เวลาล่วงเลยมา 1 เดือนกว่าแล้ว แต่ดูเหมือนว่าสงครามอิสราเอล-ฮามาสท่าจะไม่จบง่ายๆ เมื่ออิสราเอลยังยืนยันจะสู้ต่อจนกว่าจะได้รับชัยชนะ แม้สัญญาว่าจะหยุดยิงวันละ 4 ชั่วโมงก็ดูจะไม่มีผลอะไร แถมการปะทะยังรุนแรงขึ้นในทุกๆ วัน
และแน่นอนว่าเป้าหมายหลักตอนนี้อิสราเอลกลับมุ่งเป้าไปที่ ‘โรงพยาบาลอัล-ชีฟา’ (al shifa hospital) เพราะพวกเขาเชื่อว่าหน่วยบัญชาการฐานทัพหลักของฮามาสอยู่ในอุโมงค์ข้างใต้โรงพยาบาลแห่งนี้ แม้สหรัฐฯ จะออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ไฟเขียวให้อิสราเอลโจมตีโรงพยาบาล ขณะที่นานาชาติต่างออกมาประณามว่า “โรงพยาบาลไม่ใช่สนามรบ” “การกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน” และ “หากยังโจมตีโรงพยาบาลต่อไป อิสราเอลจะถูกทั่วโลกมองว่าเป็นรัฐผู้ก่อการร้าย”
แต่ดูเหมือนว่ากองทัพอิสราเอลจะไม่สะทกสะท้านต่อคำประณามและเสียงเรียกร้องแต่อย่างใด แล้วทำไมอิสราเอลถึงพุ่งเป้าไปที่โรงพยาบาลอัล-ชีฟา มันมีอะไรอยู่ที่นั่นกันแน่?
แล้วทำไมอิสราเอลถึงต้องโจมตีโรงพยาบาลอัล-ชีฟา?
อิสราเอลให้คำตอบว่า ‘พวกเขาต้องการดูแลความมั่นคงของฉนวนกาซาในอนาคต ในประเด็นนี้พวกเขาเห็นต่างกับพันธมิตรหลักอย่างสหรัฐฯ เนื่องจากวอชิงตันไม่ได้ต้องการให้อิสราเอลเข้าปกครองกาซา’ แต่อิสราเอลยังคงยืนหยัดว่าจะทำลายล้างกลุ่มฮามาสให้สิ้นซาก ดังนั้นปฏิบัติการภาคพื้นดินจึงต้องขยายออกไป และการเข้ายึดโรงพยาบาลหลักในเมืองจึงเป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์นั้น
อิสราเอลต้องการรื้ออัล-ชีฟาเพราะถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางหน่วยงานบริหารของรัฐบาลกาซา และยังเป็นฐานที่มั่นทางทหารของกลุ่มฮามาส โดยอิสราเอลเชื่อว่าการบุกโรงพยาบาลจะส่งผลกระทบต่ออนาคตของการเจรจาปล่อยตัวนักโทษ และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นอย่างยิ่ง
แต่ถึงกระนั้นการกำหนดเป้าหมายไปที่โรงพยาบาลก็กลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางด้วยเช่นเดียวกัน
ตามรายงานพบว่า อิสราเอลมุ่งเป้าไปที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและหน่วยสื่อสารก่อนที่จะบุกเข้ามา ขณะที่ทางกองทัพเองก็ใช้เวลาหลายวันในการค่อยๆ กระชับวงรอบโรงพยาบาลลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีภาคพื้นดิน แต่ขณะนี้กองทหารอิสราเอลได้บุกเข้าไปในโรงพยาบาลและกระจายกำลังไปทั่วทุกด้านของโรงพยาบาล ทั้งทำลายอาคารห้องผ่าตัด ตั้งจุดตรวจอิเล็กทรอนิกส์ไว้ที่ประตูหลายบานของอาคารหลัก และอุปกรณ์การแพทย์ก็ถูกรื้อถอนทั้งหมด
คาเดอร์ นักข่าวซึ่งอยู่ที่โรงพยาบาลอัล-ชีฟาบอกกับสำนักข่าว BBC ว่ากองกำลังอิสราเอล (IDF) เข้าควบคุมโรงพยาบาลโดยสมบูรณ์และไม่มีเหตุกราดยิงเกิดขึ้น “มีรถถัง 6 คันและหน่วยคอมมานโดประมาณ 100 นายเข้ามาในบริเวณดังกล่าวช่วงกลางคืน”
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า IDF ขอให้ผู้ชายทุกคนที่มีอายุ 16-40 ปีออกจากอาคารของโรงพยาบาลไปที่ลานของโรงพยาบาล ยกเว้นชายที่อยู่ในแผนกศัลยกรรมและแผนกฉุกเฉิน
ขณะเดียวกันก็ยังพบว่ามีผู้คนหลายพันคน ซึ่งรวมถึงชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่นจำนวนมากที่ลี้ภัยไปอยู่ที่นั่น ผู้ป่วยอาการวิกฤตไม่มีที่ไป และเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งยังติดอยู่ในโรงพยาบาล
คำถามก็คือ ‘ฮามาสอยู่ในโรงพยาบาลหรือไม่?’

อิสราเอลยืนกรานว่าเหตุผลที่ปิดล้อมโรงพยาบาลที่สำคัญที่สุดในฉนวนกาซาก็เพราะพวกเขาเชื่อว่ามีศูนย์บัญชาการหลักของฮามาสที่ปฏิบัติภารกิจโดยใช้ฐานใต้โรงพยาบาลอยู่ข้างล่าง และตัวประกันก็อาจถูกนำตัวมาซ่อนไว้ที่นี่ก็เป็นได้ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าตัวประกันจำนวนหนึ่งที่ฮามาสจับไปนั้นถูกควบคุมตัวมาไว้ที่นี่หรือเปล่า
เมื่อเย็นวันพุธ (15 พ.ย.) ที่ผ่านมา IDF ระบุว่า “กองกำลังได้พบศูนย์บัญชาการ อาวุธ และทรัพย์สินทางเทคโนโลยีที่เป็นของกลุ่มฮามาสภายในอาคารตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) แต่กองกำลังยังไม่พบร่องรอยใดๆ ของตัวประกัน 240 คน และโรงพยาบาลจะยังคงเปิดดำเนินการต่อไป”
ในวิดีโอความยาว 7 นาที โจนาธาน คอนริคัส โฆษก IDF ชี้ไปที่กล้องวงจรปิดที่เขาบอกว่าถูกปกปิดไว้ และอาวุธที่เขาบอกว่าเป็นปืนไรเฟิลจู่โจม AK47 ซึ่งซ่อนอยู่หลังเครื่องสแกน MRI
ขณะที่ BBC ยังไม่สามารถยืนยันวิดีโอหรือตำแหน่งของวิดีโอได้ เว้นเสียแต่ว่าอิสราเอลจะเปิดเผยมากกว่านี้
“ทว่าปฏิบัติการอันเป็นที่ถกเถียงดังกล่าวกลับไม่พบคลังอาวุธที่มากพอ หรืออาจเพราะฮามาสรู้ว่าอิสราเอลกำลังจะบุกมา ดังนั้น หากพวกเขาปฏิบัติการอยู่ใต้โรงพยาบาลจริง พวกเขาก็จะมีเวลาหลายสัปดาห์ในการเคลียร์เครือข่ายอุโมงค์ที่กว้างขวางนี้ได้ทัน” ออร์ลา กัวลีน นักข่าว BBC รายงาน
ดร.อาห์เหม็ด โมคัลลาลาตี ศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลอัล-ชีฟาบอกกับ BBC ว่า “มีเพียงพลเรือนเท่านั้นที่อยู่ในโรงพยาบาล มีอุโมงค์อยู่ใต้อาคารทุกหลังในฉนวนกาซา รวมถึงโรงพยาบาลอัล-ชีฟาด้วย แต่โรงพยาบาลได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษในช่วงสงครามตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ”
ทั้งนี้ IDF กล่าวว่า พวกเขาได้เตือนฮามาสหลายครั้งแล้วว่า “การใช้โรงพยาบาลเป็นเกราะกำบังเพื่อจุดประสงค์ทางทหารต่อไปนั้นเป็นอันตรายต่อสถานะโรงพยาบาลที่ได้รับความคุ้มครอง”
“แต่สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าอิสราเอลจะได้รับอนุญาตให้โจมตีอย่างเสรีด้วยเช่นเดียวกัน” คอร์ดูลา ดรอจ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศกล่าว
Photo by Dawood NEMER / AFP