ดูเหมือนว่าตะวันออกกลางกำลังลุกเป็นไฟเมื่อสงครามเริ่มลุกลานไปถึงอิหร่าน หลังอิหร่านเริ่มเปิดฉากโจมตีอิสราเอลโดยตรงครั้งแรกเมื่อช่วงค่ำวันที่ 13 เมษายน และนั่นทำให้อิหร่านหันมามุ่งเน้นที่ความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศอีกครั้ง ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันศุกร์ (19 เม.ย.) พบว่าอิสราเอลตัดสินใจตอบโต้อิหร่านโดยไม่สนคำขู่ว่าจะโดนอิหร่านโจมตีโรงงานนิวเคลียร์
ขณะที่หลายฝ่ายต่างกังวลว่าสงครามจะลุกลามไปทั่วตะวันออกกลาง หากอิหร่านทำการตอบโต้อิสราเอลอีกครั้ง
SPACEBAR พาไปส่องกองทัพอากาศและระบบป้องกันทางอากาศของทั้ง 2 ประเทศ
-อิหร่าน-

ตามรายงานของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ในลอนดอน (IISS) ระบุว่า “กองทัพอากาศอิหร่านมีกำลังพล 37,000 นาย แต่การคว่ำบาตรระหว่างประเทศมานานหลายทศวรรษเป็นเหตุให้อิหร่านไม่ได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ไฮเทคใหม่ล่าสุด”
กองทัพอากาศมีเครื่องบินจู่โจมที่ใช้งานอยู่เพียงไม่กี่สิบลำ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินไอพ่นของรัสเซียและเครื่องบินรุ่นเก่าของสหรัฐฯ ที่ได้มาก่อนการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979
อิหร่านมีฝูงบินที่ประกอบด้วย
- เครื่องบินขับไล่ F-4 และ F-5 จำนวน 9 ลำ
- เครื่องบินขับไล่ซุคฮอย-24 (Sukhoi-24) ที่ผลิตโดยรัสเซียจำนวน 1 ฝูง
- เครื่องบินขับไล่มิก-29 (MiG-29), F7 และ F14 บางลำ
นอกจากนี้ อิหร่านยังมีอากาศไร้คนขับที่ออกแบบมาเพื่อบินเข้าเป้าหมายและระเบิด นักวิเคราะห์เชื่อว่า “คลังแสงโดรนนี้มีจำนวนไม่มากนัก…อิหร่านมีขีปนาวุธจากผิวพื้นสู่ผิวพื้น (surface-to-surface missiles) มากกว่า 3,500 ลูก ซึ่งบางลูกมีหัวรบหนักครึ่งตันด้วย อย่างไรก็ตาม จำนวนลูกที่สามารถยิงไปถึงอิสราเอลอาจต่ำกว่านี้
เมื่อวันพุธ (17 เม.ย.) ที่ผ่านมา อามีร์ วาเฮดี ผู้บัญชาการกองทัพอากาศอิหร่านกล่าวว่า “เครื่องบินขับไล่ซุคฮอย-24 อยู่ใน ‘สถานะการเตรียมพร้อมที่ดีที่สุด’ เพื่อตอบโต้การโจมตีของอิสราเอลที่อาจเกิดขึ้น”
แต่การที่อิหร่านพึ่งพาเครื่องบินไอขับไล่ซุคฮอย-24 ซึ่งพัฒนาขึ้นครั้งแรกในทศวรรษ 1960 แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของกองทัพอากาศ
ในด้านการป้องกัน อิหร่านอาศัยการผสมผสานระหว่างระบบขีปนาวุธจากผิวพื้นสู่อากาศ (surface-to-air missile) และระบบการป้องกันทางอากาศที่ผลิตในประเทศและในรัสเซีย
ทั้งนี้ อิหร่านได้รับมอบระบบต่อต้านขีปนาวุธ S-300 จากรัสเซียในปี 2016 ซึ่งเป็นระบบขีปนาวุธภาคพื้นสู่อากาศระยะไกล (long-range surface-to-air missile systems) ที่สามารถโจมตีเป้าหมายหลายเป้าหมายได้พร้อมกัน รวมถึงเครื่องบินและขีปนาวุธนำวิถี
อิหร่านยังมีระบบป้องกันขีปนาวุธผิวพื้นสู่อากาศบาวาร์-373 (Bavar-373) ที่ผลิตในประเทศ เช่นเดียวกับระบบป้องกันทางอากาศไซยาด (Sayyad) และระบบป้องกันทางอากาศราดด์ (Raad)
“หากเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างทั้งสองประเทศ อิหร่านก็คงมุ่งความสนใจไปที่ความสำเร็จเป็นครั้งคราว พวกเขาไม่มีการป้องกันทางอากาศที่ครอบคลุมแบบที่อิสราเอลมี”
ฟาเบียน ฮินซ์ นักวิจัยของ IISS กล่าว
-อิสราเอล-

อิสราเอลมีกองทัพอากาศขั้นสูงที่จัดหาโดยสหรัฐฯ พร้อมด้วยเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ F-15, F-16 และ F-35 หลายร้อยลำ ยุทโธปกรณ์เหล่านี้มีส่วนสำคัญในการยิงโดรนของอิหร่านตกในวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา
กองทัพอากาศยังขาดเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล แต่ยังมีฝูงบินโบอิ้ง 707 ที่นำกลับมาใช้ใหม่จำนวนไม่มากจะทำหน้าที่บรรทุกน้ำมันซึ่งทำให้เครื่องบินรบสามารถเข้าถึงอิหร่านเพื่อปฏิบัติการพิเศษได้
อิสราเอลเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีโดรน มีอากาศยานไร้คนขับเฮรอน (Heron pilotless planes) ที่สามารถบินได้นานกว่า 30 ชั่วโมง ซึ่งเพียงพอสำหรับการปฏิบัติการในระยะไกล นอกจากนี้ยังมีขีปนาวุธร่อนเดไลลาห์ (Delilah) ที่มีพิสัยทำการประมาณ 250 กม. ซึ่งห่างจากอ่าวเปอร์เซียมาก แม้ว่ากองทัพอากาศจะสามารถปิดช่องว่างดังกล่าวได้ด้วยการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เข้าใกล้ชายแดนอิหร่านก็ตาม
อย่างไรก็ดี มีการเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าอิสราเอลได้พัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลจากผิวพื้นสู่ผิวพื้น แต่ก็ไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธเรื่องนี้ ในปี 2018 อาวิกดอร์ ลีเบอร์แมน รัฐมนตรีกลาโหมในขณะนั้นประกาศว่า “กองทัพอิสราเอลจะได้รับกองกำลังขีปนาวุธใหม่” แต่ทางกองทัพไม่ได้บอกว่าแผนเหล่านั้นดำเนินไปถึงไหนแล้ว”
ขณะเดียวกันระบบป้องกันทางอากาศแบบหลายชั้นที่พัฒนาขึ้นโดยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ หลังสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1991 ก็ทำให้อิสราเอลมีตัวเลือกเพิ่มเติมหลายประการในการยิงโดรนและขีปนาวุธระยะไกลของอิหร่านตก
ระบบสกัดกั้นขีปนาวุธพิสัยไกลระดับสูงสุดคือ ‘ระบบแอร์โรว์-3’ (Arrow-3) ทำหน้าที่สกัดกั้นขีปนาวุธในอวกาศ โดยรุ่นก่อนหน้าแอร์โรว์-2 (Arrow-2) จะคอยสกัดกั้นในระดับความสูงที่ต่ำกว่า และตัวเด็ดอย่าง ‘ไอรอนโดม’ (Iron Dome) ระบบป้องกันขีปนาวุธ ‘David's Sling’ ทำหน้าที่ตอบโต้ขีปนาวุธและขีปนาวุธนำวิถี อีกทั้งยังสามารถโจมตีจรวดและปืนครกที่ใช้โดยกองกำลังติดอาวุธซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในฉนวนกาซาและเลบานอน
“การป้องกันทางอากาศของอิสราเอลทำได้ดีตลอดการโจมตี (13 เมษายน)” สิดาร์ธ เกาชา นักวิจัยจากสถาบันยุทธศาสตร์รอยัล ยูไนเต็ด ในลอนดอนกล่าว
เกาชาตั้งข้อสังเกตว่า “เป้าหมายที่เข้ามาบางส่วน โดยเฉพาะโดรน ถูกเครื่องบินพันธมิตรยิงตกก่อนจะไปถึงอิสราเอล ซึ่งจำกัดระดับความเสี่ยงต่อภัยคุกคามบางประเภท และดูเหมือนว่าจะมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพียงพอเพื่อให้สามารถเตรียมการแนวร่วมได้…”