กลายเป็นประเด็นบานปลายในเกาหลีใต้ไปซะแล้ว หลังจากแพทย์ฝึกหัดหลายพันคนออกมาเดินขบวนประท้วงแผนของรัฐบาลที่ ‘ต้องการเพิ่มจำนวนแพทย์ในประเทศอย่างรวดเร็ว’ โดยมีเป้าหมายเพื่อยุติการขาดแคลนแพทย์ ซึ่งประเด็นก็คือ
- การเพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
- สิ่งที่รัฐบาลต้องแก้คือ ‘ค่าแรงที่ต่ำ’ ต่างหาก
บานปลายเป็นปัญหาคาราคาซัง…รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
รัฐบาลของประธานาธิบดียุน ซุกยอล ตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนตำแหน่งในโรงเรียนแพทย์อีก 2,000 ตำแหน่งหรือประมาณ 65% ในปี 2025 จากปัจจุบันที่มี 3,058 ตำแหน่งรวมเป็น 5,000 ตำแหน่ง เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแพทย์ซึ่งอยู่ในอันดับที่แย่ที่สุดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทว่าแผนดังกล่าวกลับสร้างความไม่พอใจและจุดชนวนให้เหล่าแพทย์ฝึกหัดออกมาประท้วงตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ซึ่งถือเป็นการประท้วงด้านแรงงานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี
แม้แพทย์ของเกาหลีใต้จะเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับค่าตอบแทนดีที่สุดในโลก แต่แพทย์แย้งว่า “การเพิ่มโควตาไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนได้ เนื่องจากถูกจำกัดอยู่เฉพาะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่งมีค่าจ้างต่ำและสภาพการทำงานที่ไม่ดี…แผนดังกล่าวจะเพิ่มภาระให้กับโรงพยาบาลและลดคุณภาพของบริการทางการแพทย์”
เมื่อบรรดาแพทย์แห่ลาออก-ไม่มาทำงาน!
แพทย์ฝึกหัดในโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุด 5 แห่งในเขตโซลประมาณ 13,000 คนในเกาหลีใต้ และประมาณครึ่งหนึ่งหรือราว 6,000 คนยื่นจดหมายลาออกแล้วแต่นายจ้างไม่ยอมรับการลาออก ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการระบุเมื่อวันอังคาร (14 ก.พ.) ว่า “วันแรกของการประท้วงด้านแรงงานมีผู้ไม่มาทำงานประมาณ 1,600 คน” พร้อมทั้งเรียกร้องให้แพทย์กลับมาทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป และเตือนถึงผลกระทบทางกฎหมายสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจปูทางไปสู่การประท้วงในวงกว้างขึ้น หากรัฐบาลไม่ยกเลิกแผน การประท้วงอาจบานปลายจนกระทบถึงการดูแลสุขภาพของประชาชนที่ต้องหยุดชะงักลงด้วย
“ระบบการแพทย์ล่มสลายมาระยะหนึ่งแล้ว…ผมมองไม่เห็นอนาคตของตัวเองที่ต้องทำงานแผนกฉุกเฉินในอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า”
พัคแดน หัวหน้าสมาคมแพทย์ฝึกหัดในเกาหลีซึ่งลาออกจากงานที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล ‘Severance’ ในกรุงโซลกล่าว
แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อบุคลากรทางการแพทย์…

ข้อมูลขององค์การกลุ่มประเทศเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เผยให้เห็นว่า
“รายได้รวมเฉลี่ยต่อปีของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอิสระนั้นมากกว่ารายได้เฉลี่ยของคนงานในเกาหลีใต้ถึง 6.8 เท่า ณ ปี 2021 ซึ่งเป็นช่องว่างที่กว้างที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิก OECD”
ดังนั้น การเพิ่มแพทย์มากขึ้นนั้นหมายความว่า ‘แพทย์อาจเห็นว่าอำนาจการหารายได้ของตัวเองลดลง’ จึงทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการประท้วงด้านแรงงานว่าอาจเกี่ยวข้องกับ ‘เงิน’ มากกว่า ‘การปรับปรุงคุณภาพการดูแลสุขภาพหรือสภาพการทำงานของแพทย์’
จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?
รัฐบาลอาจใช้พระราชบัญญัติการบริการทางการแพทย์เพื่อเพิกถอนใบอนุญาตของแพทย์ในเรื่องการประท้วงด้านแรงงานที่ยืดเยื้อซึ่งคุกคามระบบการดูแลสุขภาพ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานรัฐก็กำลังพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตทางการแพทย์ของสมาชิกสมาคมการแพทย์เกาหลี 2 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์แผนของรัฐบาลมากที่สุด
แต่สำหรับตอนนี้รัฐบาลอาจกำลังมองหามาตรการที่รุนแรงน้อยลง โดยฝ่ายบริหารของยุนได้เปิดห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลทหาร 12 แห่งทั่วประเทศให้ประชาชนได้เข้ารับการรักษา เพื่อตอบสนองต่อการประท้วงด้านแรงงานและดำเนินการตามแผนการแพทย์ทางไกลทั่วประเทศ
นี่ไม่ใช่ประท้วงแรงงานแพทย์ครั้งแรก!
ก่อนหน้านี้เคยมีการนัดหยุดงานประท้วงของแพทย์มาแล้ว 3 ครั้งในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา :
- ปี 2000 แพทย์นัดหยุดงานเนื่องจากการปฏิรูปด้านสุขภาพที่ห้ามไม่ให้พวกเขาขายยา ซึ่งให้อำนาจแก่เภสัชกรแทน
- ปี 2014 แพทย์นัดหยุดงานเพื่อประท้วงข้อเสนอร่างกฎหมายการแพทย์ทางไกล
- ปี 2020 เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลเสนอเพิ่มการรับเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์จำนวน 4,000 คนในช่วง 10 ปี จึงก่อให้เกิดการประท้วงในลักษณะเดียวกัน ซึ่งทำให้แผนดังกล่าวต้องล้มเลิกไป
Photo by Jung Yeon-je / AFP