ดูเหมือนว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะต้องการเป็นเจ้าของ ‘เกาะกรีนแลนด์’ มากทีเดียว ซึ่งทรัมป์ให้เหตุผลว่า “มันมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางเศษฐกิจของสหรัฐฯ” ถึงขนาดที่ว่าเมื่อวันอังคาร (7 ม.ค.) ที่ผ่านมา ทรัมป์ก็ส่งลูกชาย โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ ไปเยือนกรีนแลนด์เองเลย แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะซื้อเกาะนี้เป็นอย่างมาก แม้ว่ากรีนแลนด์จะออกแถลงการณ์ว่า ‘จะไม่มีวันขายเกาะแห่งนี้ก็ตาม’
ทว่าการเดินทางครั้งนี้ทำให้เกิดการคาดเดาไปต่างๆ นานาว่าทรัมป์มีแผนอะไรสำหรับดินแดนอาร์กติกแห่งนี้กันแน่...SPACEBAR พาไปสำรวจว่าที่กรีนแลนด์มีอะไรทำไมทรัมป์ถึงอยากครอบครองนักหนา?
-ตำแหน่งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่เหมือนใคร-
‘กรีนแลนด์’ เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก เคยเป็นอาณานิคมของเดนมาร์ก ปัจจุบันเป็นดินแดนปกครองตัวเองของเดนมาร์ก มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 56,000 คน ที่สำคัญตั้งอยู่ในตำแหน่งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่เหมือนใคร โดยตั้งอยู่ระหว่างสหรัฐฯ และยุโรป นอกจากนี้ เมืองนุกซึ่งเป็นเมืองหลวงยังตั้งอยู่ใกล้กับนิวยอร์กมากกว่าโคเปนเฮเกนที่เป็นเมืองหลวงของเดนมาร์กเสียอีก
“เกาะแห่งนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ มานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อต้านการโจมตีจากรัสเซีย เส้นทางเดินเรือทางตะวันตกเฉียงเหนือทอดยาวตามแนวชายฝั่ง และเกาะนี้เป็นส่วนหนึ่งของช่องว่างระหว่างกรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นภูมิภาค ทางทะเลที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์”
อุลริก พรัม กาด นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันเดนมาร์กเพื่อการศึกษาระหว่างประเทศ กล่าว
ทั้งนี้ ทรัมป์ไม่ใช่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เสนอแนวคิดในการซื้อกรีนแลนด์ ในปี 1867 ประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ก็เคยซื้ออะแลสกา แล้วก็พิจารณาที่จะซื้อกรีนแลนด์ด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลทรูแมนได้เสนอเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.4 พันล้านบาท) ให้เดนมาร์กซื้อเกาะดังกล่าว
ข้อเสนอทั้งสองไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ภายใต้สนธิสัญญาป้องกันประเทศปี 1951 สหรัฐฯ ได้ฐานทัพอากาศซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ‘ฐานทัพอวกาศพิทัฟฟิก’ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ซึ่งอยู่ระหว่างมอสโกวและนิวยอร์ก เป็นฐานทัพที่อยู่เหนือสุดของกองทัพสหรัฐฯ และมีระบบเตือนภัยขีปนาวุธติดตั้งอยู่ด้วย
สหรัฐฯ ต้องการแน่ใจว่า “ไม่มีมหาอำนาจศัตรูใดควบคุมกรีนแลนด์ เนื่องจากกรีนแลนด์อาจเป็นฐานที่มั่นในการโจมตีสหรัฐฯ” พรัม กาด บอกกับสำนักข่าว CNN
-ดินแดนแห่งนี้อุดมไปด้วยแร่ธาตุหายาก-

ว่ากันว่าสิ่งที่น่าดึงดูดใจสำหรับทรัมป์ยิ่งกว่าภูมิรัฐศาสตร์ก็คือ ‘แหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของกรีนแลนด์ น้ำมัน และก๊าซ ตลอดจนแร่โลหะหายาก’ ที่เป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและกังหันลมในช่วงการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (green transition) รวมไปถึงใช้สำหรับผลิตอุปกรณ์ทางทหาร
ในปัจจุบัน จีนครองการผลิตแร่ธาตุหายากทั่วโลก และได้ขู่ที่จะจำกัดการส่งออกแร่ธาตุที่สำคัญและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องก่อนที่ทรัมป์จะดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2
“ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่าทรัมป์และที่ปรึกษาของเขามีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการครอบครองแร่ธาตุของจีน กรีนแลนด์เป็นแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญที่อาจอุดมสมบูรณ์...ผมคิดว่าทรัมป์ต้องการกรีนแลนด์ไว้เพื่อกีดกันจีนออกไป”
คลอส ด็อดส์ ศาสตราจารย์ด้านภูมิรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยรอยัล ฮอลโลเวย์ ของอังกฤษ บอกกับ CNN
-โอกาสต่างๆ (ที่อาจจะได้) ในขณะที่น้ำแข็งละลายเพราะโลกร้อน-

การละลายของน้ำแข็ง และอุณหภูมิในอาร์กติกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้กรีนแลนด์กลายเป็นศูนย์กลางของวิกฤตสภาพอากาศ แต่บางคนก็มองเห็นโอกาสทางเศรษฐกิจในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกำลังปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของประเทศ :
- น้ำแข็งที่ละลายทำให้เส้นทางเดินเรือเปิดกว้างขึ้น ทำให้ระยะเวลาในเดินเรือนานขึ้นในช่วงฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ
- ขนส่งในอาร์กติกเพิ่มขึ้น 37% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากน้ำแข็งละลาย
“ผมคิดว่าทรัมป์เข้าใจโดยสัญชาตญาณว่าอาร์กติกกำลังละลาย และมองเห็นโอกาสที่เกิดขึ้น” ด็อดด์ส กล่าว แต่ในความเป็นจริงแล้ว สภาพตามเส้นทางเหล่านี้ยังคงเลวร้ายอยู่เสมอ และน้ำแข็งที่ละลายอาจทำให้การเดินเรือในน่านน้ำอันตรายยิ่งขึ้น
“นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะว่า ‘น้ำแข็งที่ละลายอาจทำให้เข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติได้ง่ายขึ้น’ แต่ภาวะวิกฤตทางภูมิอากาศยังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ มากนัก...การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไม่ได้ทำให้ทรัพยากรของกรีนแลนด์เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่เป็นเพราะ ‘เลี่ยงไม่ได้’” ฟิลิป สไตน์เบิร์ก ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเดอรัม บอกกับ CNN
แล้วทรัมป์จะซื้อกรีนแลนด์ได้จริงไหม?

หลังจากทรัมป์ประกาศว่าต้องการครอบครอง ‘กรีนแลนด์’ อีกครั้ง ทั้งรัฐบาลเดนมาร์ก และกรีนแลนด์ก็รีบออกมาคัดค้านแนวคิดดังกล่าวอย่างหนัก
“เราไม่ขาย และจะไม่มีวันขาย เราจะต้องไม่แพ้การต่อสู้เพื่ออิสรภาพที่กินเวลานานหลายปีของเรา”
มูเต เอเกเด นายกฯ กรีนแลนด์โพสต์บน Facebook เมื่อปลายเดือนธันวาคม
“ทรัมป์พูดคุยกับพลเมืองสหรัฐฯ มากกว่าชาวกรีนแลนด์ ผมไม่เห็นว่าจะมีอะไรในอนาคตที่จะนำไปสู่การซื้อขายได้ คุณไม่สามารถซื้อประเทศ หรือประชาชนได้” คูปิก วี. ไคลสต์ อดีตนายกฯ กรีนแลนด์ บอกกับ CNN
“เดนมาร์กกำลังวิตกกังวล” ด็อดด์ กล่าว ซึ่งดูเหมือนว่าจะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับกรีนแลนด์มากกว่า แถมในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เดนมาร์กยังประกาศเพิ่มการใช้จ่ายด้านการทหารให้กับกรีนแลนด์เป็นจำนวนมาก จากนั้นในช่วงต้นเดือนมกราคม ราชวงศ์เดนมาร์กยังได้เปิดตัวตราประจำราชวงศ์แบบใหม่ ซึ่งมีหมีขั้วโลกในกรีนแลนด์อยู่ในนั้นด้วย
เมื่อวันพุธ (8 ม.ค.) ลาร์ส ล็อกเก้ ราสมุสเซน รัฐมนตรีต่างประเทศของเดนมาร์กเผยว่า “กรีนแลนด์อาจได้รับเอกราชหากประชาชนต้องการ แต่จะไม่กลายเป็นรัฐของสหรัฐฯ...เราตระหนักดีว่ากรีนแลนด์มีความทะเยอทะยานเป็นของตัวเอง หากความทะเยอทะยานเหล่านี้เกิดขึ้นจริง กรีนแลนด์จะกลายเป็นเอกราช แม้ว่าจะไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่จะเป็นรัฐบาลกลางในสหรัฐฯ ก็ตาม”
อย่างไรก็ดี กรีนแลนด์กำลังพยายามส่งเสริมความเป็นอิสระโดยการกระจายเศรษฐกิจออกจากการประมง ด้วยการเปิดสนามบินแห่งใหม่ในเมืองนุกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพิ่มการท่องเที่ยว แต่กรีนแลนด์ยังคงต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือประจำปีประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากเดนมาร์ก และสิ่งนี้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการประกาศเอกราช
ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจอย่างมาก “หากทรัมป์เสนอเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อจัดตั้งสหภาพในรูปแบบอื่น กรีนแลนด์จะทำอย่างไร”
ขณะที่นักการเมืองกรีนแลนด์บางคนได้เสนอแนวคิดเรื่อง ‘การจัดตั้งสหภาพพิเศษ’ คล้ายกับที่สหรัฐฯ จัดตั้งร่วมกันกับหมู่เกาะมาร์แชลล์ โดยที่กรีนแลนด์มีอำนาจอธิปไตยแต่ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสหรัฐฯ ด้วย เพื่อแลกกับข้อตกลงเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์บางประการของสหรัฐฯ
ไคลสต์ อดีตนายกฯ กรีนแลนด์แสดงความสงสัยอย่างมากว่าความสัมพันธ์ในลักษณะนี้จะได้ผลหรือไม่ “ผมไม่คิดว่าสิ่งนี้จะน่าสนใจ ลองนึกดูว่าสหรัฐฯ ปฏิบัติต่อชนพื้นเมืองของตัวเองอย่างไร”
ในขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้วเขาจะทำตามความปรารถนาที่ประกาศไว้ว่าจะครอบครองกรีนแลนด์ได้มากแค่ไหน “ไม่มีใครรู้ว่านั่นเป็นเพียงการแสดงความโอ้อวด เป็นการขู่ หรือเป็นสิ่งที่เขาต้องการทำจริงๆ” พรัม กาด กล่าว