เฟดส่งสัญญาณไม่ลดดอกเบี้ยในระยะสั้น เหตุวิตกเงินเฟ้อจากสงครามการค้า ผู้เชี่ยวชาญคาดกันยายนเร็วสุดที่จะมีการปรับลดดอกเบี้ย ขณะที่จีนเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนเจรจากับสหรัฐฯ สะท้อนความกังวลต่อผลกระทบ ด้านตลาดหุ้นไทยมีโมเมนตัมระยะสั้นจากเงินทุนไหลเข้า
เฟดส่งโทนระมัดระวัง - ชะลอการลดดอกเบี้ย
ชาตรี โรจนอาภา CFA, FRM Head of Investment Consultant SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเผยมุมมองหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ว่า ผลการประชุมไม่ได้แตกต่างจากที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ โดยเฟดยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม
"สัญญาณที่ส่งออกมาต่อเนื่องจากครั้งที่ผ่านมาว่าเฟดยังไม่ลดดอกเบี้ยในช่วงเวลานี้ เหตุผลหลักๆ ก็จะเป็นเพราะความกังวลว่าสงครามการค้าต่างๆ จะกระทบกับเงินเฟ้อในอนาคต ถึงแม้ว่าการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมาอาจจะดูแข็งแรงอยู่ แต่เฟดก็กังวลว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีในไตรมาสแรกเริ่มเห็นสัญญาณติดลบ" ชาตรีกล่าว
ทั้งนี้ จากตัวเลขความเชื่อมั่นที่ออกมาไม่ดีนัก ทำให้เฟดต้องรอดูความคืบหน้าของการเจรจาการค้าก่อนที่จะพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยในอนาคต คุณชาตรีมองว่าการประชุมครั้งถัดไปยังเร็วเกินไปที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน
"ผมไม่ได้มองว่าเป็นเชิง Hawkish นะ เพราะมันเป็นลักษณะของดาต้า ดีเพนเดนท์ และเฟดเองก็อยากจะลดดอกเบี้ยอยู่เหมือนกัน แต่สถานการณ์ยังไม่เอื้อให้เกิดการลดดอกเบี้ยจริงๆ" ชาตรีระบุ
ความไม่แน่นอนสูง - นโยบายอาจเปลี่ยนได้เร็ว
ชาตรีวิเคราะห์ว่า ความกังวลของเฟดสื่อออกมาชัดเจนในการตอบคำถามต่างๆ ว่าทุกอย่างเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการประมาณการเศรษฐกิจหรือการประเมินเรื่องการจ้างงาน ทำให้แนวโน้มของเฟดที่มองภาพในอนาคตมีความไม่ชัดเจนเยอะ
"นั่นหมายความว่านโยบายของธนาคารกลางเองก็น่าจะมีการปรับเปลี่ยนได้เร็วเหมือนกันถ้าสถานการณ์เปลี่ยน เมสเสจออกมาในลักษณะนี้ ทำให้ตลาดเองก็ไม่ได้ตอบสนองในเชิงลบหรือบวกมากนัก เพราะปัจจุบันโฟกัสอยู่บนเรื่องสงครามการค้าและข่าวการเจรจามากกว่า"
โอกาสลดดอกเบี้ย - กันยายนเร็วสุด
เมื่อถามถึงโอกาสในการลดดอกเบี้ยของเฟด ชาตรีมองว่า "ถ้าการเจรจาการค้าเริ่มเห็นความคืบหน้าในช่วงเดือนนี้ จนทำให้สามารถประเมินได้ว่าภาพของเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อเป็นอย่างไร มันน่าจะต้องเป็นช่วงครึ่งหลังของปี หรืออาจจะล่วงเลยไปไตรมาส 4 ด้วย ผมมองว่าเร็วที่สุดที่เฟดอาจมีการลดดอกเบี้ยได้ก็ต้องเป็นกันยายน"
ชาตรี วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า หากการเจรจาการค้าสามารถบรรลุข้อตกลงได้เร็ว ภายใน 3 เดือน ตัวเลขเงินเฟ้อน่าจะเห็นภาพชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 "ผมเชื่อว่าถ้าสงครามการค้าจบ เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าที่คาด ซึ่งโอกาสจะลดประมาณ 2 ครั้งในปีนี้ อาจจะกันยายนรอบหนึ่ง และธันวาคมอีกรอบหนึ่ง" อย่างไรก็ตาม ทิศทางดอกเบี้ยควรจะลงต่อเนื่อง แต่อาจไม่ใช่ทุกครั้ง อาจเป็นการลดแล้วหยุดรอดูผลกระทบที่เกิดขึ้นก่อน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ - โฟกัสเรื่องสงครามการค้ามากกว่านโยบายเฟด
ชาตรี มองว่า ตลาดหุ้นสหรัฐขณะนี้ให้น้ำหนักกับเรื่องของเฟดค่อนข้างน้อย แต่ไปโฟกัสอยู่เรื่องสงครามการค้าและเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นจากเรื่องนี้มากกว่า
"ด้วยความที่เฟดน่าจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายอะไรไปจนกระทั่งถึงเดือน 9 ช่วงเวลานี้ทำให้ความสนใจในเรื่องนโยบายการเงินอาจจะไม่ได้มากนัก และทุกคนก็จะเฝ้าติดตามตัวเลขเงินเฟ้อซึ่งจะเริ่มทยอยเห็นในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้ามากกว่า"
นอกจากนี้ยังชี้ว่า หากเห็นความคืบหน้าของการเจรจาการค้า ตลาดหุ้นก็จะมีโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่องได้จากการฟื้นตัวใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
"ตอนนี้ตลาดหุ้นก็มองล่วงหน้าไป เพราะยังไงก็ตาม ต่อให้การเจรจาการค้าราบรื่น เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 เองก็น่าจะยังแย่อยู่ เราจะเห็นผลกระทบจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ผลิตที่ยังไม่กลับมา แต่สภาวะที่ตลาดหุ้นปรับขึ้นมาก่อนล่วงหน้าที่เศรษฐกิจจะฟื้นเป็นเรื่องปกติ"
การเจรจาการค้า - จุดเปลี่ยนสำคัญ
ชาตรีมองว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีนที่เจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์อาจจะคาดหวังอะไรได้ยาก เพราะเป็นการเจรจาครั้งแรกตั้งแต่เริ่มมีข่าวสงครามการค้า "มันน่าจะเป็นการกำหนดกรอบสำหรับการเจรจาครั้งต่อไปมากกว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะเข้ามาคุยกัน"
อย่างไรก็ตาม การเจรจาการค้าครั้งใหญ่ของสหรัฐกับประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นหรืออินเดีย อาจมีความคืบหน้ามากกว่า คิดว่าถ้าประเทศใดก็ตามที่บรรลุข้อตกลงก่อนก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศนั้น
จีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ - บาซูก้าใหญ่ 10 มาตรการ
ส่วนมาตรการกระตุ้นทางการเงินของจีนครั้งนี้ถือว่าเพิ่มมากกว่าทุกครั้ง "ปกติจะทำอย่างเดียว คือถ้าไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายก็จะมีการปรับเรื่องอื่น แต่ครั้งนี้ทำ 2 อย่างพร้อมกันเลย"นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นได้ว่ารัฐบาลจีนเริ่มเห็นปัญหาของเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และการทำครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเจรจากับสหรัฐอีก ก็แปลว่าในความเห็นของธนาคารกลางจีนเองก็มีความเป็นห่วงพอสมควร"
ขณะเดียวกันมองว่านโยบายที่ออกมาอาจยังไม่เพียงพออาจจะเป็นลักษณะของการประกันเพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมากกว่า ต้องใช้ความพยายามในการเจรจาให้ภาพของการค้ากลับมาฟื้นตัวด้วย จึงจะทำให้ภาคเศรษฐกิจจีนและตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวขึ้นไปเป็นขาขึ้นต่อเนื่องได้
ตลาดหุ้นจีน - โอกาสการฟื้นตัว
แม้การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนอาจใช้เวลายาวนานกว่าจะได้ข้อยุติ แต่ชาตรีเชื่อว่าเนื้อหาใจความสำคัญหรือกระแสข่าวที่ออกมาหลังการเจรจารอบแรกจะช่วยกระตุ้นเซนติเมนต์ตลาดหุ้นจีนได้
"ตลาดหุ้นจีนตั้งแต่เริ่มมีกำแพงภาษีถือเป็นตลาดที่อันเดอร์เพอร์ฟอร์มเมื่อเทียบกับยุโรป อเมริกา หรือประเทศอื่น ผมคิดว่ามีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ถ้าเริ่มเห็นความคืบหน้าของการเจรจา แต่เป็นการฟื้นตัวที่อาจจะแลกมาด้วยความชักช้าอีกหน่อย เพราะเป็นคู่กรณีโดยตรงกับสหรัฐฯ"
ชาตรีแนะนำให้โฟกัสการลงทุนในหุ้นจีนกลุ่มที่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการบริการหรือธุรกิจกับผู้บริโภค และธุรกิจที่รัฐบาลสนับสนุน เช่น AI, Chip, Semiconductor
ตลาดหุ้นไทย - โมเมนตัมระยะสั้น
ชาตรีมองว่า ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งมาจากภาพของการเจรจาการค้าที่เริ่มดีขึ้น และอีกส่วนหนึ่งมาจาก กองทุน Thai ESG ที่มีทั้งเงินโอนย้ายและการซื้อเพิ่มที่ให้สิทธิ์ 2 เดือน (วงเงินต่อรายไม่เกิน 300,000 บาทหรือ 30%)
"ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งอาจมีแรงเก็งกำไรเข้ามาซื้อ Thai ESG ซึ่งอยู่ในช่วงไอพีโอเดียวกัน เมื่อมันผ่านช่วงไอพีโอไปแล้ว รู้ว่ามีเงินเท่าไหร่ กระแสก็จะซาลง"
นอกจากนี้ ยังมีเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทย อาจเป็นไปได้ว่ามีแรงเก็งกำไรเข้ามาจากทิศทางดอกเบี้ยของไทยที่น่าจะลงต่อเนื่อง ทำให้มีเงินไหลเข้ามา ส่วนหนึ่งเข้าตราสารหนี้ และส่วนหนึ่งเข้าตลาดหุ้นด้วย
สรุปว่า "ระยะสั้นหุ้นไทยอาจมีโมเมนตัมอยู่ แต่ถ้าเลยจากจุดนี้ไปอีก 1-2 สัปดาห์ ก็ต้องระมัดระวัง เพราะปัจจัยบวกเรื่อง Thai ESG จะหมดไป และถ้าการเจรจาการค้าคืบหน้า อาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์เริ่มกลับมาแข็งค่า ส่งผลให้แรงเก็งกำไรในค่าเงินบาทช่วงนี้อาจจะสั้นลง"