สื่อนอกตั้งคำถาม ทำไมคนไทยบางคนที่ทำผิดถึงต้องไป ‘บวชพระ’?

7 ก.ค. 2566 - 09:50

  • เคยสงสัยไหมว่า ‘ทำไมคนที่ทำผิดถึงต้องไปบวชพระ?’ เพราะต้องการให้สังคมให้อภัย? หรือเพราะเสียใจจริงๆ?

  • แต่บางครั้ง ‘ชายผ้าเหลือง’ ก็มาในรูปแบบอาชญากรด้วยเหมือนกัน

why-some-people-in-thailand-become-monks-after-committing-crimes-SPACEBAR-Thumbnail

‘แค่บวช…ก็ถือว่า ‘ชดเชย’ ความผิดได้?’

หรือเป็นการแสดงความ ‘จริงใจที่จะขอโทษ’

Time ระบุว่า จากกรณีที่เกิดเหตุเรื่องร้ายแรงเมื่อถังดับเพลิงระเบิดขณะที่มีการสาธิตการใช้งานในโรงเรียนราชวินิต กรุงเทพฯ ซึ่งทำให้นักเรียนเสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บอีกประมาณ 10 ราย 

แม้ว่าอุบัติเหตุดังกล่าวจะจุดประกายความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของถังดับเพลิงที่ใช้ในห้องเรียน ขณะที่คนอื่นๆ กำลังเรียกร้องความรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของนักเรียน แต่บางคนกลับเลือกที่จะชดใช้ด้วยวิธีแบบไทยๆ นั่นก็คือ การบวชเป็นพระสงฆ์เพียงชั่วขณะหนึ่ง 

ในงานศพของเด็กชายวัย 18 ปี ปรากฏให้เห็นพนักงานดับเพลิง 4 คนที่เกี่ยวข้องกับการเหตุสลดครั้งนั้นซึ่งถูกตั้งข้อหาว่าประมาทเลินเล่ออยู่ในสภาพโกนหัวและสวมจีวรเหลือง ตามธรรมเนียมแล้วเรียกว่า ‘การบวชหน้าไฟ’ หรือ ‘บวชหน้าศพ’ 

คำถามก็คือ ‘การบวชเป็นพระสงฆ์ = วิธีการแก้บาปที่แปลกใหม่?’

ทว่าดูเหมือนว่าการปฏิบัติดังกล่าวนั้นกลายเป็นเรื่องปกติในประเทศไทยซะแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ที่สร้างความเสียหายในทางสาธารณะ ซึ่งสำหรับชาวพุทธแล้ว การบวชเป็นวิธีการสูงสุดในการแสดงความจริงใจและการขอโทษ 

แต่บางคนก็กังวลว่า การบวชในลักษณะนี้กลับกลายเป็นวิธีที่คนผิดเลือกใช้มากขึ้นเพื่อบำบัดพฤติกรรมที่ไม่ดี และทำให้ชื่อเสียงของพระพุทธศาสนาเสื่อมเสียไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นก็ยิ่งทำให้ผู้ที่เดิมทีก็ไม่ศรัทธาอยู่แล้วยิ่งไม่ชอบศาสนาพุทธเข้าไปใหญ่ 

“แม้ว่าตามธรรมเนียมแล้วพิธีกรรม ‘การบวชหน้าไฟ’ นี้จะสงวนไว้สำหรับญาติทางสายโลหิตของผู้เสียชีวิตเท่านั้น แต่บางครั้งก็ขยายไปถึงผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวด้วย…ในทางปฏิบัติ วัดไทยจะอนุญาตให้ใครก็ตามบวชหน้าไฟได้ไม่กี่วัน 1 สัปดาห์ หรือ 2-3 เดือน โดยครอบครัวของผู้ตายจะเป็นผู้ยินยอม” เกษวดี กุหลาบแก้ว นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาของไทยกล่าวกับสำนักข่าว TIME  

อย่างไรก็ดี เพราะการเข้าอุปสมบทและการลาสิกขาจากการเป็นพระภิกษุนั้นมีอุปสรรคน้อย และหลายคนในประเทศไทยก็เลือกที่จะบวชเป็นพระด้วยเหตุผลหลายประการ แต่โดยปกติแล้วก็เพื่อ ‘ทำบุญ’ หรือ ‘บวชทดแทนพระคุณพ่อแม่’ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติของชาวพุทธในการสั่งสมกรรมดี 

“คำสอนทางพุทธศาสนาดั้งเดิมกล่าวว่าการบวชเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (ซึ่งสามารถส่งต่อไปยังผู้ตายในโลกหน้าได้) แต่ไม่สามารถลบล้างบาปของใครได้ ดังนั้นการบวชในงานศพจึงเป็นการชดเชยมากกว่าการไถ่บาป”  

“เพื่อแสดงให้สังคมเห็นว่าคุณรู้สึกเสียใจ ห่วงใย หรือขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อผู้วายชนม์ การบวชจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่คุณทำได้ด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้พวกเขา” เกษวดีกล่าว 

‘บวชแก้บน’ และแสดงความ ‘ขอบคุณอย่างสุดซึ้ง’

นอกจากนี้ ในอีกกรณีหนึ่งเมื่อย้อนกลับไปในปี 2018 ที่ทีมฟุตบอลเยาวชนติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนเป็นเวลานานถึง 9 วันและสามารถออกมาได้ด้วยการช่วยเหลือจากทีมกู้ภัยมากมายหลายประเทศ 

ทว่าหลังจากภารกิจปฏิบัติการกู้ภัยที่สะเทือนขวัญคนทั้งโลกเสร็จสิ้นลง เด็กๆ ก็บวชเป็นสามเณรและใช้ชีวิตอยู่ที่วัดนานกว่า 1 สัปดาห์เพื่อแก้บนที่ครอบครัวของพวกเขาขอสิ่งศักสิทธิ์ไว้เพื่อแลกกับการกลับมาอย่างปลอดภัยและเพื่อเป็นเกียรติแก่อาสาสมัครนักดำน้ำที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/xqf33aNtS2YzUS33Mtava/b9b550607c62443172bfa5cbbd2b502e/why-some-people-in-thailand-become-monks-after-committing-crimes-SPACEBAR-Photo01
Photo: AFP
“ชีวิตของพวกเขาจะเปลี่ยนไปในเวลานี้ ประสบการณ์นี้จะช่วยให้พวกเขาเห็นคุณค่าพ่อแม่และทำให้พวกเขาได้ลิ้มรสพระธรรม” เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบอกกับนักข่าวในเวลานั้น 

สมภาร พรมทา อาจารย์ประจำสาขาวิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยกล่าวกับ TIME ว่า “เป็นเรื่องปกติที่ผู้คนจะแสวงหาการอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ในช่วงเวลาจำกัดหลังจากสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น เพื่อเป็นการ ‘แสดงความรับผิดชอบทางศีลธรรม’ และ ‘ทำบุญให้กับผู้ที่ได้รับอันตรายจากพวกเขา’” 

“การบวชแบบนี้มักใช้เวลาสั้นๆ โดยปกติประมาณ 7 วัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นรู้สึกดีทั้งต่อตนเองและผู้ถูกทำร้าย” 

บวชเพื่อ ‘ชดเชยความผิด’?

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ตกเป็นข่าวดังในประเทศไทยต้องย้อนกลับไปในปี 2019 เมื่อนักธุรกิจผู้มั่งคั่งต้องบวชเป็นพระหลังตกเป็นข่าวเมาแล้วขับเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย นอกจากนี้เขายังตกลงที่จะจ่ายเงินจำนวน 45 ล้านบาทเพื่อชดเชยความเสียหายให้กับครอบครัวของเหยื่ออีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม ทว่าการบวชก็ไม่ได้มาพร้อมกับการให้อภัยในหมู่มวลสาธารณชนเสมอไป อย่างในปีที่แล้ว (2022) จากอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกครั้งที่สร้างความเดือดดาลให้กับคนไทยทั้งประเทศ หลังตำรวจหนุ่มนายหนึ่งซิ่งมอเตอร์ไซค์พุ่งชนหมอหญิงคนหนึ่งเสียชีวิตบนทางม้าลาย (คดีหมอกระต่าย) แต่หลังจากเกิดอุบัติเหตุในครั้งนั้น ทั้งเขาและพ่อได้บวชเป็นพระเพื่อทำบุญให้กับเหยื่อ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ความโกรธของสาธารณชนหยุดเดือดพล่านลงได้เลย 

เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนของเมืองและผู้ขับขี่ที่ประมาทเลินเล่อ ขณะที่ตำรวจวัย 21 ปีรายนี้ยังถูกกดดันให้สึกจากการเป็นพระสงฆ์หลังจากบวชได้เพียง 3 วัน เนื่องจากประชาชนแสดงความกังวลว่าเขาไม่เหมาะสมที่จะบวช 

“คนไทยจำนวนมากหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ว่าการทำบุญสามารถชดเชยได้เมื่อพวกเขาทำผิดพลาด ราวกับว่าอาชญากรรมและการทำบุญเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน”

ทัศนคตินี้ส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อสังคม เนื่องจากเป็นการตอกย้ำแนวคิดที่ว่า ใครก็ตามตั้งแต่บุคคลธรรมดาไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองสามารถแลกหนี้กรรมของตนได้ด้วยการแสดงความรู้สึกผิดต่อสาธารณะ แต่ยังคงทำผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรมแบบเดิมซ้ำอีก

คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เขียน

ภายใต้ผ้าเหลืองนั้น…เป็นที่ซ่อนตัวของ ‘อาชญากร’ ด้วย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4BetjV7YLP7v3HW5YeulfF/2d524ff591ddc12f8c278b7baa7d7071/why-some-people-in-thailand-become-monks-after-committing-crimes-SPACEBAR-Photo02
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ชื่อเสียงของพระสงฆ์ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย ซึ่งผู้ชายส่วนใหญ่จำเป็นต้องอยู่ในฐานะพระสงฆ์ (ชายผ้าเหลือง) ชั่วคราวในบางช่วงของชีวิต (บวชทดแทนคุณ) 

แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าอาชญากรบางคนก็หลบภัยจากการเป็นพระภิกษุสงฆ์เพื่อหลบหนีตำรวจและปลีกตัวออกจากโลกภายนอก ในขณะเดียวกันก็มีรายงานเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่กระทำผิดทางอาญาด้วยเช่นกัน ตั้งแต่การฟอกเงินไปจนถึงการค้ายาเสพติด หรือแม้กระทั่งการฆาตกรรม  

เมื่อมีข่าวในลักษณะนี้หลุดออกมาบ่อยครั้ง มันจึงบั่นทอนความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อพระสงฆ์ตามไปด้วย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์