คนสูงวัยเกาหลีใต้ผันตัวทำงานเพิ่มขึ้น! สะท้อนปัญหาเงินบำนาญ-สังคมสูงอายุ

15 พ.ค. 2567 - 09:24

  • ปัญหาเงินบำนาญที่ต่ำเกินไปในเกาหลีใต้กำลังผลักดันให้พลเมืองสูงวัยจำนวนมากผันตัวหางานทำเพิ่มขึ้น

  • นอกจากปัญหาเงินบำนาญ คือ การค้นหาคุณค่าในตัวเอง ได้ทำประโยชน์ให้สังคมและหาเงินด้วยตัวเองอีกครั้ง

why-south-korea-seniors-are-rejoining-the-workforce-SPACEBAR-Hero.jpg

โดยปกติแล้วคนส่วนใหญ่เมื่อทำงานถึงอายุ 60-70 ก็มักจะเกษียณตัวเองหาเวลาพักผ่อน ทำกิจกรรมยามว่างและไปเที่ยวแล้ว แต่ในเกาหลีใต้กลับตรงกันข้าม พลเมืองอาวุโสจำนวนมากตัดสินใจที่จะกลับมาทำงานอีกครั้ง เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น? 

ทุกวันนี้นอกจากรถไฟใต้ดินในกรุงโซลของเกาหลีใต้จะเป็นรูปแบบการคมนาคมที่สำคัญสำหรับผู้พักอาศัยในเมืองหลวงอันคึกคักแล้ว ยังกลายเป็นแหล่งรายได้อันมีค่าสำหรับชาววัยอาวุโสจำนวนมากที่ต้องพึ่งพาเครือข่ายรถไฟฟ้า เช่น การเดินส่งสินค้าด้วยการโดยสารผ่านรถไฟฟ้าใต้ดิน 

การโดยสารรถไฟใต้ดินในเครือข่ายรถไฟใต้ดินนั้นฟรีสำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ดังนั้นบริษัทขนส่งบางแห่งจึงนิยมจ้างคนงานสูงอายุเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย 

โจซองหวู่ อดีตวิศวกรโรงงานวัย 71 ปี ซึ่งทำงานเป็นคนส่งของของบริษัทจัดส่งเอกสาร (บริษัทจ้างเฉพาะพนักงานจัดส่งผู้สูงอายุเท่านั้น) โดยใช้บริการผ่านรถไฟใต้ดินเพื่อส่งสินค้า โจจะเดินตามเส้นทางที่แสดงบนแอปฯ ในโทรศัพท์มือถือของเขาเพื่อไปยังที่อยู่ของผู้รับ หลังจากฝากพัสดุแล้ว เขาก็กลับมาที่ออฟฟิศเพื่อจัดส่งพัสดุอีกรอบ 

“ถ้าผมทำงานเต็มวัน ผมจะได้เงินประมาณ 40,000 วอนเกาหลี (ราว 1,075 บาท) ถ้าผมทำงานไม่เต็มวัน ผมจะได้เงินประมาณ 20,000-30,000 วอน (ราว 500-800 บาท) ผมสามารถขออนุญาตและออกไปได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ข้อได้เปรียบของงานนี้คือ ‘อิสรภาพ’” โจเล่า 

พลเมืองอาวุโสจำนวน 1 ใน 4 มีงานทำ 

ประธานาธิบดี ยุนซอกยอล ของเกาหลีใต้ กล่าวระหว่างการประชุมสื่อเมื่อวันพฤหัสบดี (9 พ.ค.) ว่าเขาจะพยายามมากขึ้นเพื่อสร้างงานให้กับผู้สูงอายุ และยังให้คำมั่นที่จะขึ้นเงินบำนาญด้วย 

คนงานส่วนใหญ่ในประเทศถูกกดดันให้เกษียณอายุภายในอายุ 60 ปี และมักจะต้องลดระดับเป็นงานที่ด้อยโอกาสหากต้องการกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง ปัจจุบัน 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปมีงานทำ และมากกว่า 40% อยู่ในงานที่ใช้ทักษะต่ำ 

หลายคนทำเช่นนั้นเพื่อเสริมเงินบำนาญอันน้อยนิด ยกตัวอย่าง เงินบำนาญของโจที่ได้ไม่เกิน 150,000 วอนต่อเดือน (ราว 4,000 บาท) ส่วนเหตุผลอื่นๆ นอกจากเรื่องเงินบำนาญ คือการแสวงหาความพึงพอใจและการใช้เวลาให้มีประโยชน์ขึ้น 

“หลังเกษียณ ผมมักจะใช้เวลากับงานอดิเรก เช่น ท่องเที่ยว แต่มันก็ค่อนข้างไร้ความหมาย ผมกำลังมองหาบางสิ่งบางอย่างที่ช่วยเติมเต็มชีวิต” โจบอกกับสำนักข่าว CNA จากนั้นเขาก็ได้งานส่งของ หลังมีคนแนะนำให้ลองทำ “งานนี้ส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ และในขณะเดียวกัน เราก็สามารถหารายได้พิเศษได้” โจกล่าวเสริม 

สะท้อนปัญหาเงินบำนาญต่ำ…ก้าวสู่สังคมสูงวัย

ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็นประมาณ 19% ของประชากรเกาหลีใต้ทั้งหมดเกือบ 52 ล้านคน โดยภายในปี 2050 จำนวนประชากรดังกล่าวอาจสูงถึง 44% เนื่องจากประชากรจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วและอัตราการเกิดต่ำเป็นประวัติการณ์ เมื่ออายุขัยเพิ่มขึ้น ก็มีความกลัวว่าผู้สูงอายุจะใช้เวลาหลังเกษียณนานขึ้นโดยไม่มีรายได้หรือเป้าหมาย 

แต่กลุ่มเบบี้บูมเมอร์รุ่นใหม่ที่รักอิสระ และมักจะได้รับการศึกษา กำลังเปิดประตูและเปลี่ยนการรับรู้ 

“หลังจากเลี้ยงลูกและดูแลหลานแล้ว ฉันก็พบว่าตัวเองรู้สึกเหมือนต้องการการมีส่วนร่วมจากชุมชน ฉันออกมาเพื่อหาประสบการณ์เป็นหลัก เพื่อดูว่าฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง และเพื่อสำรวจเส้นทางต่างๆ_” คิมนันฮยัง คนหางานวัย 69 ปีซึ่งเป็นแม่บ้านมาตลอดชีวิตกล่าว_ 

หญิงสูงวัยรายนี้ติดต่อศูนย์สนับสนุนการจ้างงานอาวุโสในกรุงโซล ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในการหางาน “ฉันสนใจที่จะทำงานเกี่ยวกับการอธิบาย เช่น เป็นอาจารย์ที่พิพิธภัณฑ์กิมจิ แต่ฉันไม่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ” เธอบอกกับ CNA ว่าทางศูนย์ได้แนะนำให้เธอรู้จักกับโอกาสต่างๆ

“หากฉันสามารถทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์สังคมไปพร้อมๆ กับเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ฉันคิดว่ามันคงจะคุ้มค่ามากกว่า มันจะทำให้ฉันรู้สึกภาคภูมิใจในความสามารถของฉัน ฉันยังคิดที่จะเริ่มต้นธุรกิจด้วย”

นันฮยังเล่า

ผู้ให้คำปรึกษาจากศูนย์จัดหางานแนะนำว่าผู้หางานสูงอายุจำนวนมากต้องการความมั่นใจว่าพวกเขายังคงช่วยเหลือสังคม และสามารถสร้างความแตกต่างในที่ทำงานได้

“โดยทั่วไปแล้วพวกเขาจะเริ่มต้นด้วยคำถามเช่น ‘ฉันทำงานได้ไหม’ และ ‘มีสถานที่ที่จ้างผู้อาวุโสหรือไม่’ เพราะหลายแห่งขาดข้อมูล พวกเขามักจะรู้สึกไม่แน่ใจเกี่ยวกับงานประเภทที่พวกเขาสามารถทำได้ และทักษะใดบ้างที่พวกเขาต้องการ…แม้ว่าแต่ละเขตจะให้บริการให้คำปรึกษาด้านงาน แต่ศูนย์เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะดึงดูดคนอายุน้อย ส่งผลให้ผู้อาวุโสถูกมองว่าเป็นคนชายขอบ”

พัคจูอิม ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการจ้างงานอาวุโสแห่งกรุงโซลกล่าว

จริงๆ แล้วรัฐควรแก้ปัญหาที่เงินบำนาญ หรือเพิ่มโอกาสจ้างงานพลเมืองสูงวัย…หรือ (ทั้งคู่)

why-south-korea-seniors-are-rejoining-the-workforce-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by ANTHONY WALLACE / AFP

เกาหลีใต้มีอัตราความยากจนในวัยชราสูงที่สุดในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในกลุ่มเศรษฐกิจ 38 ประเทศ ซึ่งมีเกาหลีใต้เป็นสมาชิก 

ผู้สูงอายุชาวเกาหลีใต้ 4 ใน 10 มีเงินไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของพวกเขา 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว เนื่องจากมีการขยายความคุ้มครองเงินบำนาญอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมุ่งเน้นที่การสร้างงานสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้นตามงบประมาณของรัฐบาล 

“แทนที่จะจัดหางานภาครัฐให้เป็นรูปแบบหนึ่งของผลประโยชน์ด้านสวัสดิการสังคม ซึ่งอาจดูเหมือนเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ นโยบายในอนาคตควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างงานที่มุ่งเน้นการตลาด ซึ่งอาจรวมถึงการสนับสนุนสตาร์ทอัพหรือส่งเสริมการจ้างงานตัวเองและการเป็นผู้ประกอบการ นอกจากนี้อาจจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นในวัยเกษียณ” ศาสตราจารย์ จองแจฮุน ศาสตราจารย์ด้านสวัสดิการสังคมจากมหาวิทยาลัยสตรีโซลกล่าว 

ศาสตราจารย์จองยังเสนอแนะให้เสริมสร้างการศึกษาตลอดชีวิตด้วย โดยเฉพาะการฝึกอบรมสายอาชีพที่ปรับให้เหมาะกับคนงานสูงอายุ 

Photo by Anthony WALLACE / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์