ภารกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการสร้างขยะ ตอบโจทย์หนึ่งในนโยบายด้านความยั่งยืนของภาคธุรกิจ ภาคส่วนของ สถาบันการเงิน อย่าง ธนาคารกรุงเทพ กำหนดแนวทางไว้ 4 แนวทางอย่างชัดเจน ได้แก่
- 1.การบริหารจัดการความเสี่ยง
- 2.การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล
- 3.การกำกับดูแลกิจการที่ดี
- 4.การสร้างสรรค์คุณค่าที่ยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ล่าสุด (23 ก.พ.67) ธนาคารกรุงเทพ จัดโครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ ทุ่มงบ 5-10 ล้านบาท ร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืน โดยจับมือหน่วยงานราชการท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายชุมชน จังหวัดสมุทรสาคร ลุยติดตั้งทุ่นดักขยะ ในพื้นที่นำร่อง ‘คลองหลวงสหกรณ์ และคลองพิทยาลงกรณ์’ ตำบลโคกขาม หวังลดปริมาณขยะที่ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนและอ่าวไทย ปีละกว่า 148 ตัน

โดย กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่ธนาคารได้เริ่มต้นดำเนินโครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ เพื่อร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะในแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย
โดยปัจจุบันได้เริ่มดำเนินงานในระยะที่ 1 อย่างต่อเนื่อง ตั้งกรอบงบประมาณไว้ที่ 5-10 ล้านบาท ยกตัวอย่างเช่น การติดตั้งเครื่องมือดักขยะ ประกอบด้วย 3 ประเภทเครื่องมือ ได้แก่
1.ทุ่นดักขยะ (Boom) ผลิตจากพลาสติก HDPE สีเหลือง ขนาด 0.35x0.50 เมตร พร้อมตาข่ายความยาว 15 เมตร และลึกลงไปจากผิวน้ำ 50 เซนติเมตร อายุการใช้งาน 5-7 ปี
2.กระชังไม้ไผ่ดักขยะ เป็นโครงไม้ไผ่ติดอวน ขนาด 3x3 เมตร อายุใช้งาน 3-5 ปี
3.เครื่องมือดักขยะแบบปักหลัก เป็นโครงไม้ไผ่ผูกอวน ขนาด 5x10 เมตร อายุใช้งาน 3-5 ปี ซึ่งเครื่องมือทั้ง 3 ประเภทเหมาะสมกับสภาพกระแสน้ำ สามารถรองรับกระแสน้ำขึ้นน้ำลงได้ จะเป็นตัวช่วยดักขยะที่ไหลมาตามน้ำไม่ให้ไหลต่อลงสู่แม่น้ำท่าจีนและทะเลอ่าวไทย

ขณะเดียวกัน ได้ทำการติดตั้ง “น้องจุด” หรือ ฉลามวาฬพี่ใหญ่แห่งท้องทะเล เป็นที่พักขยะแบบถาวร สำหรับพักขยะประเภทขวดพลาสติก ทั้งจากการดักจับบนผิวน้ำและเกิดขึ้นบนบก ซึ่งขวดพลาสติกเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในขยะทะเลที่ถูกพบมากในประเทศไทย โดยจะตั้งวาง “น้องจุด” ไว้ 2 จุดในบริเวณลานวัดสหกรณ์โฆสิตาราม ซึ่งเป็นพื้นที่การจัดกิจกรรมและตลาดนัดเป็นประจำ โดยจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลเป็นประจำ

สาเหตุที่เลือกที่แม่น้ำท่าจีน ในอ.โคกขาม จ.สมุทรสาคร เพราะจากศึกษาข้อมูลและสำรวจพื้นที่ร่วมกัน พบว่าปัญหาขยะจำนวนมากที่ไหลจากชุมชนต่างๆ มารวมบริเวณนี้ก่อนจะถูกกระแสน้ำพัดพาออกปากแม่น้ำท่าจีนและอ่าวไทย โดยกว่า 80% ของขยะในทะเล เริ่มต้นจากการถูกทิ้งลงแม่น้ำ

สิ่งที่เราพบ คือ ขยะในทะเล 80% มาจาก ลำคลอง และแม่น้ำ ลอยมาจากแม่น้ำทั่วไทย และไหลไปลงในทะเล ทุกคนมองเห็นตรงกันว่า วิธีการแก้เบื้องต้น คือ เราต้องดักขยะที่ปากแม่น้ำให้ได้ ขยะก็จะไม่ไหลลงทะเล
กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
'โครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน' เกิดขึ้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะทะเล โดยแม่น้ำท่าจีน เป็น 1 ใน 5 แม่น้ำสายสำคัญที่จะไหลลงสู่ทะเล และพบปัญหาขยะที่มีมากกว่า 14 ล้านชิ้น หรือประมาณ 148 ตันต่อปี ซึ่งเกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของธนาคารกรุงเทพที่ต้องการเข้าไปแก้ไขปัญหาขยะทะเล
โดยได้ร่วมลงนามใน “บันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ” เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดภูเก็ต เพื่อเข้าร่วมโครงการในระยะนำร่อง จำนวน 5 แห่ง แบ่งพื้นที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาขยะใน 5 แม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล (แผนงานระยะ 5 ปี ระหว่าง ปี 2566 – 2570)
โดยธนาคารกรุงเทพ ดำเนินการแก้ปัญหาขยะใน ‘แม่น้ำท่าจีน’ และได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานราชการท้องถิ่นและชุมชน โดยตัดสินใจวางแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกันอย่างครอบคลุมทุกมิติ ภายใต้แนวทางแก้ปัญหาครบวงจร เพิ่มการมีส่วนร่วม และสร้างรายได้ให้ชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดการขยะทะเลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

โครงการ บัวหลวง รักษ์ท่าจีน ส่วนหนึ่ง คือ สิ่งแวดล้อม อีกส่วน คือ วัฒนธรรม เราไม่อยากแค่เก็บขยะ แต่เราอยากจะพัฒนาชุมชนร่วมกับต.ท่าจีน อนาคตเราตั้งใจ ทำตลาดท่าฉลอม-มหาชัย เพื่อทำให้มีนักท่องเที่ยวมา กระตุ้นเศรษฐกิจ นี่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ธนาคารกรุงเทพ อยากทำให้กับชุมชน
กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)