คาดการณ์นายกฯ คนที่ 30 จากข้อมูลและสถิตินายกฯ ไทยในอดีต

27 ก.ค. 2566 - 09:48

  • สถิติและข้อมูลในอดีตชี้ว่า เศรษฐา ทวีสิน มีโอกาสใกล้เคียงมากที่สุดที่จะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ

  • มีโอกาสราว 20% ที่นายกฯ คนที่ 30 จะเป็นนายกฯ คนนอก

TAGCLOUD-who-is-next-prime-minister-30th-SPACEBAR-Thumbnail
นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะเป็นใคร? 

นับจนถึงตอนนี้ (21 กรกฎาคม) หลัง ‘พิธา’ ถูกพิฆาตในเกมชิงเก้าอี้นายกฯ จนต้องออกจากสภาและหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ชั่วคราวจากปมคดีหุ้นสื่อไอทีวี เกมการเมืองยังคงซับซ้อนและพันลึกจนยากจะคาดเดาตอนจบ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4bovgD3zT5QTH0q9A3qq1O/dc04e28ce3e4360603c4b7cb91333a2c/TAGCLOUD-who-is-next-prime-minister-30th-SPACEBAR-Photo01
Photo: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
เศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย), พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ), อนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) คือ 3 ตัวเต็งนายกฯ คนใหม่ในสายตากูรูการเมืองที่คาดการณ์จาก ‘หน้าเสื่อ’ ในช่วงนี้ 

และพรรคเพื่อไทยยังมีโควต้าสำรองอีก 2 คน หากเศรษฐาไม่ผ่านโหวต คือ แพทองธาร ชินวัตร และชัยเกษม นิติสิริ 

ถ้าพูดถึง 3 ตัวเต็ง แม้คนแรก (เศรษฐา) จะมีภาษีดีกว่า เพราะมาจากพรรคเสียงข้างมากอันดับ 2 (สส. 141 ที่นั่ง รองจากพรรคก้าวไกลที่มี สส. 151 ที่นั่ง) แต่สองคนหลัง (พลเอกประวิตร และอนุทิน) ถึงจะมีคะแนนเสียงน้อยกว่า (สส. 40 ที่นั่ง และ 71 ที่นั่งตามลำดับ) แต่มีแต้มต่อเป็นเสียงโหวต สว. อีกสองร้อยกว่าเสียง 

บวกกับเกมการเมืองโหวตนายกฯ ที่ผ่านมา ก็โชว์ให้เห็นแล้วว่า ‘อะไรก็เกิดขึ้นได้’ ในการเมืองไทย 

มองไปข้างหน้า ภาพเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ยังขมุกขมัว SPACEBAR จึงมองย้อนไปดูข้อมูลนายกรัฐมนตรีไทย 29 คน ตลอดช่วง 91 ปีที่ผ่านมา เพื่อหา ‘ความน่าจะเป็น’ ในอนาคตข้างหน้า 

มาลองเดากันว่า ใครจะมีโอกาสนั่งของเก้าอี้นายกฯ คนต่อไป 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1QSUPjj3IQk3HRjJxffY1a/64498de0552910c7ae3e73720a2f8d97/TAGCLOUD-who-is-next-prime-minister-30th-SPACEBAR-Photo02
Photo: เศรษฐา ทวีสิน

ข้อสังเกตที่ 1: ค่าเฉลี่ยอายุนายกฯ ไทยในอดีต และผู้นำโลก 

ก่อนจะตอบคำถาม SPACEBAR ได้ย้อนไปดูข้อมูลในสกู๊ปคาดการณ์นายกฯ ไทย 2 ชิ้น ได้แก่ ส่องอายุ ‘แคนดิเดต’ ใครมีโอกาสนั่งเก้าอี้ผู้นำ และ พยากรณ์ ‘นายกรัฐมนตรีไทย’ คนที่ 30 จากสถิติอายุและช่วงวัยผู้นำโลก ที่ทำในช่วงก่อนวันเลือกตั้ง โดยใช้ข้อมูลของแคนดิเดตจากพรรคผู้เล่นหลัก เทียบกับข้อมูลสถิติด้านอายุจากนายกฯ ไทยในอดีต และผู้นำโลกปัจจุบัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6mzmPoOaDzKlm8CDBPBYjm/20851a70710be3e68c303cec64e53dd6/INFO_TAGCLOUD-hey-leader-how-old-are-you_NEW__1_
สิ่งที่เราพบคือ... 
  • ผู้นำส่วนใหญ่ในโลกกว่า 58% เป็นคนเจน Baby Boomer (เกิด พ.ศ.2489-2507, อายุ 58-76 ปี) โดยเฉพาะผู้นำในทวีปเอเชีย 
  • คนที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในการเลือกตั้ง พ.ศ.2566 ส่วนใหญ่ (เกิน 50%) อยู่ในเจน Baby Boomer 
  • ถ้าเทียบกับข้อมูลอายุเฉลี่ยของนายกรัฐมนตรีไทย หลัง พ.ศ.2521 เป็นต้นมา จะอยู่ที่ 59 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุเจน Baby Boomer 
  • ตอนนี้แคนดิเดตที่คาดว่าจะเป็นตัวเต็งชิงเก้าอี้นายกฯ 3 คน (เศรษฐา, พลเอกประวิตร, อนุทิน) เศรษฐา (60 ปี) คือคนเดียวที่อยู่ในเจน Baby Boomer 
  • ส่วนพลเอกประวิตร (77 ปี) ผู้มีอาวุโสที่สุด อยู่เจน Slient (เกิด พ.ศ.2471-2488, อายุ 77 ปีขึ้นไป) ส่วนใหญ่ผู้นำในวัยนี้มักมีที่มาจากระบอบเผด็จการ รวมถึงประชาธิปไตยจำแลง (มีการเลือกตั้งเป็นแค่พิธีกรรม) เช่น ปอล บียา (Paul Biya) ประธานาธิบดีแคเมอรูน ปัจจุบันมีอายุ 90 ปี 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3gdaHTp1ryBFyRwH9lT0ar/a642d84b23639ac394225238a49fdea9/INFO_Election66-prediction-based-on-candidate-age_NEW__1_
  • ขณะที่อนุทิน (56 ปี) แคนดิเดตม้ามืดอยู่ในเจน X (เกิด พ.ศ.2505-2523, อายุ 42-57 ปี) ซึ่งเป็นคนรุ่นเดียวกับพิธา (42 ปี) มีข้อสังเกตว่า ผู้นำในทวีปยุโรปส่วนใหญ่อยู่ในเจนนี้ 
  • แคนดิเดตพรรคเพื่อไทยอีก 2 คน ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน แพทองธาร (36 ปี) เป็นคนเดียวที่อยู่ในเจน Y (เกิด พ.ศ.2524-2539, อายุ 26-41 ปี) และ ‘น่าจะ’ เป็นแคนดิเดตที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 
  • ด้านชัยเกษม นิติสิริ (74 ปี) อยู่ในรุ่น Baby Boomer เช่นเดียวกับเศรษฐา ซึ่งเป็นเจนที่มีความน่าจะเป็นที่จะนั่งเก้าอี้นายกฯ มากที่สุด (ถ้าดูตามสถิติที่ผ่านมา) แต่ถ้าดูความพร้อม ชัยเกษมที่ก่อนหน้านี้ช่วงหาเลือกตั้ง (8 เมษายน) ป่วยจากอาการก้อนเลือดแห้งในสมอง อาจขอหลีกทางให้เศรษฐาและแพทองธารล่วงหน้าไปท้าชิงเก้าอี้ 
เมื่อใช้อายุเป็นเกณฑ์จะพบว่า 3 ตัวเต็งแคนดิเดตนายกฯ เศรษฐามีโอกาสนั่งเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 มากที่สุด 

รองลงมาจะเป็นใคร ระหว่างพลเอกประวิตรกับอนุทิน? 

ถ้าดูจากข้อมูลในอดีตที่ ‘ทหาร’ เป็นกลุ่มอำนาจที่เข้ามากำหนดทิศทางประเทศไทยในฐานะนายกฯ มากกว่ากลุ่มอำนาจอื่น และนายกฯ ที่อยู่ในเจน X เดียวกับอนุทินส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบ ‘ทวีปยุโรป’ 

เมื่อประเทศไทยไม่ใช่ยุโรป และอนุทินไม่ใช่ทหาร ก็น่าจะพออนุมานได้ว่า พลเอกประวิตรดูมีภาษีดีกว่าอนุทินทั้งในเชิงสถิติและประวัติศาสตร์การเมืองไทย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4LUnS06CWUeqQX2AMwj5ab/20848f20f2050dea0592a58f262b5741/TAGCLOUD-who-is-next-prime-minister-30th-SPACEBAR-Photo03
Photo: อนุทิน ชาญวีรกูล และบรรดา สส. เข้ามาทักทาย ‘ลุงป้อม’ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก 4 กรกฎาคม 2566

ข้อสังเกตที่ 2: นายกรัฐมนตรีในม่านการเมืองไทย 3 ยุค 

การมองการเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ.2475 หรือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นภาพเดียวอาจเป็นภาพที่กว้างเกินไป เพื่อคาดการณ์ ‘ความน่าจะเป็น’ ของนายกฯ คนที่ 30 ที่ละเอียดขึ้น SPACEBAR จึงแบ่งการเมืองไทยเป็นออก 3 ยุค แล้วดูข้อมูลของนายกรัฐมนตรีในแต่ละช่วงเวลาว่าบริบททางการเมืองส่งผลต่อคนขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ อย่างไร 

ยุคที่ 1: ช่วงชิงอำนาจหลังปฏิวัติ ทหาร และระบอบเผด็จการ (พ.ศ.2475-2516)
การเมืองยุคหลัง พ.ศ.2475 เป็นช่วงเวลาของการช่วงชิงอำนาจระหว่าง ‘กลุ่มคณะราษฎร’ ที่เป็นอำนาจใหม่ และกลุ่มอำนาจเก่า โดยมีทหารและกองทัพเป็นผู้เล่นหลักหน้าม่าน เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา, จอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงยุคอำนาจเก่าโต้กลับผ่านการขึ้นเถลิงอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ประเทศไทยในช่วงเวลานั้น ทหารคือกลุ่มอำนาจหลักและเมื่อยึดอำนาจได้มักปกครองด้วยระบอบเผด็จการ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7krFOPi4zviw9HOBqSzZP/411c5e9c166ed055b6f151f4679c0343/TAGCLOUD-who-is-next-prime-minister-30th-SPACEBAR-Photo04
Photo: คณะราษฎรอ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า
ทว่าอำนาจปืนก็เสื่อมลง เมื่อกระแสค่านิยมเสรีภาพแบบตะวันตกที่เข้ามาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นำโดยสหรัฐอเมริกา ได้สร้างสำนึกทางการเมืองในกลุ่มคนรุ่นใหม่ จนนำไปสู่การเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ปิดฉากระบอบถนอมใน พ.ศ.2516 แต่ก็เป็นเพียงการปิดฉากชั่วคราวของระบอบทหารและอำนาจเผด็จการเท่านั้น 

นายกรัฐมนตรีในช่วงนี้เป็นอย่างไร? 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7roWdD3j1fkkBloGpsooQJ/c8cd84b4ef7caf6451b2b861653696ae/INFO_Who_is_30PM-01__1_
  • ถ้านับจำนวนคนที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งจะมี 11 คน ในจำนวนนั้น 5 คนหรือ ‘เกือบครึ่งหนึ่ง’ เป็น ‘ทหาร’ 
  • อายุเฉลี่ยของนายกรัฐมนตรียุคนี้ (นับเฉพาะตอนขึ้นดำรงตำแหน่งครั้งแรก) ถือว่าอายุค่อนข้างน้อยอยู่ที่ 45 ปี ถ้าเทียบยุคนี้ก็อยู่ในคนรุ่นเจน X (เกิด พ.ศ.2508-2523) 
  • หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช คือนายกฯ ที่รับตำแหน่งตอนอายุน้อยที่สุด คือตอนอายุ 40 ปี 114 วัน ซึ่งมีอายุน้อยกว่าพิธาที่ตอนนี้เป็นแคนดิเดต (42 ปี) และเป็นสถิตินายกฯ อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 
  • แต่ก็ต้องวงเล็บไว้ด้วยว่า หม่อมราชวงศ์เสนีย์นั่งเก้าอี้นายกฯ จากการแต่งตั้ง (ได้รับเชิญ) โดยมติของสภา เพื่อจุดประสงค์ในการเจรจากับอังกฤษเกี่ยวกับสถานะของประเทศไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ในฐานะหัวหน้าเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา 
  • ส่วนคนที่ขึ้นรับตำแหน่งอายุมากที่สุด คือ พจน์ สารสิน (52 ปี) นายกฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง (ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อ) 
ถ้าดูระยะเวลาของยุคสมัย (พ.ศ.2475-2516) ตลอด 41 ปี ทหารเป็นกลุ่มคนที่ดำรงตำแหน่งยาวนานมากที่สุด

ทหาร-กองทัพ (36 ปี 57 วัน) 
  • จอมพล ป. พิบูลสงคราม, 15 ปี 25 วัน 
  • จอมพลถนอม กิตติขจร, 9 ปี 205 วัน 
  • พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา, 5 ปี 178 วัน 
  • จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, 4 ปี 302 วัน 
  • พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, 1 ปี 77 วัน 
นักการเมือง (3 ปี 35 วัน) 
  • ควง อภัยวงศ์, 1 ปี 232 วัน 
  • พระยามโนปกรณ์นิติธาดา, 358 วัน 
  • ปรีดี พนมยงค์, 152 วัน 
  • หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช, 136 วัน 
  • พจน์ สารสิน, 102 วัน 
  • ทวี บุณยเกตุ, 17 วัน 
รวมระยะเวลาทั้งหมดที่ 'ทหาร' เป็นนายกรัฐมนตรี คือ 36 ปี 57 วันในตลอดช่วงเวลา 41 ปี หรือคิดเป็น 89% ของระยะเวลาในยุคสมัย 

ขณะที่ระยะเวลาที่เหลือราว 5 ปี แม้คนขึ้นดำรงตำแหน่งอีก 6 คนจะไม่ใช่ทหาร (เฉลี่ยต่อคนอยู่ในตำแหน่งไม่ถึงปี) แต่ก็เป็นไปเพียงการคั่นเวลาและเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะบางอย่างเท่านั้น 

ยุคที่ 2: กลิ่นประชาธิปไตย (พ.ศ.2516-2544) 
หลังชัยชนะของชนชั้นกลางและนักศึกษาในเมืองจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ประชาธิปไตยเบ่งบานและส่งกลิ่นหอมได้ไม่นาน ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์นำไปสู่การล่มสลายของระบอบกษัตริย์ ชนชั้นกลางบางส่วนหันหน้าหนีจากนักศึกษา พร้อมกับสื่อและพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่กล่าวหานักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ กระทั่งถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2519 จอมพลถนอมเดินทางกลับไทย สถานการณ์คุกรุ่นก็สุกงอม จนนำไปสู่การสังหารหมู่นักศึกษา 6 ตุลา 2519 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/35fSFppxd2w4E5TIbB8hnd/0739d5e8c9bb6928c8359167b997a279/TAGCLOUD-who-is-next-prime-minister-30th-SPACEBAR-Photo05
Photo: 6 ตุลา 2519
ฝ่ายอนุรักษนิยมขึ้นครองอำนาจ นักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้ายถูกเช็กบิล ต้องหนีเข้าป่าและบางส่วนออกนอกประเทศ กองทัพเข้ามามีบทนำอีกครั้ง ภายใต้เงาของ ‘พลเอกเปรม’ นานถึง 8 ปี พร้อมกับค่อยๆ ฟื้นฟูไปสู่ประชาธิปไตย แต่การเดินไปสู่ระบอบที่ฝันก็ต้องสะดุดจากการรัฐประหาร การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการในช่วง พฤษภาทมิฬ 35 ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลผสม จนถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ร่างจากสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งจนได้ชื่อ ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ 

เส้นทางไปสู่ประชาธิปไตยไทยยิ่งชัดขึ้น ในการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 นักธุรกิจที่ผันตัวมาเป็นนักการเมืองชื่อ ทักษิณ ชินวัตร มาพร้อมแนวคิด ‘คิดใหม่ ทำใหม่’ ด้วยการนำเสนอนโยบายที่เจาะกลุ่มประชาชน ‘รากหญ้า’ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยอยู่ในสมการของนักการเมืองไทยคนใด พรรคไทยรักไทยของทักษิณชนะการเลือกตั้งครั้งนั้นถล่มถลาย 

ปิดฉากยุครัฐบาลผสมในสมัยนายกฯ ชวน หลีกภัย ม่านการเมืองฉากใหม่ในยุคทักษิณกำลังจะเริ่มต้น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4vNObFQuG9p2DWUTruPYKH/140417be68ad265fb84c56fd349d6b5d/TAGCLOUD-who-is-next-prime-minister-30th-SPACEBAR-Photo06
Photo: ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ระหว่าง พ.ศ.2535-2538 และพ.ศ.2540-2544 (AFP)
นายกรัฐมนตรีในช่วงนี้เป็นอย่างไร?
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5QAEL4rWwa9ssvSUph80lf/253c7a5a80f875b2880f636e99c48008/INFO_Who_is_30PM-02
  • จำนวนคนที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกฯ มี 12 คน ในจำนวนนั้น 5 คนเป็น ‘ทหาร’ หรือราว 41.6% 
  • พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นทหาร 2 คนที่เป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง หลังพลเอกชาติชายนำพรรคชาติไทย ชนะเลือกตั้ง พ.ศ.2531 และพลเอกชวลิตพาพรรคความหวังใหม่ ชนะเลือกตั้ง พ.ศ.2539 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/wbxWmdSkGB4Vpn0AJg3zy/fd6b17312d902f80e9f744d1a61de6a1/TAGCLOUD-who-is-next-prime-minister-30th-SPACEBAR-Photo07
Photo: พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ระหว่างปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งในกรุงเทพฯ พ.ศ.2539 (AFP)
  • พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด 3 สมัย คิดเป็นเวลา 8 ปี 154 วัน 
  • รองลงมาคือ ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นั่งเก้าอี้นายกฯ 2 สมัย 6 ปี 20 วัน 
  • ขณะที่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช คือคนที่ขึ้นดำรงตำแหน่งตอนอายุมากที่สุด โดยขึ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ ครั้งสุดท้าย ตอนอายุ 70 ปี ก่อนถูกรัฐประหารโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ จากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จากนั้นหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และวางมือทางการเมือง 
  • ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกฯ ที่หนุ่มที่สุดในยุค ขึ้นดำรงตำแหน่งตอน 49 ปี เขาดำรงตำแหน่งต่อจากหม่อมราชวงศ์เสนีย์ โดยเป็นนายกฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง หลังพลเรือเอก สงัด ทำการรัฐประหาร 
  • อายุเฉลี่ยของนายกรัฐมนตรียุคนี้ (นับเฉพาะตอนขึ้นดำรงตำแหน่งครั้งแรก) เริ่มขยับสูงขึ้นอยู่ที่ 61 ปี เทียบยุคนี้คือเจน Baby Boomer (เกิด พ.ศ.2489-2507) 
เมื่อดูระยะเวลาของยุคสมัย (พ.ศ.2516-2544) ตลอด 28 ปี สัดส่วนระยะเวลาการดำรงตำแหน่งระหว่างทหารหรือกองทัพ (10 ปี 314 วัน) และนักการเมือง (ประมาณ 16 ปี 121 วัน) อยู่ในอัตราส่วนเกือบ 40:60 ของช่วงเวลาในยุคสมัย

ทหาร-กองทัพ (10 ปี 314 วัน) คิดเป็น 40%
  • พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, 8 ปี 154 วัน
  • พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, 2 ปี 113 วัน 
  • พลเอกสุจินดา คราประยูร, 47 วัน 
นักการเมือง (16 ปี 121 วัน) คิดเป็น 60% 
  • ชวน หลีกภัย, 6 ปี 20 วัน
  • พลเอกชายชาติ ชุณหะวัณ, 2 ปี 203 วัน
  • อานันท์ ปันยารชุน, 1 ปี 141 วัน 
  • บรรหาร ศิลปอาชา, 1 ปี 135 วัน 
  • สัญญา ธรรมศักดิ์, 1 ปี 124 วัน 
  • หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, 1 ปี 37 วัน 
  • ธานินทร์ กรัยวิเชียร, 1 ปี 12 วัน 
  • พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (ชนะเลือกตั้ง พ.ศ.2539), 349 วัน 
  • หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช, 196 วัน 
ระยะเวลาครองอำนาจของทหาร-กองทัพและนักการเมืองในยุคนี้ อยู่ในอัตราส่วน 40:60 นับเป็นยุคที่ประเทศมีนักการเมืองครองสัดส่วนของอำนาจในการบริหารมากที่สุด

สัญญาณ 'ประชาธิปไตย' ของประเทศไทยช่วงนี้มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ได้รับขนานนามว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ซึ่งเป็นการเปิดประตูให้ประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่อยู่แค่ชนชั้นนำและชนชั้นกลาง

หลังจากนี้ชนชั้น 'รากหญ้า' จะเริ่มตระหนักถึงสิทธิ์และเสียงของตนเองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ยุคที่ 3: ระบอบทักษิณ และการคัมแบกของทหาร (พ.ศ.2544 เป็นต้นมา) 
เริ่มต้นหลัง ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกฯ การเมืองไทยเข้าสู่ยุคนโยบายประชานิยมที่กระจายผลประโยชน์ไปสู่ชนบทมากขึ้น และเปลี่ยนคำสัญญาให้จับต้องได้จริง เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ส่งผลให้ทักษิณเป็นนายกฯ คนแรกที่ได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่อยู่ครบเทอม 4 ปี และชนะเลือกตั้งแบบ ‘แลนด์สไลด์’ (ได้ สส. 377 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง) ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2548 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/12CtxnksHZrYTsHVBwu5hj/50788245bd3bcc0478a723a133f56641/PIC_-_003
Photo: ทักษิณ ชินวัตร มหาเศรษฐีที่มีแนวโน้มจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย เข้าร่วมกับผู้สนับสนุนเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543. (AFP)
ทว่าการบริหารประเทศภายใต้ระบอบทักษิณที่ก่อตัวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ก็เริ่มถูกตั้งคำถามจากสื่อและสังคม บวกกับอำนาจที่มีอย่างล้นเหลือ (เกินไป) อาจทำให้ทักษิณอยู่ในสถานะ ‘ตัวอันตราย’ ที่ผู้มีอำนาจบางกลุ่มมองด้วยสายตาไม่ไว้ใจ จนนำไปสู่การรัฐประหาร พ.ศ.2549 

ครั้งหนึ่งมีนักข่าวถามอานันท์ ปันยารชุนว่า “มีคนบอกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นตัวสร้างระบอบทักษิณขึ้นมา?” 

“ไม่ใช่...เพราะคุณทักษิณเข้ามาครั้งแรกมาด้วยการชูธงในเรื่องนโยบาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนไทยในตอนนั้น เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการชูเรื่องนโยบายเท่าไหร่ และนโยบายของคุณทักษิณหลายอย่าง ถ้าเผื่ออ่านโดยผิวเผินหรือโดยสาระแล้วก็เป็นสิ่งที่ดี แต่พอมาถึงขั้นปฏิบัติเท่านั้นที่มันบิดเบือนไป” อานันท์ตอบ (ที่มา: หนังสือ ฉะ แฉ ฉาว ๒ เล่ห์...ลมปากการเมืองไทย, หน้า 90. สำนักพิมพ์มติชน) 

หลังการรัฐประหาร ทักษิณลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ พรรคไทยรักไทยถูกยุบ แต่เมื่อมีการจัดเลือกตั้ง พรรคในเครือข่ายของเขาก็ชนะทุกครั้ง จนได้ชื่อว่า ‘พรรคไร้พ่าย’ ทว่าก็มีเหตุให้ต้องหลุดออกจากอำนาจจากการสกัดกั้นของทหารและกลุ่มการเมืองฝั่งตรงข้าม 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2AyrveR1FEjhOJKyzlMbLo/71fd2a9f0b90e4229cd06cb5387bd85e/PIC_-_004
Photo: ทหารเฝ้าเส้นทางสัญจรหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ, 20 กันยายน พ.ศ.2549 (AFP)
นักการเมืองในยุคนี้ถูกวาดภาพเป็นคนชั่ว ด้วยคำว่าโกงกิน ทุนสามานย์ ฯลฯ จนนำมาสู่การเรียกร้อง ‘ให้คนดีปกครองบ้านเมือง’ การรัฐประหาร พ.ศ.2557 กองทัพและกลุ่มอนุรักษนิยมขึ้นมากำหนดกติกาใหม่เพื่อรักษาอำนาจ และการนั่งเก้าอี้นายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยาวนานเกือบ 9 ปี (พ.ศ.2557-2566) 

หากการมาถึงของทักษิณและนโยบายประชาชนิยมทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ตื่นตัวทางการเมือง การมาถึงของธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงพิธาและพรรคก้าวไกลที่มาพร้อมการเมืองเชิงอุดมการณ์ ชัดเจน ตรงไปตรงมา และนโยบายที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจของประเทศให้ประชาชนเป็นใหญ่ตามระบอบประชาธิปไตย ก็ได้ปลุกให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ และคนที่คิดเห็นในแนวเดียวกันให้ตื่นอีกครั้ง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5eJOIK7S0dCDiUoJA8FhXj/7c16fdfec075f09aff5206dbccf01149/TAGCLOUD-who-is-next-prime-minister-30th-SPACEBAR-Photo10
Photo: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ สส. พรรคก้าวไกลขึ้นรถแห่ขอบคุณประชาชนบริเวณถนนราชดำเนิน หลังคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการนำเป็นอันดับหนึ่ง 15 พฤษภาคม 2566
ชัยชนะของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (พ.ศ.2566) ได้สร้างเซอร์ไพร์สให้การเมืองไทย สถิติไร้พ่ายของพรรคในเครือข่ายทักษิณถูกทำลาย และดูจะเป็น ‘ตัวอันตราย’ ยิ่งกว่าระบอบทักษิณ ซึ่งจะเห็นได้จากการพยายามสกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาล และการขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกฯ ของผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล 

ณ วันนี้ (26 กรกฎาคม) ละครการเมืองเรื่องนี้ยังดำเนินต่อไป และยังไม่มีใครรู้ตอนจบ... 

นายกรัฐมนตรีในช่วงนี้เป็นอย่างไร? 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4laAVowbAJ1Gl0vwwXsogO/803bd143a7bf8a439047c4ca4fe04d84/INFO_Who_is_30PM-03__1_
  • ตลอดระยะเวลา 22 ปี มีคนนั่งเก้าอี้นายกฯ 7 คน ซึ่งน้อยกว่าสองยุคก่อนหน้านี้ 
  • ในจำนวนนั้น 2 คนเป็นทหาร คือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสองคนมาจากการรัฐประหาร 
  • ตอนเข้ารับตำแหน่ง พลเอกสุรยุทธ์ (63 ปี) และพลเอกประยุทธ์ (60 ปี) อยู่ในวัยเกษียณอายุ 
  • ยุคนี้มีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ไทย คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เธอขึ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ หลังพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคในเครือข่ายทักษิณชนะเลือกตั้ง พ.ศ.2554 
  • ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รับตำแหน่งนายกฯ ตอนอายุเท่ากัน คือ 44 ปี ซึ่งเป็นอายุของนายกฯ ที่หนุ่มและสาวที่สุดในยุคนี้ 
  • ขณะที่คนที่รับตำแหน่งตอนอายุมากที่สุด คือ สมัคร สุนทรเวช รับตำแหน่งนายกฯ ตอนอายุ 72 ปี และมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 
  • 56 ปี คือ อายุเฉลี่ยของนายกฯ ในยุคนี้ เทียบรุ่นอยู่ในเจน X (เกิด พ.ศ.2508-2523) 
  • บรรดานายกฯ ในยุคนี้ ยิ่งลักษณ์(เกิด พ.ศ.2510) เป็นคนเดียวที่อยู่รุ่นเจน X 
  • ขณะที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ในรุ่นปลายสุดของเจน Baby Boomer (เกิด พ.ศ.2489-2507) 
  • มองการเมืองวันนี้ (พ.ศ.2566) แคนดิเดตนายกฯ ที่อยู่เจน X มี 2 คน คือ พิธา (เกิด พ.ศ.2523) และอนุทิน (เกิด พ.ศ.2509) 
ถ้าดูระยะเวลาของยุคสมัย (พ.ศ.2544-2566) ตลอด 22 ปี จำนวนทหารที่ดำรงตำแหน่งมีเพียง 2 คน แต่ระยะเวลาดำรงตำแหน่งแม้น้อยกว่า แต่ก็ใกล้เคียงกับนักการเมือง คือน้อยกว่าประมาณ 1 ปีกับอีกราว 200 กว่าวัน

ทหาร-กองทัพ (10 ปี 89 วัน) คิดเป็น 46% 
  • พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, 8 ปี 334 วัน (นับถึงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2566) 
  • พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์, 1 ปี 120 วัน 
นักการเมือง (11 ปี 297 วัน) คิดเป็น 54% 
  • ทักษิณ ชินวัตร, 5 ปี 222 วัน 
  • ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, 2 ปี 275 วัน 
  • อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, 2 ปี 231 วัน 
  • สมัคร สุนทรเวช,  224 วัน 
  • สมชาย วงศ์สวัสดิ์, 75 วัน 
แต่ถ้าแบ่งในเชิงขั้วอำนาจระหว่าง ‘ทักษิณ’ กับ ‘ฝั่งตรงข้าม’ จะพบว่า กลุ่มฝั่งตรงข้ามทักษิณที่เป็นทหาร-กองทัพ และฝ่ายอนุรักษนิยม (ประชาธิปัตย์) ได้ครอง air time ของอำนาจนายกฯ ยาวนานกว่าถึง 3 ปีกว่า 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6Je9XJEUglKfjT2nKxojGy/e6581fb0c45047e551dc0fd343085166/INFO_Who_is_30PM-05__1_
ทีมทักษิณ (9 ปี 66 วัน) คิดเป็น 42% 
  • ทักษิณ ชินวัตร, 5 ปี 222 วัน 
  • ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, 2 ปี 275 วัน 
  • สมัคร สุนทรเวช,  224 วัน 
  • สมชาย วงศ์สวัสดิ์, 75 วัน 
ทีมไม่เอาทักษิณ (12 ปี 320 วัน) คิดเป็น 58% 
  • พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, 8 ปี 334 วัน (นับถึงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2566) 
  • อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, 2 ปี 231 วัน 
  • พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์, 1 ปี 120 วัน 
ข้อมูลการดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังยุค พ.ศ.2544 เป็นต้นมา เผยให้เห็นการช่วงชิงอำนาจของทหารและกองทัพจากระบอบทักษิณ ที่เพิ่มดีกรีแรงขึ้นหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557 จะเห็นได้จากการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่สร้างกติกาและเงื่อนไขการสืบทอดอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพื่อปูพรมให้พลเอกประยุทธ์ที่ “ขอเวลาอีกไม่นาน” อยู่จนครบกำหนดวาระสมัย รวมถึงการสร้างเงื่อนไขโหวตนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง พ.ศ.2566 ด้วยแต้มต่อ สว. 250 เสียง เพื่อรักษาอำนาจต่อไป 

คำถามคือท่ามกลางสถานการณ์จัดตั้งและโหวตนายกฯ คนใหม่ เพื่อไทยที่มีท่าทีเริ่มโอนอ่อนเข้าหาฝ่ายอนุรักษนิยม ระบอบทักษิณจะสิ้นสุดแล้วกลืนกลายกับระบบเดิมหรือไม่ 

ถ้าคำตอบคือใช่ น่าสนใจว่า นายกฯ คนที่ 30 จะเป็นใคร 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7q4A52ojU1UJvnIC1PJ1Pn/5a6177232cac545eb2a62c0e4319fd6a/TAGCLOUD-who-is-next-prime-minister-30th-SPACEBAR-Photo11
Photo: 8 พรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคก้าวไกล (ในเวลานั้น) นัดประชุมความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาล ณ รัฐสภา 11 กรกฎาคม 2566
หากว่ากันตามสถิติในยุคนี้ ถ้าทหารเป็นนายกฯ น่าจะมีอายุเกิน 60 ปี เป็นทหารวัยเกษียณ หรือถ้าเป็นนักการเมือง ก็มีโอกาสสูงมากที่จะเป็นคนเจน Baby Boomer ที่มีอายุระหว่าง 58-76 ปี 

ซึ่งดูตามหน้าไพ่ตอนนี้มีเพียง 2 คนคือ เศรษฐา ทวีสิน และชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย 

แต่นาทีนี้ นอกจากไพ่ที่เห็นบนโต๊ะ มีเสียงเล่าลือกันว่า (จริงไม่จริง ไม่รู้) อาจมีไพ่อีกใบโผล่เข้ามาเป็นเซอร์ไพร์ส 

ข้อสังเกตที่ 3: นายกฯ คนนอก ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 

ท่ามกลางคำถามและความวุ่นวายว่า ใครจะเป็นนายกฯ คนที่ 30? มีบางเสียงพูดถึง ‘นายกฯ คนนอก’ 

นายกฯ คนนอก คือใคร? 

ในเชิงนิยามหมายถึง นายกฯ ที่ไม่ได้มาจาก ‘คนในสภา’ หรือ สส. ที่ได้รับเลือกตั้ง แต่ได้รับความเห็นชอบจากมติสภาว่า เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเพียงพอและสมควรนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี 

พูดชัดๆ คือ นายกรัฐมนตรีที่มาจากมติของรัฐสภา แต่ไม่ได้เป็น สส. 

ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้ฟื้นกลไก ‘นายกฯ คนนอก’ และเปิดทางให้เกิดขึ้นได้ โดยการไม่ระบุคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีว่าต้องเป็น สส. หรือไม่ 

แล้วนายกฯ คนนอกมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน การมองอดีตอาจกระซิบบอกเราได้บ้าง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2YrXBcqUWHy01ax0D09IQH/3d1f60085374f7d75818e521ab448da3/INFO_Who_is_30PM-04__1_
ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ระบุในบทความ นายกคนนอก ของสถาบันพระปกเกล้าว่า เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์หลัง พ.ศ.2475 จะพบว่า นายกฯ คนนอก ปรากฏชัดในช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ที่ทำให้เกิดยุค 'ประชาธิปไตยครึ่งใบ' ซึ่งมีการเสนอชื่อนายกฯ คนนอกหลายครั้ง เช่น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้น 

และตั้งข้อสังเกตกรณีนายกฯ คนนอกได้น่าสนใจว่า 

‘การเสนอชื่อ ‘นายกคนนอก’ นั้น มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ต้องการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลของคณะรัฐประหารไปสู่รัฐบาลปกติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่ในบางสถานการณ์ที่ผู้นำสามารถประสานผลประโยชน์ระหว่างนักการเมืองและฝ่ายกองทัพได้ ก็จะประคับประคองรัฐบาลของนายกให้อยู่รอดได้ยาวนาน’
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/fHVeETMcXp1Rqpozlas6N/e10eb3762de1f879031f068278c89431/TAGCLOUD-who-is-next-prime-minister-30th-SPACEBAR-Photo12
Photo: พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (ซ้าย) อดีตนายกฯ คนนอก 3 สมัย และทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พบกันครั้งแรกหลังการรัฐประหาร ปี 49 ในงานศพมารดาของพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา 29 พฤษภาคม 2551 (AFP)
หากดูจากรายชื่อนายกฯ ไทยทั้ง 29 คน จะพบว่ามี 6 คนที่เป็นนายกฯ คนนอก คิดเป็นสัดส่วนราว 20% หรือ 1 ใน 5 

ซึ่งการตั้งนายกฯ คนนอกแต่ละครั้ง มีเหตุปัจจัยและเงื่อนไขที่ต่างกัน แนะนำให้ผู้อ่านอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน นายกคนนอก ของ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว จะเข้าใจที่มาของนายกฯ คนนอกแต่ละครั้งได้ชัดขึ้น 

ส่วนนายกฯ คนที่ 30 จะมีโอกาสเป็นนายกฯ คนนอก แค่ไหน คำตอบน่าจะขึ้นอยู่กับว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลของคณะรัฐประหาร พ.ศ.2557 จบแล้วหรือยัง 

อีกนัยหนึ่งคือ ดุลทางอำนาจและระบบได้รับการจัดวางใหม่ตามความประสงค์ของคณะรัฐประหารเป็นไปอย่างเรียบร้อยหรือไม่ 

ถ้ายังไม่เป็นดั่งภาพที่วาดไว้ และตกลงดีลกับขั้วอำนาจตรงข้ามไม่ได้ ก็มีโอกาสที่ประเทศไทยจะมีนายกฯ คนนอกคนที่ 7 

บทสรุป: นายกฯ คนที่ 30 บนความน่าจะเป็น 

ข้อมูล สถิติ ตัวเลขที่อ้างอิงในงานชิ้นนี้บอกว่า ถ้ามองปัจจุบันเทียบภาพใหญ่ระดับโลก นายกฯ คนที่ 30 มีโอกาสจะเป็นคนอายุ 58-76 ปี หรืออยู่ในเจน Baby Boomer 

แต่ถ้ามองการเมืองเป็นเรื่องภายใน โดยแบ่งเป็นยุคสมัย จะพบว่าโอกาสที่ ‘ทหาร’ จะขึ้นมานั่งเก้าอี้นั้นมีอยู่ แต่การจะดำรงตำแหน่งติดกัน น่าจะเป็นไปได้ยากในโลกปัจจุบัน 

เพราะตั้งแต่ พ.ศ.2534 เป็นต้นมา หลังยุค เกรียงศักดิ์-เปรม ประเทศไทยไม่เคยมีนายกฯ ที่มาจากทหารนั่งเก้าอี้ต่อกันอีกเลย ยกเว้นว่าจะมีการหมุนทวนเข็มนาฬิกาให้เดินย้อนกลับไปสู่อดีต 

หากว่ากันตามข้อมูลหลัง พ.ศ.2544 หรือหลังยุคทักษิณเป็นต้นมา มีโอกาสที่นายกฯ จะเป็นนักการเมือง (5 คน) มากกว่าทหาร (2 คน) ราว 70% แต่ถ้ามองในเชิงขั้วอำนาจแล้ว นายกฯ มีโอกาสจะเป็นฝั่งอนุรักษ์นิยม มากกว่าจะมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจไปในทางตรงกันข้าม 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/NiH38PO59N9SCOdpUBnve/3a2d34208d794570b9f5555d681fb996/TAGCLOUD-who-is-next-prime-minister-30th-SPACEBAR-Photo13
Photo: เศรษฐา ทวีสิน
หากดูตามหน้าเสื่อตอนนี้ ‘เศรษฐา’ (และชัยเกษม แต่น่าจะเป็นไปได้ยาก ด้วยเคยมีปัญหาสุขภาพ และส่วนตัวไม่มีความปรารถนาในตำแหน่งนายกฯ) คือคนที่มีความใกล้เคียงที่จะเป็นนายกฯ คนต่อไปมากที่สุด (เทียบกับข้อมูลที่นำมาอ้างอิง) 

รองลงมาคือ ‘พิธา’ และ ‘อนุทิน’ เนื่องจากอายุเฉลี่ยของนายกฯ หลังทักษิณเป็นต้นมาอยู่ที่ 56 ปี หรืออยู่ในเจน X ที่มีอายุระหว่าง 42-57 ปี ถึงแม้พิธาจะมีภาษีดีกว่า ด้วยคะแนนเสียงเลือกตั้งอันดับหนึ่ง แต่จากประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา ในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจหลังรัฐประหารโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามจะถูกสกัดไม่ให้มีอำนาจ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1xj3cLaudkKf3QunzG5eAE/c6ee8dfcc6f96204423d64e72807d538/TAGCLOUD-who-is-next-prime-minister-30th-SPACEBAR-Photo14
Photo: อนุทิน ชาญวีรกูล (AFP)
ดังนั้น อนุทินที่ประกาศชัดว่ายืนอยู่ฝั่ง ไม่เอามาตรา 112 และก้าวไกล จึงมีโอกาสที่จะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ มากกว่าพิธา 

ด้าน ‘พลเอกประวิตร’ แม้จะยืนยันการเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่เมืองไทยไม่มีนายกฯ ที่เป็นทหารติดกันนานถึง 32 ปีแล้ว น่าจะเป็นไปได้ยาก ยกเว้นเข็มนาฬิกาจะเดินย้อนกลับ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/32MV074GhjtVFaLSBplecS/ec93b2c70bccb9de2e9146f5dcb094b1/TAGCLOUD-who-is-next-prime-minister-30th-SPACEBAR-Photo15
Photo: พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (AFP)
สำหรับ ‘แพทองธาร’ โอกาสที่จะเป็นนายกฯ มีน้อยที่สุด เนื่องจากในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่เคยมีนายกฯ อายุหลัก 3 มาก่อน ถ้าแพทองธาร (37 ปี) ได้เป็นนายกฯ จะทำลายสถิตินายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในวัย 40 ปี 114 วันทันที 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/9rXG4pGYdW0vvcLbulWsP/6fa6ca8c89691532b6f9ba50cf6c6234/TAGCLOUD-who-is-next-prime-minister-30th-SPACEBAR-Photo16
Photo: แพทองธาร ชิณวัตร (AFP)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์