ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีนเชิญนักธุรกิจบิ๊กเนมสายเทคโนโลยีเข้าพบที่มหาศาลาประชาชน ทั้งเหรินเจิ้งเฟย ซีอีโอของ Huawei หวังฉวนฝู ซีอีโอ BYD เจิงอวี้ฉิน จาก CATL โพนี หม่า ซีอีโอ Tencent หวังซิง ซีอีโอ Mei Tuan เหลยจวิน ซีอีโอ Xiaomi และ เหลียงเหวินเฟิง จาก DeepSeek
แต่คนที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ แจ็ก หม่า แห่งอาลีบาบา ที่ถูกรัฐบาลจีนลงดาบอย่างหนักจนต้องหายหน้าหายตาไปหลายปี หลังจากเมื่อปี 2020 หม่าขึ้นเวทีประชุมทางการเงินแล้ววิจารณ์การจัดการระบบการเงินของรัฐบาลว่าธนาคารมีแนวคิดแบบ “โรงรับจำนำ” ที่ไม่ได้ช่วยธุรกิจขนาดเล็กซึ่งเป็นลูกค้าหลัก
หลังจากนั้นไม่กี่วันการเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อประชาชน (IPO) ของ Ant Group บริษัทในเครืออาลีบาบาก็ถูกสั่งระงับในนาทีสุดท้าย ซึ่งในเวลานั้นหากเกิดขึ้นจะเป็นการ IPO ที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุดในโลก ก่อนที่รัฐบาลจีนจะเล่นงานอาณาจักรอาลีบาบาที่เหลือ รวมทั้งการสั่งปรับ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในข้อหาผูกขาดการค้า
หลังจากกรณีของอาลีบาบาก็มีบริษัทเทคยักษ์ใหญ่อีกหลายเจ้าที่ถูกรัฐบาลจีนปราบปราม ทั้ง Tencent แอปพลิเคชันเรียกรถสาธารณะ Didi และ Meituan แอปพลิเคชันสั่งอาหาร มีรายงานว่า การปราบปรามธุรกิจเอกชนรายใหญ่เมื่อเกือบ 6 ปีก่อนทำให้มูลค่าทางการตลาดของหลายๆ บริษัทจีนหายไปกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

การปรากฏตัวของหม่าในการประชุมที่มีสีจิ้นผิงเป็นประธาน ถึงขั้นสถานีโทรทัศน์ข่าวช่วงกลางคืน Xinwen Lianbo ในเครือ CCTV เผยแพร่ภาพช่วงที่หม่าจับมือกับสีจิ้นผิงสั้นๆ เป็นการส่งสัญญาณว่า หม่าได้รับโอกาสจากสีจิ้นผิงอีกครั้ง และเป็นสัญญาณว่า ธุรกิจภาคเอกชนซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจจีน (มีสัดส่วนกว่า 60% ของจีดีพีจีน) กลับมาเป็นที่รักของรัฐบาลจีนอีกครั้ง
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงที่จีนต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะเอไอ ทั้งยังต้องเตรียมรับมือกับรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ที่พร้อมเดินหน้าเก็บภาษีจากจีนเต็มที่
โหยวฉวนหม่าน อาจารย์อาวุโสคณะนิติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์สิงคโปร์มองว่า “นี่คือสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดที่จีนจะแสดงออกมาเพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นของสังคม การที่สีจิ้นผิงปรากฏตัวเพื่อประชุมกับบรรดานักธุรกิจเน้นให้เห็นถึงความสำคัญทางการเมืองของการประชุมนี้”
ท่าทีสนับสนุนภาคเอกชนสะท้อนความกังวลของผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความพยายามของสหรัฐฯ ในการจำกัดการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน และยังเน้นย้ำความสำคัญของนวัตกรรมของภาคเอกชนที่จะช่วยให้จีนเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี
นักวิเคราะห์
เช่นเดียวกับ คริสโตเฟอร์ เบดเดอร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจีนจาก Gavekal Dragonomics ในฮ่องกงที่บอกว่า “มันเป็นการยอมรับโดยปริยายว่ารัฐบาลจีนต้องการบริษัทภาคเอกชนในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ รัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสนับสนุนบริษัทเหล่านี้หากต้องการแข่งขันกับสหรัฐฯ ”
แองเจลา จาง ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียใต้เผยกับสำนักข่าว CNN ว่า การที่หม่าเข้าร่วมประชุมกับสีจิ้นผิงแสดงให้เห็นว่า ในที่สุดทางการจีนก็ก้าวข้ามการปราบปรามธุรกิจเพราะความกังวลเกี่ยวกับธุรกิจของหม่าได้รับการแก้ไขแล้ว
“เมื่อเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวและความกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์ทวีขึ้น รัฐบาลแสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับและต้องพึ่งพาภาคเอกชนในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและกระตุ้นการเติบโต”
แองเจลา จาง ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียใต้
การประชุมกับนักธุรกิจลักษณะนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ครั้งล่าสุดที่สีจิ้นผิงการประชุมสัมมนาระดับสูงกับภาคเอกชนเกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ย. 2018 ซึ่งตรงกับช่วงที่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทวีขึ้นระหว่างสงครามการค้า 1.0 ในรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก
การประชุมครั้งนั้นสีจิ้นผิงให้คำมั่นว่าจะลดภาษีและทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม และย้ำว่าบริษัทเอกชนจะได้เข้าถึงการสนับสนุนด้านการเงิน ส่วนครั้งนี้สีจิ้นผิงเรียกร้องให้ภาคเอกชนรับใช้ประเทศชาติ
ในแง่หนึ่งการกลับมาของหม่าถูกมองว่าเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของภาคเอกชน แต่อีกมุมหนึ่งก็ถูกมองว่าเป็นชัยชนะของสีจิ้นผิง ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเจ้าของกิจการต้องพินอบพิเทากับพรรคคอมมิวนิสต์ หากไม่ทำตามกฎของสีจิ้นผิงก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมา การประชุมครั้งนี้เป็นการยืนยันว่านักธุรกิจที่ครั้งหนึ่งเคยทรงอิทธิพลต้องปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน