แผนการเมือง ‘ไฮแจ็ค’ การบินไทย เดือด แบงก์กรุงเทพผนึกกำลังเจ้าหนี้หุ้นกู้สหกรณ์ฯ ยื่นคัดค้านมติเพิ่ม 2 ตัวแทนภาครัฐนั่งผู้บริหารแผนเพิ่มเติม ศาลล้มละลายกลางนัดชี้ขาด 21 มกราคม ปีหน้า ในขณะที่ CEO การบินไทย เสนอปลดตัวแทนกระทรวงการคลัง พ้นจากตำแหน่งกรรมการเจ้าหนี้หลังแปลงหนี้เป็นทุนเรียบร้อยแล้ว
ความพยายามในการสกัดกั้นการกลับเข้ามามีบทบาทของฝ่ายการเมืองและภาครัฐในการบินไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปรับปรุงการดำเนินงานหลายๆ อย่าง เพื่อออกจากแผนฟื้นฟูกิจการไปสู่สถานภาพปกติ และกลับเข้าไปเป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยใหม่อีกครั้งในราวกลางปี 2568 ยังคงต้องมีการต่อสู้กันอย่างเข้มข้น
ล่าสุดในวันนี้ (12 ธันวาคม 2567) ‘ศาลล้มละลายกลาง’ มีกำหนดนัดไต่สวน กรณีเจ้าหนี้การบินไทยรวม 9 ราย ‘ยื่นคำร้องคัดค้าน’ มติที่ประชุมเจ้าหนี้แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในมติสำคัญที่ต้องการเพิ่มตัวแทนจากภาครัฐอีก 2 คน ให้มานั่งเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
ก่อนหน้านี้ ในการประชุมเจ้าหนี้ของการบินไทยในรูปแบบออนไลน์ มีการลงเสียงผ่านมติให้เพิ่มผู้บริหารแผนจากภาครัฐอีก 2 คน คือ ‘พลจักร นิ่มวัฒนา’ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จากกระทรวงการคลัง และ ‘ปัญญา ชูพานิช’ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการขนส่ง (สนข.) จากกระทรวงคมนาคม
ซึ่งจะทำให้คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูในช่วงสุดท้ายจะมีตัวแทนจากภาครัฐถึง 3 ใน 5 คน จากเดิมที่มี 3 คน คือ ปิยสวัสดิ์ อมระนันท์, ชาญศิลป์ ตรีนุชกร และตัวแทนจากกระทรวงการคลัง พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
ผลโหวตที่ออกมาปรากฏว่า ตัวแทนจากฝั่งเจ้าหนี้ที่มาจากกระทรวงการคลังและภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ โหวตรับข้อเสนอการเพิ่มตัวแทนภาครัฐเพิ่มอีกสองคน ด้วยมีมูลหนี้รวมกัน 54,210 ล้านบาท ในขณะที่ตัวแทนเจ้าหนี้จากกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสหกรณ์ฯ โหวตไม่รับข้อเสนอ คิดเป็นมูลหนี้รวมกัน 53,341 ล้านบาท หรือเท่ากับ 50.4% ต่อ 49.6% ซึ่งชนะกันชนิดต้องถ่ายรูปตัดสิน คือ เพียง 0.4% จากมูลหนี้ทั้งหมด 107,552 ล้านบาท
ตัวแทนในฝั่งเจ้าหนี้รวม 9 ราย ซึ่งมีเจ้าหนี้รายใหญ่ 6 ราย ที่นำโดย ธนาคารกรุงเทพ สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจำกัด สหกรณ์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสุราษฎร์ธานี จำกัด และสหกรณ์ออมทรัพย์องค์การเภสัชกรรม จำกัด และ สหกรณ์ออมทรัพย์ป่าไม้ รวมทั้งรายย่อยอีก 3 ราย ประกอบด้วย เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, กิติมา สีตลกาญจน์ และธนายุส โฆสิตสกุล
ยื่นคัดค้านมติดังกล่าว โดยขอให้มีการตีความสถานะของกระทรวงการคลังว่าสามารถใช้สิทธิ์โหวตในฐานะเจ้าหนี้หรือไม่
ตัวแทนในฝั่งเจ้าหนี้หุ้นกู้ทั้ง 9 ราย มีความเห็นว่ากระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนที่กระทรวงการคลังยอมแปลงหนี้เป็นทุนน่าจะเสร็จสิ้นไปตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน เมื่อมีการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูฯ และการบินไทยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระของบริษัทไปแล้ว แต่ปรากฏว่ากระบวนการกลับไม่แล้วเสร็จ โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลังได้มีหนังสือถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอให้ชะลอการจดทะเบียนไว้หลังการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
หากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการตามคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของการบินไทย ก็จะมีผลทำให้กระทรวงการคลัง ‘ไม่มีสถานะ’ เป็นเจ้าหนี้การบินไทย และกลายเป็นผู้ถือหุ้นเนื่องจากแปลงหนี้ทั้งหมดเป็นทุนแล้ว ทำให้ไม่มีสิทธิในการโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ จนสามารถส่งตัวแทนเข้ามานั่งในทีมผู้บริหารแผนฯ ได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าการนับสิทธิออกเสียงของเจ้าหนี้กลุ่มอื่นๆอาจไม่ถูกต้องตามจำนวนหนี้คงเหลือ
เนื่องจากเจ้าหนี้กลุ่มดังกล่าวได้รับการชำระหนี้จากการ ‘แปลงหนี้เป็นทุน’ ไปแล้วเช่นเดียวกันกระทรวงการคลัง จึงขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนมติที่ประชุมเจ้าหนี้ในวันดังกล่าว และสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการนับสิทธิออกเสียงใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
หลังจากศาลรับฟังคำแถลงด้วยวาจา และซักถามรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี จึงมีข้อสรุปขอให้ทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนทำเอกสารมีชี้แจงเพื่อประกอบการพิจารณา โดยนัดชี้ขาดตัดสินในเรื่องดังกล่าวในวันที่ 21 มกราคมปี 2568
ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่ง การบินไทยมีการออกจดหมายไปถึงคณะกรรมการเจ้าหนี้บริษัทการบินไทย ระบุถึงการแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยในส่วนของกระทรวงการคลัง ได้มีการชำระหนี้ครบถ้วน และแปลงหนี้เป็นทุนเรียบร้อยแล้ว จึงทำให้กระทรวงการคลัง พ้นจากตำแหน่งกรรมการเจ้าหนี้ของบริษัท

ก่อนหน้านี้ตัวแทนของกรรมการเจ้าหนี้ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ‘ธิบดี วัฒนกุล’ เป็นประธาน และมีรองประธานเป็นตัวแทนจากธนาคารกรุงเทพ โดยมีกรรมการที่เหลือจากธนาคารออมสิน สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด และบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่าการบินไทยเตรียมที่จะ ‘ยื่นฟ้อง’ นายทะเบียน พนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จากการชะลอการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ของบริษัท ที่ส่งผลเสียหายแก่บริษัทที่ต้อง มีภาระจ่ายดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้กระทรวงการคลังถึงวันละราว 2 ล้านบาท
การบินไทยกลับมาเป็นที่หมายตาอีกครั้งจากฝ่ายการเมือง หลังจากประสบความสำเร็จในการดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร และการดำเนินงานในหลายๆ ด้าน ในรูปแบบเอกชนเต็มตัว จนทำให้ผลประกอบการและฐานะทางการเงินของการบินไทยดีขึ้นอย่างมากจนเริ่มกลับมาทำกำไร
ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับบรรดาเจ้าหนี้ทั้ง 36 กลุ่ม ในการทำแผนในการชำระหนี้ และแปลงหนี้เป็นทุน พร้อมทั้งการเพิ่มทุนใหม่ได้ตามแผน และคาดว่าจะสามารถนำการบินไทยกลับเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ใหม่ในราวกลางปีหน้า
ตามแผนปรับโครงสร้างในส่วนทุนของการบินไทย นอกจากจะมีการลดทุนแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุนใหม่ ซึ่งหากไม่ถูกการเมืองแทรกแซง การบินไทยจะยังคงมีสถานะเป็นภาคเอกชนเต็มตัว และน่าจะปลอดจากอิทธิพลของฝ่ายการเมืองไปได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากหลังการขายหุ้นเพิ่มทุนเสร็จสิ้น ตามโครงสร้างการถือหุ้นของ ‘การบินไทย’ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญและไม่กลับเข้าไปสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจใหม่อีกครั้ง
จากเดิมที่
กระทรวงการคลังถือหุ้น 47.9%
รัฐวิสาหกิจ 2.1%
กองทุนวายุภักษ์ 7.6%
ผู้ถือหุ้นเดิม 42.4%
แต่ตามโครงสร้างใหม่
กระทรวงการคลังจะถือหุ้นลดลงเหลือเพียง 33.4%
รัฐวิสาหกิจ 4.1%
กองทุนวายุภักษ์ 2.8%
ผู้ถือหุ้นเดิมอีก 2.8%
โดยมี เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูฯ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ราว 44.3% และมีผู้ถือหุ้นเดิม พนักงานและบุคคลในวงจำกัด ที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีก 12.6%
ถึงแม้การบินไทยจะไม่มีโอกาสกลับไปสู่ฐานะรัฐวิสาหกิจ แต่ดูเหมือนฝ่ายการเมืองก็ยังต้องการกลับเข้าไปมีบทบาทแทรกแซงการดำเนินงานของการบินไทย โดยการยืมมือของข้าราชการในการเข้ามาครอบครองและครอบงำการบินไทยเข้าไปมีอิทธิพลและครอบงำในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ในช่วงสุดท้าย เพื่อหวังจะเข้าไป ‘คอนโทรล’ เกม ในกระบวนการขั้นต่อไป โดยเฉพาะการแต่งตั้งบอร์ด หรือคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ ที่ฝ่ายการเมืองต้องการส่งคนไปนั่งในบอร์ดการบินไทยยุคใหม่