ไขประตู ‘นอร์เวย์’ ทำไมถึงมีความเป็น ‘ประชาธิปไตย’ มากสุดในโลก

16 มิ.ย. 2566 - 10:56

  • ไขความลับ ‘นอร์เวย์’ ทำไมถึงได้อันดับ 1 ‘ความเป็นประชาธิปไตย’ มากที่สุดในโลกไปครอง?

  • เปิดประตูสู่ดินแดนพระทิตย์เที่ยงคืน ประเทศนี้มีแต่ ‘เสรีภาพ’

why-norway-best-democracy-in-the-world-SPACEBAR-Thumbnail

ประชาธิปไตย คือ รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน อับราฮัม ลินคอร์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐฯ ได้กล่าวไว้

หากพูดถึงความเป็น ‘ประชาธิปไตย’ ของแต่ละประเทศบนโลกใบนี้คงจะไม่เหมือนกันซะทีเดียว ทั้งที่ก็ใช้รูปแบบการปกครองเหมือนกัน แต่ทำไมเสถียรภาพของรัฐบาลและเสรีภาพของประชาชนถึงต่างกัน นั่นก็เพราะว่า รากฐานการเมืองแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน 

บางประเทศกว่าจะได้ประชาธิปไตยเป็นของตัวเองต้องต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมและชนชั้นศักดินาจนกลายเป็นสงครามนองเลือดมาแล้วก็มีอย่างสหรัฐฯ ฝรั่งเศส เป็นต้น ทว่าประชาธิปไตยที่ว่าอำนาจเป็นของ ‘ประชาชน’ เห็นทีจะไม่ใช่เสียแล้ว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6nhh52ZcE8PokvHDvV59YQ/bdbfbb67750ba3e2497b3a71136b4599/________________________-2__1_
จะเห็นได้ว่าอำนาจส่วนใหญ่ในหลายประเทศจะตกอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง เช่น ‘ประธานาธิบดี’ หรือไม่ก็ ‘นายกฯ’ ในบางประเทศมี ‘ทหาร’ ขึ้นมาเป็นใหญ่ในรัฐบาลด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมีประเทศหนึ่งบนโลกใบนี้ทางยุโรปเหนือจากกลุ่มนอร์ดิกที่ได้ชื่อว่ามี ‘ความเป็นประชาธิปไตย’ มากที่สุดและเป็นอันดับที่ 1 ในปี 2023 

ประเทศนั้นก็คือ ‘นอร์เวย์’ ดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืนนั่นเอง ที่ประเทศแห่งนี้วางรากฐานรัฐบาลประชาธิปไตยยังไง? มาทำความรู้จักดินแดนแห่งนี้กัน 

นักการเมืองมีจิตสำนึก ‘ห่วงใยประเทศ’ 

ย้อนกลับไปเมื่อรัฐธรรมนูญของนอร์เวย์ร่างขึ้นเมื่อปี 1814 หลังจากที่นอร์เวย์แยกตัวออกจากสหภาพกับเดนมาร์กซึ่งอยู่กันนานถึง 434 ปี เพราะได้รับอิทธิพลจากประเพณีทางการเมืองของอังกฤษ รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ และแนวคิดการปฏิวัติฝรั่งเศส  

รัฐสภานอร์เวย์ หรือ ‘สตูติงเงอ’ (Storting) จะจัดการเลือกตั้งสมาชิกจำนวน 169 คนผ่านระบบสัดส่วนผู้แทนในเขตหลายสมาชิกทุกๆ 4 ปี โดยพลเมืองทุกคนที่มีอายุอย่างน้อย 18 ปีจะมีสิทธิ์เลือกตั้งและเต็มใจที่จะลงทะเบียนเพื่อลงคะแนนเสียง โดยพบว่า 78% ในจำนวนนี้ลงทะเบียนในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเทียบกับ 58% ในสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ การจัดการเลือกตั้งทางตรงก็เป็นไปอย่างยุติธรรมและเสรีบนเวทีการเมืองที่พรรคการเมืองต่างๆ เป็นตัวแทนประชาชนอย่างเสรี และมีที่ว่างสำหรับฝ่ายค้านอยู่เสมอ 

ว่ากันว่ากุญแจสู่ความสำเร็จของนอร์เวย์ คือ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งดูแตกต่างจากสภานิติบัญญัติในรัฐสภาหลายๆ รูปแบบ เนื่องจากสภา Storting ของนอร์เวย์ไม่สามารถยุบได้ในช่วงระยะเวลา 4 ปีของการดำรงตำแหน่ง ด้วยความที่รัฐสภาเป็นระบบแบบหลายพรรคจึงเน้นที่การทำงานร่วมกันว่าจะบรรลุเป้าหมายในแต่ละนโยบายได้อย่างไร  

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ชาวนอร์เวย์รู้สึกเหมือนว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย พวกเขายอมรับว่านักการเมืองของพวกเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชนชั้นนำบางประเภท แต่เป็นเพียงคนธรรมดา และดูเหมือนว่านักการเมืองที่นี่ก็ไม่ได้เงินเดือนมากขนาดนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าทำงานเพราะ ‘ห่วงใย’ อนาคตของประเทศ 

ถึงกระนั้นเพราะรัฐบาลของนอร์เวย์เป็นแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดีจึงมีการตรวจสอบและถ่วงดุลที่ดีกว่าระบบของสหรัฐฯ  

“ในสหรัฐฯ คุณมีระบบประชาธิปไตยที่ต่างออกไป มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย และมันขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนสำคัญแค่ไหน และคุณสำคัญหรือไม่ หรืออะไรก็ตาม…แต่ในนอร์เวย์ เราพยายามรักษาไว้เพื่อไม่ให้นักการเมืองได้เงินมากขนาดนั้น คุณทำเพราะคุณห่วงใยประเทศและอนาคต” แมตทิส ลินสตัด ชาวนอร์เวย์วัย 23 ปีกล่าว 

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบค่าจ้างพื้นฐานสำหรับสมาชิกวุฒิสภาและผู้แทนของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 174,000 ดอลลาร์ (ราว 6.05 ล้านบาท) แต่ในนอร์เวย์อยู่ที่ 108,000 ดอลลาร์ (ราว 3.75 ล้านบาท)  

‘สิทธิเสรีภาพ’ เป็นของ ‘ประชาชน’ จริงๆ

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/WnZwPtoQklkzUedQVstDe/8a3a43a42f4c1b2e65f930e00d725c6a/why-norway-best-democracy-in-the-world-SPACEBAR-Photo01
หากพูดถึงสิทธิเสรีภาพของพลเมืองนอร์เวย์เรียกได้ว่า พวกเขาสามารถใช้ได้อย่างเต็มที่โดยเป็นอิสระจากการแทรกแซงที่ไม่เหมาะสมในการเลือกทางการเมืองของพวกเขา และจะไม่มีหน่วยงานทางทหาร ต่างชาติ หรือศาสนาใดที่กดดันผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย 

ขณะเดียวกันผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยก็ได้รับสิทธิทางการเมืองอย่างเต็มที่และมีโอกาสในการเลือกตั้ง ซึ่งพบว่าในภายหลังจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2021 ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี 50% เป็นของผู้หญิง และ 45% ของสมาชิกรัฐสภาก็ยังเป็นผู้หญิงอีกด้วย  

ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยและกลุ่ม LGBT+ ก็ได้รับการแก้ไขผ่านกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่เข้มงวดและการคุ้มครองต่างๆ สำหรับคู่รักเพศเดียวกัน 

หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง มีสิทธิมีเสียงทางการเมืองโดยสมบูรณ์ 

“ชาวนอร์เวย์มีส่วนร่วมในการเมือง และฉันคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีมาก” ทอริส แฮซสไตลส์ ชาวนอร์เวย์วัย 62 ปีกล่าว 

นอกจากนี้ เสรีภาพของสื่อมวลชนยังได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญและได้รับการเคารพในทางปฏิบัติแบบที่ชาวนอร์เวย์สามารถเข้าถึงข่าวสารและความเห็นจากช่องทางอิสระที่หลากหลาย โดยในปี 2017 ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (ECtHR) ได้ตัดสินว่ารัฐบาลนอร์เวย์ไม่สามารถบังคับให้นักข่าวเปิดเผยแหล่งข่าวได้ แม้ว่าแหล่งข่าวจะนำเสนอโดยอิสระก็ตาม 

และสำหรับเสรีภาพในการนับถือศาสนานั้นพลเมืองยังได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ ทว่าอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่มีแรงจูงใจทางศาสนาเมื่อปี 2020 ได้ส่งผลให้รัฐบาลเปิดตัวแผนปฏิบัติการเพื่อต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติและความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมด้วย 

นอร์เวย์กระจายเงินทุนไว้ที่ ‘กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ’

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3BXnFQlLMkKxa3hDITaP1V/549db06c7acafb48318e675dadb2a2cb/why-norway-best-democracy-in-the-world-SPACEBAR-Photo02
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นอร์เวย์กลายเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตย คือ ความมั่งคั่งและเงินทุนที่หมุนเวียนภายในประเทศจึงทำให้เกิดการคอร์รัปชันน้อย 

และนอร์เวย์โชคดีที่ค้นพบน้ำมันนอกชายฝั่งเมื่อ 20 หรือ 30 ปีที่แล้วซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของประเทศอีกด้วย ทั้งยังติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศชั้นนำของโลกด้าน GNP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) ต่อหัว และมีมาตรฐานการครองชีพสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก  

ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีน้ำมันสำรองมากมาย แต่นอร์เวย์กลับนำกำไรส่วนใหญ่ที่ได้จากน้ำมันไปสนับสนุน ‘กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ’ (Sovereign Fund) ซึ่งปัจจุบันเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ความได้เปรียบของนอร์เวย์ก็คือ ต้องการน้ำมันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะมีประชากรในประเทศเพียง 5 ล้านกว่าคน ส่วนน้ำมันเกือบทั้งหมดก็จะถูกขายไปที่อื่น 

ทั้งนี้ พบว่ารายได้ประจำปีจากกองทุนดังกล่าวเมื่อปี 2018 เกินรายได้จากการขายน้ำมัน ซึ่งตามกฎหมายแล้ว มีเพียงร้อยละ 4 ของมูลค่าสุทธิของเงินทุนเท่านั้นที่รัฐบาลนอร์เวย์สามารถดึงออกมาใช้ได้ 

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ แล้วพบว่า ช่องว่างระหว่างพลเมืองที่ร่ำรวยที่สุดและยากจนที่สุดนั้นต่ำกว่า มาก อีกทั้งผู้คนใช้เวลาทำงานน้อยลงและมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ พลเมืองยังจ่ายภาษีที่ค่อนข้างสูง และรัฐบาลเองก็ไม่กลัวที่จะใช้จ่ายจำนวนมากในโครงการของรัฐ เช่น โรงเรียน การดูแลสุขภาพ และสวัสดิการว่างงานจำนวนมาก 

ถึงกระนั้น หากพินิจพิจารณาตั้งแต่ภูมิหลังของประเทศ ‘นอร์เวย์’ แล้วก็ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมถึงได้อันดับ 1 ความเป็น ‘ประชาธิปไตย’ ไปครอง พลเมืองในประเทศแทบไม่ค่อยดิ้นรนเพื่อหลีกหนีความยากจนเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าต่อให้เสียภาษีสูง แต่ก็ยังได้รับสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพจากรัฐตอบแทนอยู่ดี 

เข้าคอนเซ็ปต์ที่ว่า ‘ชีวิตดีๆ ที่ลงตัวหาได้ที่นอร์เวย์’ เมื่อประเทศมีนักการเมืองมองผลประโยชน์ของชาติมากกว่า ก็นำไปสู่การคอร์รัปชันที่น้อยกว่า นโยบายและสวัสดิการเข้าถึงประชาชน รวมถึงสิทธิเสรีภาพก็กระจายอย่างทั่วถึงด้วยซึ่งต่างกับประเทศที่ถูกอำนาจครอบครองอย่างสิ้นเชิง นอกจากประชาชนไม่มีความสุขแล้วยังแทบจะหาเสรีภาพไม่ได้เลยด้วยซ้ำ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1i1KxRUDT3moEmHzeCR2YD/5d1b4921d9f163ea1c3b045009bd6b42/________________________-1__1_

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์