ปี 2564 พบ คนไทย ตายมากกว่า เกิด แล้ว - ส่อ วิกฤต ประชากร
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ระบุว่า ปี 2564 ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีอัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิด โดยมีอัตราการ “ตาย” จำนวน 5.63 แสนคน มากกว่าการ “เกิด” ซึ่งอยู่ที่ 5.44 แสนคน และหากเทียบด้วยตัวเลขของ “อัตราการเจริญพันธุ์” (Fertility Rate) ที่หมายถึงจำนวนประชากรที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะเพิ่มให้กับสังคม พบว่าปัจจุบันเหลือเพียง 1.3 คน จากในอดีตที่เคยมากถึง 6 คน โดยมีการประเมินว่าปี 2566 เด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 500,000 คน
ขณะที่ คนสูงอายุเกิน 60 ปี ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ ชี้ ในปี 2565 มีจำนวน 12,698,362 คน คิดเป็นจำนวนมากเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด จำนวนผู้สูงอายุสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ เด็กเกิดใหม่ ลดต่ำลง

อะไร คือ สาเหตุที่คนไทย มีลูกน้อยลง
1.ค่าครองชีพที่สูง แต่รายได้ไม่เพิ่มขึ้น หลายคนมีรายได้เพื่อเลี้ยงดูตนเอง แค่ยังชีพยังค่อนข้างลำบาก หากบริการได้ไม่ดีพอ ไม่ต้องพูดถึงเงินเก็บ เงินออม หากตัดสินใจมีลูก 1 คนจากข้อมูลพบว่าค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่จนเกิดจนถึงปริญญาตรีในสถาบันการศึกษาของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 1.6 ล้านบาทต่อคนหรือคิดเป็น 6.3 เท่าของรายได้ต่อหัวของประชากรในปี 2565 และจะมากขึ้นอีกหากผู้ปกครองต้องการให้ลูกเรียนในสถานศึกษาของเอกชน จึงทำให้หลายคนตัดสินใจที่จะไม่มีลูก เพราะหากอยากให้ลูกมีการศึกษาที่ดี หรือ เพิ่มทางเลือกให้ลูก ต้องใช้เงิน
2.สวัสดิการขั้นพื้นฐาน
2.1 เงินอุดหนุนในประเทศไทย จะพบว่า ครอบครัวที่มีบุตรหากไม่ได้เป็นข้าราชการ หรือ มีสิทธิสวัสดิการที่ดีเยี่ยม ในบริษัทเอกชนชั้นนำ จะมีสวัสดิการในการให้ เงินอุดหนุนบุตรที่ค่อนข้างจำกัด เช่น ครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยต่อคนไม่เกิน 100,000 บาท หรือ คิดเป็น 8,3000 ต่อเดือน ซึ่งส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้อาจจะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เป็นพนักงานประจำ รวมถึงต้องไม่เป็นผู้ประกันตนประกันสังคม ถึงจะได้รับ เงินอุดหนุน อยู่ที่ 600 บาทต่อเดือน ไปจนลูกอายุอายุ 6 ขวบ

ขณะที่ ผู้ประกันตนประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 เช่น กลุ่มคนทำงานออฟฟิศ มีนายจ้าง สามารถขอสามารถยื่นขอรับ เงินสงเคราะห์บุตร จากประกันสังคมได้ 800 บาทต่อเดือนต่อคน คราวละไม่เกิน 3 คน ไปจนบุตรอายุ 6 ขวบ
ซึ่งต้องยอมรับกันตามความเป็นจริงว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กเล็ก ทั้งค่านมผง ค่าแพมเพิร์ส และค่ารักษาพยาบาล ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง อย่างต่ำหลักพันต่อเดือน ซึ่งเงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้ไม่สามารถดูแลได้ทั้งหมด
ดังนั้น หากครอบครัวใด ไม่มีการเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ อาจจะทำให้กลายเป็นปัญหาด้านค่าใช้จ่ายได้ และเป็นปัญหาครอบครัวตามมา
นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูลูกเพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษี (30,000 ต่อคน) ก็ยังไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพทำให้ไม่สามารถจูงใจคนชั้นกลางให้มีลูกได้
2.2 ความยืดหยุ่นของการใช้สิทธิ์วันลา เพื่อเลี้ยงดูลูกหลังคลอด ประเทศไทยให้สิทธิที่ 3 เดือน ในขณะที่บางประเทศ สามารถลาได้ 1 ปี ซึ่งคนที่มีลูก หลายครอบครัวจะทราบดีว่า การได้ใช้เวลาในการเลี้ยงลูกช่วง 3 ปีแรก ถือเป็นช่วงเวลาคุณภาพ ซึ่งประเด็นนี้ รัฐบาลก็ต้องพิจารณาร่วมกับนายจ้างด้วย เพื่อสร้างแรงจูงใจในการมีลูก
2.3 สถานรับเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ และ สนามเด็กเล่น ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ผู้ปกครองควรเข้าถึงในราคาไม่แพง ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องได้รับการลงทุนจากภาครัฐ
3. มีปัญหาสุขภาพด้านการตั้งครรภ์ ข้อมูลจาก กรมอนามัย ระบุว่า คนไทยประมาณ 10% มีปัญหาด้านสุขภาพไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อช่วยในการตั้งครรภ์ในประเทศไทย ไม่ถือเป็นบริการพื้นฐาน หากครอบครัวใดต้องการที่จะใช้เทคโนโลยีการแพทย์ในการตั้งครรภ์ จะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายหลักแสนบาท แถมไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
ในขณะที่ ต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย บางรัฐ มีนโยบายในการสนับสนุนการตั้งครรภ์เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับประชากร
นี่ยังไม่รวม 'ค่าเสียโอกาส' ในการประกอบอาชีพ หรือ การเติบโตในหน้าที่การงาน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย เห็นความสำคัญกับการมีลูกน้อยลง และหันมาโฟกัสที่ตัวเอง และหน้าที่การงาน และการสร้างฐานะเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
จากเหตุผลข้างต้นนี้ ทำให้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประเมินว่าในอีก 60 ปีข้างหน้า ปี 2626 จำนวนประชากรไทย อาจมีจำนวนลดลงกว่าครึ่ง จาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน และประชากรวัยทำงาน (อายุ 15 ปี - 64 ปี) ลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคนเท่านั้น
ทำให้ประชากรในวัยเด็ก (ช่วงอายุ 0 ถึง 14) ที่มีสถิติการเกิดลดลจาก 10 ล้านคน ในเหลือเพียง 1 ล้านคน กลับกันกลายเป็นว่ามีผู้สูงวัย อายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน ไปเป็น 18 ล้านคน โดยคิดเป็น 50 % ของประชากรทั้งประเทศ
ซึ่งหากเราปล่อยให้เด็กไทยเกิดน้อยแบบนี้ สิ่งที่ตามมาคือ กำลังซื้อและการบริโภคจะลดลงกระทบความสามารถด้านแรงงานต่ำ การดึงดูดนักลงทุนของไทย รวมไปถึงการจัดเก็บภาษีได้น้อยลง ถือเป็นวิกฤต ซึ่งจะส่งผลต่อประชากรในประเทศ นั่นทำให้ เด็กวันนี้ ที่จะกลายเป็น วัยทำงาน ในอนาคต จำเป็นต้องทำงานจ่ายเสียภาษีสูงขึ้น เพื่อเลี้ยงดูคนไทยทั้งประเทศ
ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องวาง Road Map เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวิกฤตเด็กเกิดน้อยลง ได้แก่
1.เพิ่มสวัสดิการภาครัฐ เพิ่มศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่มีมาตรฐาน และให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของแม่ทั้งในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ ให้เงินสนับสนุนเด็กเกิดใหม่ทุกคนหรือ BABY Bonus 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือประมาณ 200,000 บาทต่อเด็กหนึ่งคน และมีการจ่ายเงินเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได โดยลูกคนที่ 3 จ่ายถึง 250,000 บาท
2.จูงใจให้ภาคเอกชนในฐานะนายจ้างให้สวัสดิการอย่างเหมาะสม เช่น นำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้เต็มที่ รวมถึงมี การจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กในที่ทำงาน จัดเตรียมสถานที่ให้นมหรือปั๊มนม ระหว่างวันรวมถึงช่วยค่าช่วยเหลือด้านการเล่าเรียน ทำให้ ผู้ปกครองไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และประสิทธิภาพด้านการทำงานลดลง
แต่อย่างไรก็ตาม การสร้างแรงจูงใจให้คนมีลูกผ่านสวัสดิการจากรัฐและเอกชนข้างต้น อาจจะไม่ได้การันตี ว่าจะสามารถเปลี่ยนความคิดของคนรุ่นใหม่ได้ทันที เพราะต้องอาศัย 'การยกระดับโครงสร้างทั้งระบบเพื่อจูงใจให้คนมีลูกมากขึ้น' โดยสิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ การสร้างสังคมที่เท่าเทียมในหลายๆมิติ ทั้งด้านการศึกษาการแพทย์ สร้างการเข้าถึงอาชีพ และรายได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในหลายๆด้าน เพื่อร่วมมือกันสร้างสังคมไทยที่เท่าเทียมมากอีกขึ้น เพื่อส่งต่อให้คนในรุ่นต่อไป
- อ้างอิง : https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2748856 https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/article-2023sep18.html
- https://lb.mol.go.th/wp-content/uploads/sites/6/2019/07/m33m39E.pdf
- https://www.thairath.co.th/lifestyle/lifestyle45plus/2678730
- https://www.sbs.com.au/language/thai/th/article/nsw-women-going-through-ivf-eligible-for-cash-rebate/wnm2l9vlm
- https://www.thecoverage.info/news/content/549
- https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?