นาทีนี้กระแสปรับ ครม.อิ๊งค์ 1 รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร กำลังมาแรง หลังการเมืองผ่านเข้าสู่ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ แม้จะยังไม่มีสัญญาณชัดจากพรรคเพื่อไทย มีเพียงเสียงหัวเราะของ ภูมิธรรม เวชยชัย เมื่อถูกถามถึงการปรับ ครม. ที่ให้ไปถามจากนายกฯ เอาเอง
‘เจอนายกฯ ให้ถามจากนายกฯ เลย เพราะเป็นอำนาจของนายกฯ คนอื่นไม่มีใครทราบว่าเหมาะสมหรือยัง มีปัญหาที่ต้องปรับกระทรวงใดบ้าง นายกฯ ยังไม่เคยคุยกับใคร’
เป็นคำตอบที่ยืดยาวพอสมควร ทว่าสุ้มเสียงดู ‘ผ่อนคลาย’ เหมือนจะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ เกิดขึ้น ตามที่นายกฯ อิ๊งค์ ได้ตอบสื่อไว้ก่อนหน้านี้ อยากให้ทุกคนได้ทำงานไปก่อน เพราะเข้ามาทำงานพร้อมกันไม่นาน
ประมาณว่า วิธีคิดของนายกฯ ‘อิ๊งค์ Gen Y’ อาจจะผ่าเหล่าจากสไตล์ดั้งเดิมของเพื่อไทยสักหน่อย ที่เคยปรับครม.ในทุกๆ 6 เดือน เปลี่ยนมาเป็นมากกว่านั้นหรือหนึ่งปีแทน
แต่จากสารพัดปัญหาที่ถาโถม รุมเร้าเข้าหารัฐบาลอย่างหนัก ทำให้บรรดานักสังเกตการณ์ทางการเมืองทั้งหลาย เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกำลังจะมีขึ้นในเร็ววันนี้ ก่อนสภาจะกลับมาเปิดอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม หรือหลังเปิดสภาสมัยวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2569 ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม
ส่วนจะปรับเล็กปรับใหญ่ขนาดไหนนั้น น่าจะอยู่บน 3 ฉากทัศน์ด้วยกัน ได้แก่
หนึ่ง ปรับขนาดเล็ก แค่ ‘สลับเก้าอี้’ ดนตรีกันภายในของแต่ละพรรค หรืออย่างมากก็ขอแลกกระทรวงกับพรรคร่วมบางพรรคซึ่งเป็นลูกไก่ในกำมือ ที่ไม่มีความสลักสำคัญหรือมีนัยในทางการเมืองใด
สอง ปรับแบบใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย คือขอ ‘เขย่าเก้าอี้’ แต่ละกระทรวงกันใหม่ เพราะในช่วงที่ฟอร์มรัฐบาลครั้งแรกนั้น อยู่ภายใต้เหตุผลหนึ่ง แต่ผ่านมาถึงวันนี้อยู่บนอีกเหตุผลหนึ่ง ไม่มีการโหวตเลือกประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรีแล้ว
ดังนั้น จึงขอจัดสรรเก้าอี้แต่ละกระทรวงใหม่ โดยเฉพาะกระทรวงสำคัญๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ซึ่งตรงนี้คงต้องเจรจากันมากหน่อย เพราะภูมิใจไทยที่คุมอยู่เดิมคงไม่ยอม เนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการเลือกตั้ง
เว้นเสียแต่จะนำกระทรวงที่อยู่ในเกรดเดียวกันมาแลก อาทิ คมนาคม เกษตรและสหกรณ์ สาธารณสุข หรือยุติธรรม เป็นต้น ซึ่งอย่างที่สองนี้คงมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย
สาม เมื่ออย่างที่สองเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะภูมิใจไทยไม่ยอม แต่ถ้าเพื่อไทยยังอยากได้กระทรวงมหาดไทย ก็เหลือวิธีเดียวคือ ‘ปรับภูมิใจไทยออกจากรัฐบาล’ ซึ่งเป็นวิธีที่เสี่ยงมาก เพราะรัฐบาลจะมีเสียงปริ่มน้ำ จาก 320 เสียง หายไป 69 จะเหลือ 251 เสียง เกินครึ่งมาแค่ 4 เสียงเท่านั้น จากจำนวนสส.ที่มีอยู่ทั้งหมด 494 เสียง
ยกเว้นไปดึงพรรคพลังประชารัฐ ที่มีอยู่ 20 เสียงมาเติม ก็จะทำให้ผ่อนคลายได้บ้าง เพราะมีเพิ่มเป็น 271 เสียง และอาจมีที่ฝากเลี้ยงไว้อีกจำนวนหนึ่ง ก็คงทำให้บริหารประเทศต่อไปได้ แม้จะมีด่านสภาสูง ที่เป็นสีน้ำเงินเข้มอยู่ก็ตาม
แต่ปมฮั้วเลือก สว. ในมือดีเอสไอ คงทำหน้าที่เชือกกระตุกได้บ้าง เมื่อถึงคราวจำเป็น
ทั้งสามฉากทัศน์ที่ว่า ความเป็นไปได้น่าจะเรียงตามลำดับ 1-2-3 โดยข้อสุดท้ายมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด เว้นเสียแต่จะเป็นเกมนับถอยหลังสู่การยุบสภา ที่ต้องการหักแขน หักขา มัดมือ มัดเท้า ให้ภูมิใจไทยออกไปเป็นฝ่ายค้าน จะได้ไม่ต้องอยู่เป็นรัฐบาลรักษาการในระหว่างการเลือกตั้ง
ถ้าเล่นเกมนี้ก็ย่อม ‘แตกหัก’ กับภูมิใจไทย หลังขับรถปาดหน้า ปาดหลัง จนมาถึงช่วงที่เหลือเลนเดียว อีกคันก็ไปต่อไม่ได้ สงครามตัวแทนระหว่าง ‘พ่อ-ลูก’ ก็ได้เวลารูดม่าน
แต่ไม่ว่าจะปรับแบบไหน ก็ล้วนเป็นการบริหารการเมือง ไม่ใช่การบริหารบ้านเมือง ที่ทำเพื่อให้ประเทศชาติอยู่รอด?!