ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา หลังจากกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EAของ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ต้องเผชิญกับมรสุมจากข่าวร้ายที่ซัดกระหน่ำเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว เจียนอยู่เจียนไป สถานการณ์ที่เดินมาถึงตอนนี้ดูคล้ายกับว่า เมฆหมอกแห่งความเลวร้ายต่างๆ เริ่มคลี่คลายลง จนเชื่อกันว่าเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หลังจากที่มีทีมงานบริหารชุดใหม่เข้ามา
แต่สิ่งที่เห็นในตอนนี้เป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง ที่จริงแล้วยังมีปัญหาที่ใหญ่กว่าอยู่ใต้ผืนน้ำ คือ เม็ดเงินที่ถูกดูดออกไปเพื่อสนับสนุนธุรกิจในกลุ่มที่ยังมองไม่เห็นอนาคต ทั้งหมดจึงเป็นเพียงการ ‘ซื้อเวลา’ ไปเพียงชั่วคราว
สมโภชน์ ต้องออกจากตำแหน่ง CEO ของกลุ่ม พร้อมกับ ‘อมร ทรัพย์ทวีกุล’ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จากกรณีที่ถูก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.กล่าวหาเรื่องการทุจริตในการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศและโปรแกรมซอฟท์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่นครสวรรค์ และลำปาง มูลค่ากว่า 3.465 พันล้านบาท และตกเป็นผู้ต้องหาที่มีนัดหมายเข้ามอบตัว กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ในวันนี้ (16 สิงหาคม 2567)
EA มีการแต่งตั้งผู้บริหารชุดใหม่ โดยให้ ‘ฉัตรพล ศรีประทุม’ นั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) แทน ‘สมใจนึก เองตระกูล’ ที่ไปนั่งรักษาการชั่วคราว ส่วนสมใจนึก จะกลับมานั่งในตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทตำแหน่งเดียว เช่นเดิม
ขณะเดียวกันยังแต่งตั้ง ‘วสุ กลมเกลี้ยง’ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (CFO) และ ‘สุพันธุ์ มงคลสุธี’ เป็นกรรมการบริษัทแทน ‘ชัชวาลย์ เจียรวนนท์’ กรรมการที่ลาออก ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา
การเข้ามาของทีมบริหารชุดใหม่ มีโจทย์ยากที่ต้องเร่งเข้ามาแก้ไข คือปัญหาด้านสภาพคล่องที่จำเป็นต้องหาทางปลดล็อก เร่งปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้นที่กำลัง ‘จ่อคอหอย’ และทยอยครบกำหนด ทั้งตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ B/E และหนี้หุ้นกู้ เพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เพื่อประคองไม่ให้ราคาหุ้นของกลุ่ม EA ไหลลงไปลึกกว่าที่เป็นอยู่
เจ้าหนี้รายใหญ่ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) โดดเข้ามาเป็นแบงก์หลักที่ทำหน้าที่เป็นผู้เจรจา**‘ทำดีล’**ปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีการเจรจานำหนี้ตั๋วB/E ของ บลจ.แอสเซท พลัส (Asset Plus) เข้ามารวมอยู่ในหนี้แบงก์แล้ว เพื่อ ‘ยืดระยะเวลา’ จ่ายหนี้ออกไปเป็น 3 ปี โดยแลกกับการชำระหนี้จากกระแสเงินสด (Cash Flow) ในการดำเนินงานของ EA ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาครัฐ (PPA) ซึ่งจะทยอยจ่ายเป็นรายเดือน จำนวน 36 เดือน เพื่อไม่เป็นการกดดันให้ EA จะต้องสูญเสียกระแสเงินสดให้กับการจ่ายตั๋วเงินในระยะสั้น
ส่วนหนี้หุ้นกู้ ที่จะครบกำหนดปีนี้ การขอเลื่อนออกไปก็เป็นแนวทางหนึ่งในการปรับโครงสร้างเหมือนบริษัทอื่น ๆ ในการพยายามทำทุกวิถีทางไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ (Default) อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า SCB และ EA ที่มีความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะปรับโครงสร้างให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไป โดยนำสินทรัพย์ทุกอย่างมากองและแก้ปัญหาหนี้หุ้นกู้ไปทีละเปลาะ เห็นร่องรอยของความพยายาม อย่างหุ้นกู้รุ่น EA248A ก็มีการเพิ่มหลักประกัน
สำหรับหลักประกันที่เพิ่ม ได้แก่การจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจสิทธิเรียกร้องภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างบริษัทย่อยและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรวม 5 สัญญา สิทธิในบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ให้หลักประกันแต่ละราย ซึ่งรับเงินค่าไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรโรงไฟฟ้า (กังหันลม) ของผู้ให้หลักประกันแต่ละรายให้แก่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ มีการจำนองอาคารสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทย่อยของ EA ทั้ง 5 แห่งให้แก่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
ในการแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม กลุ่ม EA ได้เข้าทำสัญญาเงินกู้ยืมระยะยาวและเงินกู้ยืมร่วม (Syndicated Loan) กับสถาบันการเงินหลายแห่งคิดเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 8,500 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น คือตั๋วสัญญาใช้เงินหรือ B/E จากสถาบันการเงินโดยมีการกำหนดเงื่อนไขการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยภายใน 3 ปี โดยกลุ่มกิจการจะทยอยจ่ายคืนเงินกู้ผ่านกระแสเงินสด (Cash Flow) จากการดำเนินงานตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาครัฐ (PPA)
จากนั้นวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 สำหรับหุ้นกู้รุ่น EA248A ซึ่งมีนักลงทุนสถาบันเป็นเจ้าหนี้ส่วนใหญ่มีมติอนุมัติการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้โดยไม่ถือเป็นเหตุให้ผิดนัดจำนวน 1,500 ล้านบาท จากเดิมครบกำหนดในวันที่15 สิงหาคมปีนี้ เป็นวันที่ 31 พฤษภาคม 2568 และปรับอัตราดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 3.11 ต่อปีเป็นร้อยละ 5.00 ต่อปี พร้อมทั้งมีหลักประกันให้เพิ่มเติม โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดชำระ
แต่เมื่อถึงวันที่ 14 สิงหาคม ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA249A ที่บริษัทต้องการขออนุมัติการขยายวันครบกำหนด ไถ่ถอนหุ้นกู้โดยไม่ถือเป็นเหตุให้ผิดนัดจำนวน 4,000 ล้านบาท เกิดอาการสะดุด เมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ที่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวไม่ครบองค์ประชุม 66% ของหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน จึงต้องเลื่อนไปจัดการประชุมใหม่อีกครั้งในวันที่ 23 สิงหาคม โดยจะต้องมีองค์ประชุมเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 20% ซึ่งคาดว่าจะครบองค์ประชุมและได้รับการอนุมัติ
แหล่งที่มาของเงินทุนสำหรับการชำระหนี้หุ้นกู้และดอกเบี้ย ‘วสุ กลมเกลี้ยง’ ในฐานะ CFO ของกลุ่ม EA เปิดเผยว่าจะมาจาก กระแสเงินสดจากการขายไฟฟ้าจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ประมาณเดือนละ 1,000 ล้านบาท และเงินทุนที่ได้รับจากการเข้าร่วมทุนกับผู้ร่วมทุนรายใหม่ Strategic Partner(s) ที่ให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาในโครงการต่าง ๆ ของบริษัท ซึ่งกำลัง ‘อยู่ระหว่างเจรจา’
นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะระดมทุน ผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) หรือการจำหน่ายสินทรัพย์ให้แก่นักลงทุนที่ให้ความสนใจ
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากผลประกอบการของกลุ่มในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ยังต้องบอกว่า อาการของกลุ่ม EA ยังดูน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีกำไรสุทธิลดลงอยู่ที่ 541.74 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสแรก 346.96 ล้านบาท ลดลงถึง 39% ทำให้ ‘ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567’ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,430.44 ล้านบาท
สาเหตุที่มีรายได้และผลกำไรลดลง เนื่องจากการดำเนินงานของธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าและรถไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงในส่วนของธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน มีส่วนแบ่งกำไรลดลงจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและร่วมการค้า รวมทั้งมีรายได้จากการขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ลดลง เนื่องจากการหมดระยะเวลาการรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (adder)
ขณะเดียวกัน หากไปพลิกดูงบการเงินของกลุ่ม EA จะพบการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้การค้า ลูกหนี้ตามสัญญาเช่าเงินทุนและสินค้าคงเหลือ ที่ทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานลดลงจนติดลบ เพราะมีเงินสดไหลออกจากบริษัทไป โดยในปี 2566 มีลูกหนี้การค้า 8,800 ล้านบาท มีลูกหนี้ตามสัญญาเช่าเงินทุน 7,526 ล้านบาท และมีสินค้าคงเหลือ 7,412 ล้านบาท
ทั้งหมดคือปัญหาใหญ่ของกลุ่ม EA เพราะแสดงว่ารายได้หลักส่วนใหญ่ของโรงไฟฟ้าของกลุ่มEA ในอดีต ถูก ‘ดูด’ ออกไปเพื่อสนับสนุนกิจการของกลุ่มEA ทั้งในส่วนของ โรงงานผลิตรถไฟฟ้า และการสนับสนุนเงินทุนให้กับ ไทยสมายล์บัส จนทำให้มีกระแสเงินสดลดลงอย่างน่าตกใจ เมื่อปีที่แล้วถึงขั้นติดลบถึง 457 ล้านบาท เพราะมีการปล่อยเงินจาก EA ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ BYD เพื่อให้กับไทยสมายล์บัส เช่าซื้อรถบัสไฟฟ้าของ NEX
ขณะที่ธุรกิจ EV Battery ที่ดำเนินการโดย AMITA บริษัทในเครืออีกแห่ง ยังคงมีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะประเด็นสำคัญคือ Battery ของ AMITA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของไต้หวันนั้น คงไม่ต้องบอกว่าวันนี้ยังห่างไกลเทคโนโลยี Battery จากจีน
ทั้งหมดคือปัญหาใหญ่ที่ กลุ่ม EA ยังหาทางออกไม่ได้ ความพยายามในการปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้น โดยการยืดหนี้ออกไป โดยเพิ่มหลักประกันให้ อาจช่วยยืดลมหายใจไปได้ชั่วคราว แต่หากผลการดำเนินงานของกิจการในเครือทั้งหลายที่มีการขยายออกไปจนเกินตัว ยังไม่สามารถสร้างรายได้ให้กลับคืนมามากพอที่จะคืนหนี้ให้กับ EA
บทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร คงพอเห็นคำตอบ...