ทำไม ‘กาตาร์’ ถึงก้าวขึ้นมาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ‘อิสราเอล-ฮามาส’

29 พ.ย. 2566 - 08:36

  • กาตาร์ถือเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามามีบทบาทในช่วงต้นๆ ของความขัดแย้งเพื่อทำข้อตกลงระหว่าง 2 ฝ่าย

why-qatar-involved-negotiations-between-israel-hamas-SPACEBAR-Hero.jpg

ทุกสายตาบนโลกกำลังจับจ้องมาที่ประเทศเล็กๆ อย่าง ‘กาตาร์’ กับบทบาทผู้เจรจาสำคัญในสงครามระหว่างอิสราเอล และฮามาส ท่ามกลางการไกล่เกลี่ยเพื่อพักรบและแลกเปลี่ยนตัวประกันกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ แม้ว่าจะมีพันธมิตรจากสหรัฐฯ อียิปต์ มาช่วยเจรจา ทว่ากาตาร์ถือเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามามีบทบาทในช่วงแรกๆ ของความขัดแย้งเพื่อทำข้อตกลงระหว่าง 2 ฝ่าย  

เหตุใดรัฐอ่าวเล็กๆ นี่จึงมีบทบาทสำคัญขนาดนี้?  

ย้อนกลับไปในปี 1995 สมัยนั้น ชีค ฮาหมัด บิน คาลิฟา อัล ธานี (Sheikh Hamad bin Khalifa Al Thani) เป็นประมุขของกาตาร์ ได้วางตำแหน่งตัวเองในฐานะ ‘คนกลางในตะวันออกกลาง’  

มาห์จูบ ซไวรี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยกาตาร์ บอกกับ Sky News ว่า บทบาทของกาตาร์ในฐานะคนกลางไม่ใช่เรื่องใหม่ 

มันคือการเตรียมพร้อมที่จะพูดคุยกับผู้มีอำนาจนอกรัฐ ชนเผ่า และกลุ่มติดอาวุธที่ประเทศตะวันตกไม่ได้อยากพูดคุยกับพวกเขา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลุ่มต่างๆ เหล่านั้นรวมถึงกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน กบฏซีเรีย กลุ่มฮามาส และกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์อื่นๆ เช่น ญิฮาดอิสลามด้วย นอกจากนี้กาตาร์ยังมีความใกล้ชิดกับอิหร่าน โดยทั้ง 2 ประเทศใช้แหล่งก๊าซธรรมชาติร่วมกันซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ  

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์เหล่านี้ทำให้กาตาร์อำนวยความสะดวกในการทำข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ ยุโรป และอิสราเอล และกลุ่มเหล่านั้น โดยได้รับอิทธิพลจากทั้ง 2 ฝ่าย 

เมลานี การ์สัน รองศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศและการแก้ไขข้อขัดแย้งที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน กล่าวว่า คุณลักษณะที่กำหนดนโยบายต่างประเทศของกาตาร์คือผลประโยชน์ส่วนตนเชิงปฏิบัติ ‘เป็นมิตรกับทุกคน แต่เป็นมิตรที่ไม่มีใครอยากยุ่ง’ 

ความสัมพันธ์กับกลุ่มฮามาส 

เช่นเดียวกับประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ กาตาร์มีความเชื่อมโยงมาอย่างยาวนานกับประเด็นปัญหาของชาวปาเลสไตน์ และสนับสนุนการแก้ปัญหาแบบสองรัฐ ในปี 2012 อดีตประมุขชีค ฮาหมัด กลายเป็นผู้นำอาหรับคนแรกที่ไปเยือนฉนวนกาซาในรอบหลายปี 

กาตาร์ให้เงินแก่กลุ่มฮามาสประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นที่มั่นให้กับผู้นำฮามาส ซึ่งมีผู้นำหลายคนที่ถูกเนรเทศและไปอาศัยอยู่ที่โดฮา แม้ว่านี่จะเป็นรัฐแรกที่สร้างความสัมพันธ์กับอิสราเอลในปี 1996 แต่ก็ตัดความสัมพันธ์อีกครั้งในปี 2009 หลังจากสิ่งที่อิสราเอลทำสงครามกาซา (Operation Cast Lead) ซึ่งชาวปาเลสไตน์เรียกว่า ‘การสังหารหมู่’ ในฉนวนกาซา 

นอกจากนี้กาตาร์ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาอับราฮัมปี 2020 ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำให้ประเทศอาหรับอย่างสหรัฐอิมิเรตส์ และบาห์เรน มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นปกติกับอิสสราเอล  

“ในบรรดารัฐอ่าวเปอร์เซียทั้งหมด กาตาร์เป็นมิตรต่ออิสราเอลน้อยที่สุด เนื่องจากตั้งอยู่นอกแกนของสนธิสัญญาอับราฮัม ดังนั้น กาตาร์จึงเป็นที่เดียวที่กลุ่มฮามาสสามารถอยู่ได้อย่างสบายใจ” การ์สันกล่าว 

สิ่งนี้ทำให้กาตาร์สามารถไกล่เกลี่ยได้ทั้งความขัดแย้งในปัจจุบันและที่เกิดขึ้นในปี 2014 ได้ 

ความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ 

สหรัฐฯ และรัฐทางตะวันตกอื่นๆ ได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือของกาตาร์ในการเจรจาข้อตกลงกับมหาอำนาจที่พวกเขามองว่าเป็นความประสงค์ร้าย 

ในช่วงสงครามกลางเมืองซีเรียในปี 2017 สงครามดังกล่าวช่วยเจรจาปล่อยตัวตัวประกันที่ถูกคุมขังในอิรัก ซึ่งบางคนรวมถึงสมาชิกในครอบครัวผู้ปกครองของกาตาร์ด้วย ในปี 2019 ตุรกีเป็นประธานในการเจรจาที่นำไปสู่การปล่อยตัวประกันชาวตะวันตก 2 คนที่ถูกกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานจับตัวไป 

กาตาร์ยังเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง ซึ่งหมายความว่าชาวอเมริกันดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของตนเองในทางปฏิบัติ 

ส่วนที่เหลือของโลกคิดอย่างไร? 

ซไวรีกล่าวว่า รัฐทางตะวันตกมองว่ากาตาร์เป็น ‘คนที่น่าเชื่อถือ’ ซึ่งเข้าใจทั้งพันธกรณีระหว่างประเทศและการเมืองของภูมิภาค เป้าหมายหลักคือการหยุดยิงในฉนวนกาซา หลีกเลี่ยงคนรุ่นใหม่หัวรุนแรง และเสถียรภาพโดยรวมของภูมิภาค 

ทว่าการ์สันกลับมองต่างออกไป และบอกว่า กาตาร์มีช่องทางสนับสนุนที่ชัดเจนแก่กลุ่มฮามาส ดังนั้นจึงอาจเป็นการพยายามยืนยันอิทธิพลของตัวเองต่อกลุ่มฮามาสอีกครั้งเพื่อพยายามหันเหจากสิ่งที่อาจถูกมองว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดกับฮามาสจนนำไปสู่สิ่งนี้  

“ความจริงก็คือนี่ไม่ใช่การเจรจาที่ควรจะเกิดขึ้น ควรมีข้อเรียกร้องจากนานาชาติที่ชัดเจนสำหรับการปล่อยตัวตัวประกันอย่างไม่มีเงื่อนไข ดังนั้น ฉันคิดว่านักการทูตหรือผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศที่มีประสบการณ์จะเห็นได้ทันที นี่เป็นการเจรจาที่น่ารังเกียจ แต่ในตำแหน่งนั้น ชาติตะวันตกต้องยอมรับตัวแทนใดๆ ก็ตามที่สามารถช่วยเหลือได้” การ์สันกล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์