ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนมกราคม แค่เดือนเดียว ราคาน้ำมันเบนซินโซฮอลล์ ปรับขึ้น 7 ครั้ง รวม 2.80 บาทต่อลิตร ลบล้างส่วนลด 2.50 บาท ที่รัฐบาลลดภาษีสรรพสามิต และลดเงินที่เก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตาม มติ ครม. วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ไปจนหมดสิ้น
สะท้อนว่า การแทรกแซงราคาน้ำมัน โดยการลดภาษี และใช้กลไกกองทุนน้ำมัน ทำได้เพียงชั่วคราว ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น มาตรการเหล่านี้จะไร้ผล เพราะในที่สุดราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย จะเพิ่มขึ้นอยู่ดี เว้นแต่ว่ารัฐบาลจะแทรกแซง ลดภาษี ลดอัตราเงินที่เก็บเข้ากองทุนน้ำมันต่อไปอีก ซึ่งหมายถึง การเสียรายได้ก้อนใหญ่จากภาษี และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องแบกหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นกว่าเดิม โดยไม่รู้ว่า จะเอาเงินที่ไหนมาล้างหนี้
ยกเว้นว่า ราคาน้ำมันในตลาด ในอนาคตอันใกล้จะลดลง และลดอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่าไหลออก ชดเชยสถานะติดลบได้ แต่ประเมิน สถานการณ์โลกในตอนนี้ โดยเฉพาะวิกฤติการขนส่งที่ทะเลแดง ราคาน้ำมันมีแต่จะปรับสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ
รัฐบาลจึงตัดสินใจ ไม่ต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินโซฮอล์ ที่สิ้นสุดลงวันที่ 31 มกราคมนี้ เพราะอุ้มต่อไปไม่ไหว
ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน โซฮอลล์ จะขึ้นจาก 2 ส่วนคือ จากภาษีที่รัฐไม่ลดให้แล้ว และจากเงินเข้ากองทุนฯที่เก็บเพิ่ม
น้ำมันโซฮอล์ 91 จะปรับขึ้น 2.50 บาทต่อลิตร
โซฮอลล์95 ปรับขึ้น1 บาทต่อลิตร
อี 20 และ อี 85 ปรับขึ้น 80 สตางค์ต่อลิตร
ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น ก็จะถูกบวกเพิ่มเข้าไปอีก
ยกเว้น รัฐบาลจะมีเครื่องมือ กลไกอื่น ๆ ที่จะตรึงราคาน้ำมันไว้ ไม่ให้เพิ่มขึ้นทันที 1 บาท หรือ 2.50 บาท ต่อลิตร เช่น ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ชดเชยราคาที่จะเพิ่มขึ้น เพราะต้องเสียภาษีแล้ว และชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่มออกไปก่อน
ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน บอกว่า เมื่อมาตรการยกเว้นภาษีหมดลง จะใช้กองทุนฯน้ำมันเข้ามาบริหารจัดการเรื่องราคาน้ำมัน เพื่อไม่ให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้บอกว่า จะทำอย่างไร
สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 28 มกราคม ติดลบสุทธิ 84,349 ล้านบาท แบ่งเป็น ติดลบจากการชดเชยราคาน้ำมัน 37,875 ล้านบาท ชดเชยราคาแก๊สหุงต้ม 46,474 ล้านบาท
กองทุนน้ำมันเคยติดลบถึง 92,000 ล้านบาท ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ช่วงปี 2547-2548 เพราะเกิดสงครามสหรัฐฯบุกอิรัก รัฐบาลต้องแทรกแซงราคาน้ำมัน โดยใช้เงินกองทุนฯน้ำมันจนหมด ต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินถึง 70,000 ล้านบาทมาพยุงราคา แต่ในที่สุดก็ต้องยอมแพ้ ประกาศลอยตัวรคาน้ำมัน ทิ้งภาระหนี้ก้อนใหญ่ให้กองทุน
สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงปลายปี 2551 ราคาน้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่อง กองทุนสามารถเก็บเงินใช้หนี้เดิมได้หมด และกลับมามีสถานะเป็นบวก เกือบ 3หมื่นล้านบาท
รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กองทุนติดลบถึง 1 แสนล้านบาท เพราะราคาน้ำมันพุ่งขึ้นต่อเนื่อง เป็นเวลานาน จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย- ยูเครน และติดลบมาจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง