หลังจากร่วมรัฐบาลมาได้ 1 ปี 4 เดือน พรรครวมไทยสร้างชาติเพิ่งจะมีผลงาน ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ตามสโลแกนของพรรคฯผลงานแรกผลงานเดียว เป็นผลงานของรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุด ‘เอกนัฏ พร้อมพันธุ์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งแค่ 4 เดือน
นั่นคือการ ‘ปลดล็อก’ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 1 เมกะวัตต์ ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหรือ ‘ใบ รง. 4’ จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมอีกแล้ว
ที่ประชุม ครม. วันที่ 17 ธันวาคม 2567 มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงอุตสาหกรรม ยกเว้นให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อปทุกกำลังการผลิตไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน และไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
เดิมกฎหมายโรงงานกำหนดให้การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปตั้งแต่ 1,000 กิโลวัตต์ หรือ 1 เมกะวัตต์ ขึ้นไป ต้องขอใบอนุญาต รง. 4
เป็นเวลานานกว่า 10 ปีที่ภาคเอกชนทั้งที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม SMEs และธุรกิจรับจ้างติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ‘ผลักดัน’ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกกฎข้อนี้ เพื่อความรวดเร็ว คล่องตัวในการนำไฟฟ้าโซลาร์เซลล์มาใช้ในโรงงาน สำนักงาน ศูนย์การค้า ทดแทนไฟฟ้าจากระบบที่มีราคาแพง เพราะการขอใบอนุญาต รง.4 ต้องใช้เวลานาน ต้องเตรียมเอกสารมากมาย มีค่าใช้จ่ายเยอะ และเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจของตัวเองว่าจะออกใบอนุญาตให้หรือไม่
ในขณะที่ ‘สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.)’ ฟันธงมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วว่า การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป จะผลิตไฟฟ้ามากน้อยเท่าไร ‘ไม่ใช่โรงงาน’ ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เพราะแผงโซลาร์เซลล์ ไม่เข้าข่ายเป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ในโรงงงาน
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการขายไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ให้การไฟฟ้านครหลวงหรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ไม่ต้องมีใบอนุญาต รง.4 โดยออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเรื่อง การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ไม่ถือเป็นโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557
แต่กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมในตอนนั้น ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า หากแผงโซลาร์เซลล์มีปัญหาไฟไหม้ขึ้นมา ใครจะดูแลรับผิดชอบ
เรื่องนี้จึงคาราคาซังเรื่อยมา โดยที่กฎกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กำหนดให้การติดตั้งโซลาร์รูฟ
ท็อป 1 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอใบ รง.4 ยังมีผลบังคับใช้
ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีราคาถูกลงใช้พื้นที่น้อยลง มีความปลอดภัย แต่กฎกระทรวงฯเรื่องใบ รง.4 เป็น ‘กำแพงโบราณ’ ที่ขวางไม่ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงไฟฟ้าพลังงานสะอาด
มาถึงยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เริ่มมีการขยับในเรื่องนี้ มีข่าวจะผลักดันให้มีการยกเลิกใบ รง.4 ตั้งแต่ต้นปี 2567 แต่ก็ยังไม่มีอะไรออกมา
จนกระทั่งเปลี่ยนนายกฯจากเศรษฐา เป็น ‘แพทองธาร ชินวัตร’ เอกนัฏเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมแทนพิมพ์ภัทรา เมื่อต้นเดือนกันยายน 2567 จึงได้สานต่อและผลักดัน ให้มีการยกเลิกใบ รง.4 สำหรับโรงงานที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป โดยผ่านการอนุมัติจาก ครม.เป็นของขวัญปีใหม่ที่ยั่งยืน มีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ในทันทีที่กฎกระทรวงนี้มีผลบังคับใช้
ความพยายามที่ล้มเหลวมานานถึง 10 ปี มา ‘ประสบความสำเร็จ’ ในรัฐบาลที่เอกนัฏ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ไม่ต้องเสียเวลาไปร่าง พ.ร.บ. ใหม่ซึ่งใช้เวลานาน ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไร และมีผลอย่างไร เพราะซ้ำซ้อนกับกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว ในตอนนี้