แม้การออกมาส่งเสียงขู่ยุบสภาดัดหลังพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ ‘หมอเชิดชัย’ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จะไม่ได้มีราคาค่างวดอะไรนักในทางการเมือง
เพราะหมอเชิดชัย ถึงจะเป็นหนึ่งในแกนนำเสื้อแดงภาคอีสาน แต่สถานะในพรรคเพื่อไทย ก็เป็นเพียงสส.คนหนึ่ง ที่ไม่ได้มี**‘พลัง’**อะไรมากมายพอจะนำไปสู่การ‘**ยุบสภา’**สั่งสอนได้
ในขณะที่ ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ที่อยู่ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล มองข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงทัศนะของหมอเชิดชัย และเป็นความเห็นของสส.แต่ละพรรค แต่ละคนที่เป็นอิสระ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นในรัฐบาล
‘ไม่กระทบความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะผู้ใหญ่แต่ละคนหนักแน่น ไม่เช่นนั้น ฟังกันทุกวันคงต้องยุบสภากันวันละหลายๆ รอบ’
ภูมิธรรมยังพูดทีเล่นทีจริงว่า ‘คงต้องให้ นพ.เชิดชัย ไปยุบ’
และสำทับหลักการตามว่า อำนาจยุบสภาเป็นของนายกรัฐมนตรี และที่ผ่านมานายกฯ ไม่เคยมีดำริหรือท่าทีที่จะยุบสภา
ขณะที่ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคเป้าหมายที่หมอเชิดชัยพูดถึง ตอบคำถามสื่อตามหลักการเช่นกันว่า คนที่ยุบสภาได้มีคนเดียวคือนายกรัฐมนตรี
‘ก็อย่าไปฟัง เราฟังเฉพาะคนที่มีอำนาจพอแล้ว คนที่ไม่มีอำนาจพูดไปก็เหมือนไม่ได้พูด ส่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้ก็ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไร เดี๋ยวก็หารือแล้วก็ว่ากันไป ตอนนี้ควรจะเน้นไปที่การช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วมภาคใต้ก่อนดีกว่า’
อนุทิน ไม่ได้ให้ราคาคำพูดของหมอเชิดชัย ที่จะมีผลไปถึงการบั่นทอนกำลังใจของพรรคร่วมรัฐบาลในการทำงาน และไม่ได้รู้สึกเป็นการกดดันพรรคภูมิใจไทย
‘ไม่มี รุ่นใหญ่เขาคุยกัน ไม่ไปคุยกับรุ่นเล็กหรอก เสียเวลา’
เรื่องนี้มองเผินๆ เหมือนจะไม่มีอะไร และที่สำคัญระดับผู้ใหญ่ของทั้งสองพรรค ก็ออกมาแสดงท่าทีให้เห็นชัดเจนไปแล้ว จึงไม่มีอะไรต้องไปเสียเวลาอย่างที่ ‘เสี่ยหนู’ พูดทิ้งท้ายไว้
แต่บังเอิญมันมีปมเรื่องแก้กฎหมายประชามติ ที่สองพรรคใหญ่ ‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ ขบเหลี่ยม เหยียบตาปลากันอยู่ ซึ่งไม่รู้จะลงเอยอย่างไร เมื่อมีการโยนประเด็นนี้ออกมาจึงทำให้สื่อหลายสำนักพร้อมใจกันให้พื้นที่ โดยพุ่งเป้าไปที่เนื้อหามากกว่าคนให้ข่าว
คำขู่ยุบสภาดัดหลังพรรคที่ขัดขวางการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นาทีนี้ไม่ว่าจะมีผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยรู้เห็นด้วย หรือเป็นการออกมาพูดเอามันของหมอเชิดชัยเองก็เถอะ
แต่มันได้แสดงถึงจุดยืนของคนในพรรคเพื่อไทย ที่ยังมีความมุ่งมั่นกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่เหมือนเดิม ไม่ได้มีเฉพาะพรรคสีส้มที่ ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ เดินสายไปหารือคนนั้นคนนี้ เสมือนกระตือรือล้นอยู่พรรคเดียว ประมาณนั้น
การยุบสภาถือเป็นเรื่องใหญ่
ที่อย่าว่าแต่จะไปดัดหลังพรรคอื่นเลย ขืนยุบสภาขึ้นมาจริงๆ เพื่อไทยในสถานการณ์แบบนี้ นายใหญ่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ยังไม่คืนฟอร์ม รัฐบาลก็ยังไม่มีผลงาน นายกฯ อิ๊งค์ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ก็อยู่ระหว่างตั้งไข่ นำทัพเองไม่ได้ ยุบสภาขึ้นมาวันใด เพื่อไทยก็ต้องไป ‘ตายเอาดาบหน้า’ เหมือนกัน!!
เพราะฉนั้น เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประธานฯ ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ บรรจุไว้ในระเบียบวาระ จำนวน 14 ฉบับ และอาจจะมีเสนอเพิ่มเติมจากพรรคประชาชนอีกนั้น เบื้องต้น ‘วิสุทธิ์ ไชยณรุณ’ ประธานวิปรัฐบาล จะนัดประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 9 ธันวาคม และนำไปหารือกับประธานรัฐสภาอีกครั้ง
โดยประธานฯ วันนอร์ ยังแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่ได้รับปากเสียทีเดียวว่าร่างที่บรรจุวาระไว้ รวมทั้ง ที่จะเสนอเข้ามาเพิ่มเติมจะได้รับการบรรจุเข้าพิจารณาทั้งหมด เพราะต้องดูด้วยว่าขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปี 2564 หรือไม่
‘ยืนยันว่าทุกฉบับที่อยู่ในสภาขณะนี้เป็นการแก้ไขรายมาตรา ไม่มีฉบับใดต้องไปทำประชามติ ยกเว้นจะมีฉบับที่เสนอขึ้นมาใหม่แล้วต้องทำประชามติ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง’
นี่คือความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งการแก้ไขรายมาตราและแก้ไขเพื่อนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) มายกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ตามที่ได้หาเสียงและแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้
ในขณะที่ท่าทีล่าสุดของ ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ มือกฎหมายรัฐบาล กลับประกาศว่า เมื่อจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขเป็นรายมาตราให้ประชาชนเกิดความสับสนอีก
เมื่อชูศักดิ์ ส่งสัญญาณมาแบบนี้ จึงไม่แน่ใจว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทั้ง 14 ฉบับที่บรรจุระเบียบวาระไว้แล้ว จะถูกนำมาพิจารณาหรือไม่ หรือทั้งหมดที่ว่ามา เป็นแค่ ‘ลีลาหาเสียง’ ของเพื่อไทย ที่ต้องการเล่นกับกระแสไปวันๆ
หวังตีกันไม่ให้พรรคสีส้มตีกินอยู่ฝ่ายเดียวเท่านั้นเอง