเมืองและด้านโลจิสติกส์มาอย่างยาวนาน แม้แต่แผนการสร้างเมืองนูซันตาราที่โจโควีประกาศเป็นครั้งแรกในปี 2019 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของผลกระทบของการสร้างเมืองใหม่ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาซึ่งมีความสำคัญทางนิเวศวิทยา นอกจากนี้ รัฐบาลก็ยังถูกตั้งคำถามด้านการจัดสรรงบมาสร้างเมืองหลวงใหม่อีกด้วย
‘นูซันตารา’ เมืองหลวงใหม่บนพื้นที่ป่าอันห่างไกล
‘นูซันตารา’ ว่าที่เมืองหลวงใหม่บนเกาะบอร์เนียวครอบคลุมพื้นที่ 2,600 ตารางกิโลเมตรท่ามกลางผืนป่าดิบชื้น แต่เพิ่งจะดำเนินการสร้างเมื่อช่วงกลางปี 2022 ด้วยงบประมาณราว 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.2 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือล่าช้ากว่ากำหนดไปมาก
ตามแผนของ ‘Capital Authority’ หน่วยงานรัฐ ระบุว่า ในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า นูซันตาราจะเติบโตเป็นเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชิงพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย สำนักงานรัฐบาล และระบบขนส่งมวลชนในเมือง
แม้ว่าความยั่งยืนจะเป็นหลักการสำคัญของแผนการสร้างเมืองหลวงใหม่ แต่โครงการนี้กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้สนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่โต้แย้งว่าการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อสร้างเมืองใหม่นั้นไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ผู้วางแผนการสร้างก็หวังว่าเมืองหลวงแห่งใหม่จะไม่เจอชะตากรรมเดียวกันกับจาการ์ตา โดยเรียกนูซันตาราว่าเป็น ‘เมืองฟองน้ำ’ ที่สามารถดูดซับน้ำฝนลงในดินจึงป้องกันน้ำท่วมได้
นอกจากนี้ภายในปี 2035 ยังมีการตั้งเป้าว่านูซันตาราจะช่วยลดอัตราความยากจนให้เหลือ 0% และภายในปี 2045 ก็ตั้งเป้าอีกว่าเมืองหลวงใหม่แห่งนี้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
เจออุปสรรคงบประมาณสร้างเมืองหลวงใหม่ ‘ไม่พอ’

ตามแผนที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ การสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.2 ล้านล้านบาท) และคาดว่าจะสร้างเสร็จภายในปี 2045 แต่แว่วมาว่างบการสร้างกลับเจอปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ
รัฐบาลต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินทุนจากภาคเอกชนแม้ว่าจะยังไม่เริ่มก่อสร้างในเดือนสิงหาคม 2022 ก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลต้องการจ่ายเพียง 20% ของค่าใช้จ่าย ส่วนที่เหลือให้นักลงทุนเอกชนเป็นผู้จ่าย และรัฐต้องการเงิน 9.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 แสนล้านบาท) ภายในสิ้นปี 2024 แต่ในเดือนมิถุนายน รัฐได้รับเงินจากจากผู้สนับสนุนในประเทศทั้งหมดเพียง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.7 แสนล้านบาท) เท่านั้น
แม้จะมีกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นเข้ามาลงทุน แต่มันก็ยังไม่เพียงพอ แถมโครงการนี้ยังล้มเหลวในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศด้วย ทั้งๆ ที่รัฐบาลโฆษณาว่าบริษัทต่างชาติให้ความสนใจโครงการอย่างมากก็ตาม
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาบอกว่า “บริษัทต่างชาติน่าจะลังเลที่จะลงทุนการสร้างเมืองบนพื้นที่ป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของอุรังอุตังและลิงจมูกยาว”
“พวกเขาไม่อยากลงทุนในสิ่งที่ต้องแลกมาด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ” ไอดา กรีนเบอรี ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนของอินโดนีเซีย กล่าว
อย่างไรก็ดี ความล่าช้าในการก่อสร้างนั้นหมายความว่า รัฐบาลสร้างเสร็จไม่ทันตามกำหนดสำหรับโครงการระยะแรก ซึ่งประธานาธิบดี คณะรัฐมนตรี และข้าราชการจำนวนหนึ่งต้องย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองหลวงแห่งใหม่ในเดือนนี้ ประกอบกับการลาออกอย่างกะทันหันของหัวหน้าและรองผู้อำนวยการหน่วยงานกำกับดูแลโครงการ โดยที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้อธิบายถึงเหตุผลในการลาออก มันจึงยิ่งตอกย้ำความไม่แน่นอนของโครงการเพิ่มมากขึ้นไปอีก
แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ ปราโบโว ซูเบียนโต ที่ใกล้จะได้เข้ามาบริหารประเทศในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ได้ให้คำมั่นว่าจะสานต่อนโยบายของโจโควีต่อไป รวมถึงโครงการเงินทุนใหม่ด้วย แต่ภาคธุรกิจยังคงไม่แน่ใจว่านี่จะเป็นวาระหลักหรือไม่ เนื่องจากผู้นำคนใหม่มีแผนการใช้จ่ายในโครงการอื่นๆ มากมายทีเดียว
ดราม่าสร้างนูซันตาราทำลายสิ่งแวดล้อม และทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป...

อย่างที่ทราบกันดีว่าโครงการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่บนผืนป่าดิบชื้นหลายพันตารางกิโลเมตรถูกคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชนพื้นเมืองมาตั้งแต่แรกๆ แล้วว่า “โครงการนี้จะทำลายสิ่งแวดล้อม ลดขนาดแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เช่น อุรังอุตัง อีกทั้งยังทำให้ชนพื้นเมืองที่ต้องพึ่งพาที่ดินในการหาเลี้ยงชีพต้องไร้ที่อยู่อาศัย”
ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อว่าเมืองหลวงใหม่จะเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับปัญหาการทรุดตัวของจาการ์ตา หรือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะกระจายความมั่งคั่ง และหลายคนมองว่านี่เป็นความพยายามของโจโควีที่จะสร้างมรดกอันยิ่งใหญ่ โดยสังเกตได้จากทำเนียบประธานาธิบดีที่ตัวโครงสร้างมีรูปร่างเหมือน ‘ครุฑในตำนาน’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ
“นูซันตาราทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป”
ปานดี ชาวชุมชนพื้นเมืองบาลิกกล่าว
ครอบครัวของปานดีอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้และพึ่งพาธรรมชาติมาเป็นเวลาเจ็ดชั่วอายุคน เขาได้เห็นความเสียหายที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมมาหลายทศวรรษแล้ว
แมปปาแซล ผู้อำนวยการกลุ่มสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น ‘Pokja Pesisir’ เผยว่า “จนถึงขณะนี้ ป่าชายเลนทั้งหมด 1,700 เฮกตาร์ (17 ตารางกิโลเมตร) ถูกทำลายแล้ว” เขากังวลว่าป่าชายเลนทั้งหมดประมาณ 12,000 เฮกตาร์ (120 ตารางกิโลเมตร) ที่เรียงรายอยู่ริมอ่าวบาลิกปาปันอาจเสี่ยงต่อการคุกคามของโครงการก่อสร้าง “ยิ่งตัดป่าชายเลนมากเท่าไหร่ ภัยพิบัติก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น” แมปปาแซล กล่าวเสริม
การทำลายป่าชายเลนอาจทำให้ตะกอนในอ่าวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตะกอนเกาะติดกับเหงือกของปลาบางชนิด ทำให้ไข่ของปลาตาย และปะการังเสียหาย นอกจากนี้ยังทำให้น้ำขุ่น ส่งผลให้หญ้าทะเลไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ เมื่อหญ้าทะเลหายไป พะยูนซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่บางครั้งเรียกว่า ‘วัวทะเล’ ก็ไม่มีอะไรกิน
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจทำให้ชุมชนประมงในพื้นที่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องอพยพออกไป “วิธีที่ง่ายที่สุดในการขับไล่ชาวประมงออกจากพื้นที่คือ การทำลาย 3 ส่วนสำคัญของทะเล ได้แก่ ป่าชายเลน หญ้าทะเล และปะการัง จะไม่มีปลาเหลือให้ชาวประมงจับได้อีกแล้ว” แมปปาแซล กล่าว
“พื้นที่ชุ่มน้ำหลายพันเฮกตาร์ถูกทำลายไปเพราะโครงการดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่ออินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ เนื่องจากป่าชายเลนทำหน้าที่ดูดซับและกรองคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ”
นักนิเวศวิทยาในพื้นที่บอกกับสำนักข่าว The Guardian
ขณะเดียวกัน ฟาตูร์ โรซิคิน เฟน ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคจากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซีย (WALHI) ก็กล่าวว่า “ฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้ต้นไม้เป็นสีเทา และส่งผลเสียต่อสุขภาพปอดของคนในพื้นที่ ดินเหนียวที่ถูกขุดขึ้นมาถูกชะล้างเข้าไปในป่าชายเลน และทับถมลงในอ่าวบาลิกปาปัน...การก่อสร้างและการดำรงอยู่ของนูซันตาราจะทำให้ระบบนิเวศของอ่าวบาลิกปาปันรวน”
อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลจะแก้ปัญหาด้วยการออกแผนปลูกป่าทดแทน แต่ก็ประสบความล้มเหลว เนื่องจากปลูกแต่พันธุ์ไม้ต่างถิ่น และปลูกส่งเดชไปยังงั้น โดยตั้งแต่ปลายปี 2022 จนถึงสิ้นปี 2023 พบว่า ทางกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ ปลูกป่าทดแทนบนพื้นที่นูซันตาราเพียง 1,441 เฮกตาร์ (14.41 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กน้อยของเป้าหมายรัฐบาลที่จะปลูกป่าทดแทนให้ได้ 120,000 เฮกตาร์ (1,200 ตารางกิโลเมตร) จนถึงปี 2045
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกแผนแม่บท 4 ประการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโครงการก่อสร้างนูซันตารา ดังนี้ :
- หลีกเลี่ยง : หลีกเลี่ยงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใกล้กับแหล่งที่อยู่อาศัยหรือแหล่งเพาะพันธุ์ของสายพันธุ์ที่สำคัญ
- ลดผลกระทบให้น้อยที่สุด : ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางโครงการก็จะพยายามให้กระทบสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัยให้น้อยที่สุด เช่น การสร้างเส้นทางเทียมแบบอุโมงค์ลอดใต้ทางด่วนเพื่อให้สัตว์ป่าเดินข้ามจากป่าคุ้มครองสุไหงเวียน (Sungai Wain) ไปยังอ่าวบาลิกปาปันได้
- ฟื้นฟู : ทางโครงการจะต้องคืนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องฟื้นฟูบริการทางระบบนิเวศ เช่น การปลูกป่าปลูกต้นไม้
- ชดเชย : ใช้มาตรการอนุรักษ์เพื่อชดเชยผลกระทบที่ตกค้างต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดจากกิจกรรมของโครงการ
“สุสานพ่อแม่ของผมอยู่ใกล้บ้านหลังนี้ ถ้าผมต้องจากไป ผมก็ต้องละทิ้งประเพณี มรดกของบรรพบุรุษ และความทรงจำทั้งหมดที่นี่”
ปานดี กล่าวทิ้งท้ายด้วยความกังวลว่าชุมชนพื้นเมืองของเขาจะถูกทำลาย