สงครามโลกครั้งที่ 3 เริ่มขึ้นแล้วเพียงแต่ไม่ได้รบกันตรงๆ

7 ธ.ค. 2567 - 03:15

  • โครงสร้างของเสถียรภาพโลกในขณะที่เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ปี 2025 ดูเหมือนจะตึงเครียดขึ้นจากสถานการณ์ในหลายๆ แห่ง

  • เมื่อพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 3 ผู้เชี่ยวชาญหลายคนนึกถึงสงครามลูกผสมที่ขนแท็กติกต่างๆ มาขับเคี่ยวกัน แม้แต่ “อวกาศ” ก็กลายเป็นสมรภูมิไปแล้ว

ww3-has-begun-not-conventional-means-but-through-hybrid-threats-SPACEBAR-Hero.jpg

ตั้งแต่สมรภูมิสู้รบในยูเครนไปจนถึงน่านน้ำที่สุ่มเสี่ยงต่อความตึงเครียดในอินโด-แปซิฟิก โครงสร้างของเสถียรภาพโลกในขณะที่เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ปี 2025 ดูเหมือนจะตึงเครียดขึ้น จากสถานการณ์หลายๆ อย่าง อาทิ การทูตที่แสนจะเปราะบาง และภัยคุกคามจากฤดูหนาวนิวเคลียร์ (nuclear winter คือ สภาพที่โลกเกิดความหนาวเย็นอย่างรุนแรงหลังการใช้อาวุธนิวเคลียร์จำนวนมาก เนื่องจากฝุ่นและเขม่าควันต่างๆ ที่เกิดจากแรงระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์พุ่งขึ้นไปสะสมที่ชั้นบรรยากาศจนบดบังแสงและความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก) 

นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 ไม่ใช่ความเป็นไปได้ที่ยังห่างไกลอีกต่อไปแล้ว แต่มันเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่เกิดขึ้นอย่างแนบเนียนกว่าที่โลกตะวันตกเคยเผชิญในช่วงเริ่มต้นของความขัดแย้งระดับโลกในศตวรรษที่ 20 

ช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่ 3 อาจไม่ได้ต่อสู้กันด้วยวิธีการทั่วไปที่ใช้รถถังหรือขุดสนามเพลาะนอกเหนือไปจากแนวหน้าของยูเครน แต่ผ่านการคุกคามแบบผสมผสาน สนามรบที่ซ่อนเร้น และอุดมคติที่ขับเคลื่อนอยู่ในสังเวียนดิจิทัล 

มาร์ก ทอธ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแห่งชาติ และ โจนาธาน สวีท อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในกลุ่มผูเชี่ยวชาญที่มองว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว 

พวกเขาบอกว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 ไม่ได้ออกมาเหมือนกับที่ฮอลลีวูดวาดภาพไว้ ไม่มีกลุ่มควันรูปเห็ด ไม่มีซากปรักหักพังหลังหายนะ แต่มันจะเป็นการฆ่ากันอย่างช้าๆ ผ่านสนามรบในหลายภูมิภาค 

และสัญญาณชัดเจนมาก

สงครามลูกผสมและปฏิบัติการลับ 

แนวคิดของสงครามลูกผสมเป็นหัวใจสำคัญของการถกเถียงกันว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดขึ้นแล้ว ความขัดแย้งในปัจจุบันนี้ไม่ได้สู้รบกันด้วยปืนหรือระเบิด แต่ทำผ่านแท็กติกทุกอย่างที่มี ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ การบ่อนทำลาย และการปั่นป่วนเศรษฐกิจ 

ทอธและสวีทต่างก็ชี้นิ้วไปที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ว่าเป็นตัวการนำมาสู่หายนะและบอกว่ายุทธศาสตร์ของรัสเซียไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในยูเครน แต่ยังแผ่ขยายไปหลายที่ ตั้งแต่แอฟริกาไปจนถึงเหนือชั้นบรรยากาศของโลกและในโลกดิจิทัล 

ในแอฟริกา กองกำลังกึ่งทหารของรัสเซีย อาทิ กลุ่มแวกเนอร์ (Wagner) ได้จุดชนวนให้เกิดรัฐประหาร ทำลายเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย และเสริมสร้างอิทธิพลของมอสโก และในยุโรป การจารกรรมและปฏิบัติการลับที่สร้างความเสียหายกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในระดับความรุนแรงของสงครามเย็น 

มีการลอบวางเพลิงโดยมุ่งเป้าโจมตีศูนย์กลางด้านลอจิสติกส์ในตะวันตกเพื่อทำให้ซัพพลายเชนหยุดชะงัก ทั้งยังลอบสังหารผู้เห็นต่างและฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของรัสเซียอย่างโจ่งแจ้งบนท้องถนน 

ทั้งทอธและสวีทบอกว่า สงคราม “สีเทา”  นี้คือความเชี่ยวชาญของปูติน ความสามารถในการทำสงครามลูกผสมถือเป็นความแข็งแกร่งของปูติน โดยทั้งคู่ยกตัวอย่างความพยายามเผยแพร่ข้อมูลเท็จ สร้างเรื่องเล่าหนุนเครมลิน และโน้มน้าวรัฐบาลและประชาชนให้หันมาต่อต้านตะวันตก 

ทอธและสวีทบอกอีกว่า หากต้องการทำความเข้าใจขอบเขตของแคมเปญปล่อยข้อมูลเท็จของรัสเซียให้ดูที่สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และแอฟริกา การปล่อยข้อมูลเท็จของรัสเซียใช้มีมและบัญชีตรวจสอบข้อเท็จจริงปลอมเพื่อสร้างภาพให้ตะวันตกเป็นตัวร้ายและเบี่ยงเบนความสนใจออกจากกองกำลังกึ่งทหารของรัสเซีย 

“ทีมไอโของรัสเซียแทรกซึมเข้ามาในโลกออนไลน์ด้วยการ์ตูน มีม และบัญชีตรวจสอบข้อเท็จจริงปลอม เพื่อเผยแพร่ความขัดแย้งและบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในรัฐบาลตะวันตก” ซึ่งรวมถึงเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ที่ซับซ้อนเพื่อสร้างดีปเฟค อาทิ สารคดีหลอกลวงเรื่อง Olympic Have Fallen ที่จงใจสร้างความหวาดกลัวก่อนการแข่งขันโอลิมปิก 

แม้แต่ “อวกาศ” ก็กลายเป็นสมรภูมิไปแล้ว ปูตินขู่ว่าจะใช้อาวุธต่อต้านดาวเทียมที่พุ่งเป้าไปที่การสื่อสารและเครืออข่ายข่าวกรองของตะวันตก 

การทำสงครามโดยตรงและสงครามทางกายภาพ 

ไม่มีที่ไหนในโลกที่เป็นตัวอย่างได้ชัดเจนเท่าในยูเครนซึ่งทหารและพลเรือนหลายหมื่นหลายแสนคนได้รับผลกระทบจากสงครามที่ยืดเยื้อมาเกือบ 3 ปี 

การใช้ขีปนาวุธ ATACMS ที่สหรัฐฯ ส่งให้ และขีปนาวุธ Storm Shadow ที่อังกฤษส่งให้ของยูเครนส่งผลให้ปูตินสั่งยิงขีปนาวุธข้ามทวีปความเร็วเหนือเสียง Oreshnik ถล่มยูเครนครั้งแรก และก่อนหน้านั้นไม่กี่วันปูตินยังลงนามแก้ไขเกณฑ์การใช้อาวุธนิวเคลียร์ให้นำมาใช้ง่ายขึ้น 

แม้ว่ากองทัพรัสเซียจะสูญเสียทหารไปจำนวนมาก แต่มีการรุกคืบไปฝั่งตะวันตกของยูเครนในอัตราที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่รัสเซียเริ่มเปิดฉากโจมตียูเครนเมื่อปี 2022 และปูตินยังประกาศอีกว่า รัสเซียอาจถล่มที่ทำการรัฐบาลในกรุงเคียฟหากยูเครนยังเดินหน้าถล่มเป้าหมายในรัสเซียด้วยขีปนาวุธจากสหรัฐฯ และอังกฤษ 

ส่วนที่อื่นๆ อาทิ ตะวันออกกลางก็กำลังซวนเซหลังกลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2023 อิหร่านซึ่งหนุนหลังฮามาสและฮิซบุลเลาะห์ยังยกระดับความตึงเครียดด้วยการโจมตีอิสราเอลด้วยขีปนาวุธและโดรน ขณะที่นักวิเคราะห์ขยับเข้าใกล้การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ทุกขณะแล้ว 

ส่วนในอินโด-แปซิฟิก การใช้ความรุนแรงต่อไต้หวันและฟิลิปปินส์ของจีนก่อให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดการปะทะกันขึ้นในภูมิภาคที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ก็ดูเหมือนว่าจีนมีท่าทีข่มขู่มากขึ้นจนเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เตือนว่า จีนพยายามบุกไต้หวันก่อนสิ้นทศวรรษนี้ 

ขณะที่คิมจองอึนเข้าสู่โหมดเตรียมพร้อม ขยับขยายคลังแสงนิวเคลียร์ต่อเนื่อง ประกาศตัดสัมพันธ์กับเกาหลีใต้โดยสิ้นเชิง แล้วยังส่งกองทหารไปช่วยรัสเซียสู้รบกับยูเครน  

ทอธและสวีทมองว่า การรุกรานยูเครนของปูตินเป็นการโหมโรงของสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่ส่งสัญญาณไปยังประชาคมโลกว่าระเบียบโลกแบบที่เคยเกิดขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีอยู่แล้ว ทั้งคู่บอกว่า รัสเซียยังคงเล่นบทเป็นเหยื่อ ในขณะเดียวกันก็ทวีความรุนแรงต่อพลเรือนชาวยูเครน ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่าเครมลินตั้งใจทำลายศัตรู

ww3-has-begun-not-conventional-means-but-through-hybrid-threats-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ปธน.สีจิ้นผิงของจีนจับมือกับ ปธน.วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่การประชุมองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ในกรุงอัสตานาของคาซัคสถานเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2024 Photo by Sergei GUNEYEV / POOL / AFP

การแข่งขันของมหาอำนาจและการต่อสู้ทางอุดมการณ์ 

พลอากาศเอก ริชาร์ด ไนต์ตัน ผู้บัญชาการกองทัพอากาศสหราชอาณาจักรมองว่า สถานการณ์ปัจจุบันของภูมิศาสตร์การเมืองเน้นย้ำถึงการพังทลายของความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ของชาติตะวันตก ในโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งมหาอำนาจสำคัญอย่างรัสเซียและจีนกำลังกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันและสร้างความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือและอิหร่าน 

ไนต์ตันเผยว่า “เรากำลังเห็นมหาอำนาจกลับมาแข่งขันกันอีกครั้ง” โดยชี้ให้เห็นสายใยที่ซับซ้อนของการแข่งขันทางการทหารและเศรษฐกิจที่แผ่ขยายไปทั่วโลก จากมุมมองของไนต์ตันประเด็นสำคัญที่น่ากังวลคือ การสูญเสียความเหนือกว่าทางอากาศ (air supremacy) และความจำเป็นในการปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจเพื่อให้แน่ใจว่ากองทัพสามารถต่อสู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหากต้องทำสงครามโดยตรง 

“ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และศักยภาพทางเศรษฐกิจ เทคนิค และการสู้รบของมหาอำนาจอื่น เราไม่มีความเหนือกว่าทางกาศอีกต่อไป” ไนต์ตันเผย และว่า การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลกระทบอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาอำนาจใหม่อย่างจีนที่ปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยอย่างรวดเร็วจนคาดไม่ถึง 

จะหลีกเลี่ยงวิกฤตก่อนสายไปได้หรือไม่? 

แม้ว่าความตึงครียดจะกระจายไปทั่ว แต่ เอเดอไลน์ ฟอน เฮาต์เตอ นักวิเคราะห์ยุโรปอาวุโสจาก Economist Intelligence Unit ยังมองในแง่ดีว่า แม้ความเสี่ยงที่สถานการณ์จะตึงเครียดขึ้นจะเพิ่มขึ้น แต่เราก็ยังไม่เห็นการเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 3  

ฟอน เฮาต์เตอบอกว่า “การปรับเกณฑ์การใช้นิวเคลียร์และขีปนาวุธ Oreshnik เป็นการส่งข้อความไปยังตะวันตก แต่การยกระดับไปสู่นิวเคลียร์ไม่น่าจะเกิดขึ้น” นักวิเคราะห์รายนี้เชื่อว่า การโจมตีลูกผสมของรัสเซียผ่านการบ่อนทำลายทางไซเบอร์ ข้อมูลเท็จ และการบ่อนทำลายโครงสร้างพื้นฐานเป็นเครื่องมือของการข่มขู่มากกว่าจะเป็นขั้นเริ่มต้นไปสู่สงครามเต็มรูปแบบ และมองว่า มาตรการป้องปรามของตะวันตกยังคงมีประสิทธิภาพ 

ที่สำคัญเหนืออื่นใดไม่ใช้คำถามว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดขึ้นหรือยัง แต่อยู่ที่ว่าเราจะป้องกันก่อนที่ทุกอย่างจะสายไปได้หรือไม่ 

Photo by Sam Yeh / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์