ทุกๆ คนบนโลกใบนี้ต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่า “เราทุกคนเกิดมา ยังไงก็ต้องตาย” มันเป็นวัฏจักรและสัจธรรมของชีวิตที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงสภาวะนี้ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามันจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว แต่ในสักวันหนึ่งมันก็ต้องมาถึง หากเป็นการตายแบบธรรมชาติหรือที่ใครๆ มักพูดกันว่า “แก่ตาย” ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็หาคำตอบได้ว่าในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อร่างกายของเรากำลังจะ ‘ดับสูญ’ ไป อวัยวะหรือประสาทสัมผัสไหนที่จะหยุดทำงานก่อน-หลัง?
“ผู้ที่กำลังจะตายมีแนวโน้มที่จะสูญเสียประสาทสัมผัสตามลำดับเฉพาะเมื่อร่างกายเริ่มดับสูญ ตั้งแต่ความหิวโหยไปจนถึงสูญเสียการได้ยิน…”
เจมส์ ฮัลเลนเบ็ค ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลแบบประคับประคอง หรือการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิต (palliative-care) แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดระบุในหนังสือ ‘Palliative Care Perspectives’
นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประสาทสัมผัสในช่วงที่เรากำลังจะ ‘ตาย’

-ไม่รู้สึกหิวและกระหายอีกต่อไป-
คนที่กำลังจะตายส่วนใหญ่จะมีอาการอยากอาหารและความกระหายลดลงในช่วงแรก เนื่องจากร่างกายที่กำลังจะตายไม่ต้องการวิตามิน สารอาหาร และการบำรุงเช่นเดียวกับร่างกายที่แข็งแรง รวมถึงไม่ต้องการอาหารและเครื่องดื่มเพื่อเป็นพลังงาน เพราะร่างกายอยู่ในภาวะใกล้ดับสูญแล้ว
นอกจากนี้ระบบย่อยอาหารยังใช้เวลาในการแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มที่ยากลำบากมากขึ้นอีกด้วย
-เริ่มพูดช้าลง-
เมื่อการทำงานของร่างกายเริ่มหยุดลง คำพูดจะช้าลงและการสนทนาจะกลายเป็นเรื่อง ‘ยาก’ การเลิกสื่อสารมักเป็นสัญญาณของการปล่อยวาง และในที่สุดพวกเขาเหล่านั้นจะมีแนวโน้มที่จะสูญเสียความสามารถในการพูดไปพร้อมกัน เพราะใช้เวลานอนหลับมากขึ้นหรืออยู่ในสภาวะหมดสติ
ขณะเดียวกันการหายใจของผู้ที่กำลังจะตายก็จะไม่สม่ำเสมอ ทำให้จังหวะการพูดช้าลง
-สายตาเริ่มมองเห็นอะไรไม่ชัด-

ประสาทสัมผัสต่อไปที่จะดับสูญคือ ‘การมองเห็น’ คนที่ใกล้ตายอาจจะมองเห็นได้แบบเบลอๆ เห็นเฉพาะสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ เท่านั้น คนรอบข้างอาจสังเกตเห็นว่าพวกเขาอาจหลับตาบ่อยครั้งหรือลืมตาครึ่งหนึ่งเนื่องจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง และบางครั้งอาจมีอาการประสาทหลอนได้ ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจเห็นสัตว์เลี้ยงหรือคนที่เสียชีวิตไปก่อนหน้าพวกเขา
“บางครั้งคนที่ไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่รอบตัวได้มากนัก อาจมองเห็นคนที่รักหรือสัตว์เลี้ยงแก่ๆ ที่เสียชีวิตไปแล้วแทน”
จูลี แมคแฟดเดน พยาบาลประคับประคองกล่าว
-สัมผัสสุดท้ายยังรับรู้ได้-

ดร.ฮัลเลนเบ็คบอกว่า “ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาสุดท้ายของคนที่ดูจะไม่ตอบสนอง แต่ก็ยังสามารถรับรู้ได้ในบางวิธี”
ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่คนใกล้ตายจะล่องลอยเข้าและออกจากจิตสำนึก เป็นไปได้ว่าพวกเขายังสามารถสัมผัสและฟังเสียงของคนที่รักได้ แต่เมื่อเกิดอาการโคม่าขึ้น สัมผัสที่สองรองลงมาคือ ‘การสัมผัส’ ซึ่งหมายความว่าการจับมือครั้งสุดท้ายกับครอบครัวและเพื่อนฝูงเท่านั้นที่พวกเขาจะรับรู้และรู้สึกได้
-แม้ใกล้ดับสูญ แต่ร่างกายยังรับรู้ผ่านการได้ยินเสียง-
ในช่วงสุดท้ายก่อนเสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเข้าสู่ช่วงที่ไม่ตอบสนอง โดยที่พวกเขาไม่สามารถตอบสนองหรือสัมผัสกับสภาพแวดล้อมภายนอกได้อีกต่อไป
ณ จุดนี้ สมองจะประมวลผลข้อมูลทางประสาทสัมผัสแตกต่างจากที่เคยเป็นมา
อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่ตีพิมพ์ในรายงานทางวิทยาศาสตร์เมื่อเดือนมิถุนายน 2020 พิสูจน์แล้วว่า “การได้ยินเป็นประสาทสัมผัสสุดท้าย และสำหรับบางคน การได้ยินก็จะอยู่กับพวกเขาไปจนวินาทีสุดท้าย”

นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียได้ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ‘EEG’ ของผู้ป่วยในบ้านพักรับรองหลังจากที่พวกเขาหมดสติและไม่ตอบสนอง
ในเวลาเดียวกันนั้น นักประสาทวิทยายังวัดคลื่นสมองของผู้เข้าร่วมวิจัยที่อายุน้อยและมีสุขภาพดีเพื่อเปรียบเทียบด้วย ซึ่งสิ่งที่พวกเขาพบก็คือสมองที่กำลังจะตายนั้นมีการตอบสนองคล้ายกับกลุ่มควบคุม (กลุ่มทดลอง) ที่มีสุขภาพดี โดยพบว่า “แม้จะอยู่ในสภาวะหมดสติใกล้จะตาย แต่ยังมีการได้ยินอยู่”
ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงสุดท้าย ผู้ป่วยจะหยุดกินและดื่ม สูญเสียการมองเห็น ก่อนที่จะหลับตาและดูเหมือนจะหลับไปในที่สุด
“ร่างกายมนุษย์ถูกสร้างมาให้ ‘ตาย’ และช่วยคนๆ หนึ่งให้ผ่านกระบวนการตายเพื่อลดความเจ็บปวด”
พยาบาลประคับประคองรายหนึ่งกล่าวถึงกระบวนการตาย