TDRI ชี้ วัดไทยเสี่ยงฟอกเงิน! ชงสูตรปฏิรูปบัญชีโปร่งใส

16 พ.ค. 2568 - 05:45

  • TDRI เปิดรายงานชี้ วัดไทยเสี่ยงเป็น ‘ช่องโกง-ฟอกเงิน’

  • เสนอรัฐเร่งหาทางแก้

  • ชงสูตร ‘ปฏิรูปบัญชี’ โปร่งใส ตรวจสอบได้

TDRI เปิดรายงานชี้ ‘วัด’ เสี่ยงถูกใช้ฟอกเงิน เสนอแนวทางป้องกันความโปร่งใสการเงินวัด

แม้วัดไทยจะอยู่ในฐานะที่พึ่งทางใจของผู้คน แต่วัดไทยกลับไม่พ้นการตกเป็นข่าวพัวพันการทุจริตและฟอกเงินมาแล้วหลายครั้ง หากย้อนดูอดีตก็มีกรณีอดีตพระผู้ใหญ่ใน ‘คดีเงินทอนวัด’ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตรวจสอบพบการนำเงินอุดหนุนวัดจากรัฐไปแบ่งผลประโยชน์กับข้าราชการ จนกลายเป็นมหากาพย์ที่สะเทือนศรัทธาเมื่อไม่กี่ปีก่อน... ถึงปัจจุบัน หลายวัดยังไม่มีระบบตรวจสอบรายรับรายจ่ายที่โปร่งใส โดยเฉพาะเงินบริจาคจากญาติโยมที่ศักดิ์สิทธิ์เกินแตะต้อง จนกลายเป็นช่องโหว่ใหญ่ที่กลุ่มฟอกเงินอาจใช้แอบแฝงดำเนินการผิดกฎหมายได้โดยง่าย

ล่าสุด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จึงออกมาเคลื่อนไหว เสนอแนวทาง “ทำให้เงินวัดโปร่งใส” ด้วยระบบบัญชีที่ตรวจสอบได้ พร้อมชี้ว่า หากรัฐยังปล่อยให้วัดอยู่ใน ‘สุญญากาศทางกฎหมาย’ แบบนี้ต่อไป ความศรัทธาอาจกลายเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางการเงินอย่างไม่รู้ตัว

ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแพร่รายงานศึกษาฉบับใหม่ที่ชี้ให้เห็นถึง ความเสี่ยงที่วัดในประเทศไทยอาจถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือทุจริต พร้อมยกกรณีตัวอย่างจริงและเสนอแนวทางป้องกันเพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัด

tdri-releases-report-temples-risk-money-laundering-finance-SPACEBAR-Photo02-1.jpg

รายงานระบุว่า วัดในประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาของพุทธศาสนิกชน มักได้รับเงินบริจาคจำนวนมากจากประชาชน โดยเฉลี่ยมีรายรับถึง 3.24 ล้านบาทต่อปีต่อวัด และยังได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐราว 3,000-4,500 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม ระบบการตรวจสอบบัญชีวัดยังมีช่องโหว่ ทั้งในแง่ของมาตรฐานบัญชีที่ไม่รัดกุม และการขาดกลไกการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน

tdri-releases-report-temples-risk-money-laundering-finance-SPACEBAR-Photo01-1.jpg

แนวแทางป้องกัน-แก้ไข สร้าง ‘โปร่งใสการเงินวัด’

ทั้งนี้ TDRI เสนอแนวทางแก้ไขสำคัญ ได้แก่
1. ปรับปรุงกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ เช่น กำหนดให้วัดต้องแยกบัญชีเงินบริจาคและรายได้อื่นอย่างชัดเจน ออกใบเสร็จทุกครั้ง และทำรายงานรายรับ-รายจ่ายทุกเดือน
2. เผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ โดยให้ติดประกาศบัญชีรายรับ-รายจ่ายในบริเวณวัด เพื่อให้พุทธศาสนิกชนตรวจสอบได้
3. เพิ่มบทบาทของสำนักงาน พศ. ให้มีอำนาจและหน้าที่ชัดเจนในการตรวจสอบบัญชีวัด พร้อมจัดทำแบบฟอร์มบัญชีให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ รายงานยังเสนอให้ศึกษาแนวทางจากต่างประเทศ เช่น กรณีของศรีลังกาที่ใช้ระบบคณะกรรมการวัดและกำหนดบทลงโทษชัดเจนสำหรับการบริหารผิดกฎหมาย เพื่อสร้างระบบธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดให้โปร่งใสและตรวจสอบได้

รายงานชิ้นนี้ของ TDRI ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย ลดความเสี่ยงในการถูกใช้เป็นช่องทางฟอกเงิน และรักษาศรัทธาของประชาชนต่อพระพุทธศาสนาในระยะยาว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์