เหนือรวยยังมีรวย! อีลอน มัสก์ ว่ารวยแล้ว แต่ยังมีคนที่รวยกว่าเกือบ 2 แสนล้านเหรียญ

14 ก.ย. 2567 - 03:00

  • อีลอน มัสก์ เตรียมขึ้นแท่นเป็น “มหาเศรษฐีระดับล้านล้าน” คนแรกของโลกภายในปี 2027

  • เจ้าของตำแหน่งผู้ชายที่ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์มีทรัพย์สินมากกว่าเจ้าพ่อเทสลาถเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • ในช่วงที่มูซาปกครอง อาณาจักรมาลีครอบครองทองคำเกือบครึ่งหนึ่งของทองคำในทวีปแอฟริกา ยุโรป และเอเชียที่เรียกว่า Old World รวมกัน

mansa-musa-richest-man-who-ever-lived-SPACEBAR-Hero.jpg

ความมั่งคั่งของบรรดามหาเศรษฐีอย่าง อีลอน มัสก์ หรือ เจฟฟ์ เบโซส สำหรับเราๆ ก็มองว่ารวยจนไม่รู้จะรวยยังไงแล้ว และล่าสุดเจ้าพ่อเทสลายังเตรียมขึ้นแท่นเป็น มหาเศรษฐีระดับล้านล้าน คนแรกของโลกภายในปี 2027 นี้อีกด้วย 

แต่สำหรับเจ้าของตำแหน่งผู้ชายที่ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์ ทรัพย์สินของมัสก์และเบโซสที่ว่ามหาศาลแล้วยังเทียบไม่ติด 

ชายคนนั้นก็คือ มันซา มูซา ผู้ปกครองอาณาจักรมาลีแห่งแอฟริการะหว่างปี 1312-1337 ซึ่งรวยมากจนนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหลายคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกจำนวนทรัพย์สินที่แน่นอนของเขา แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนพยายามคำนวณออกมา 

ปี 2012 เว็บไซต์ Celebrity Net Worth ประมาณการณ์ไว้ว่ากษัตริย์องค์นี้มีทรัพย์สิน 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวยกว่ามัสก์ เจ้าพ่อเทสลาราว 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรวยกว่าเบโซสแห่งแอมะซอน 213,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะแปลงความมั่งคั่งในสมัยศตวรรษที่ 14 มาเป็นความมั่งคั่งในยุคสมัยใหม่นี้ แต่พวกเขาก็ยอมรับว่าความมั่งคั่งของมูซามีมากมายกว่าบรรดามหาเศรษฐีที่อยู่ในการจัดอันดับความมั่งคั่งของนิตยสารฟอร์บส์ในปัจจุบัน

แล้วผู้ปกครองจากยุคโบราณที่มีทรัพย์สินล้นเหลือคนนี้เป็นใคร เขาครองตำแหน่งผู้ชายที่ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์ได้อย่างไร  

มันซา มูซา เป็นใคร

มูซาที่ 1 แห่งมาลีเกิดเมื่อปี 1280 ในครอบครัวของผู้ปกครอง เขาขึ้นครองตำแหน่งหลังจากผู้ปกครองคนก่อนซึ่งก็คือ อาบู บัคร์ที่ 2 ผู้เป็นพี่ชาย สูญหายไปในท้องทะเล 

ชิบับ อัล-อุมารี นักประวัติศาสตร์ชาวซีเรียในสมัยศตวรรษที่ 14 ระบุว่า อาบู-บัคร์หลงใหลในทะเลแอตแลนติกเอามากๆ ดังนั้นเมื่อปี 1312 อาบู-บัคร์จึงขนขบวนเรือ 2,000 ลำ พร้อมทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และทาสอีกหลายพันคนออกไปสำรวจท้องทะเล และไม่เคยกลับมาอีกเลย  

เว็บไซต์สารานุกรม Encyclopedia Britannica ระบุว่า ในช่วงที่มูซาขึ้นรับตำแหน่งผู้ปกครองต่อจากพี่ชายนั้น มาลีคืออาณาจักรที่ร่ำรวยที่สุดอาณาจักรหนึ่งในแอฟริกา ซึ่งกินพื้นที่ในมาลี เซเนกัล แกมเบีย กินี ไนเจอร์ ไนจีเรีย ชาด มอริเตเนีย และบูร์กินาฟาโซในปัจจุบัน 

เมื่ออาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาลก็มีแหล่งทรัพยากรสำคัญทั้งทองคำและเกลือมากมายตามไปด้วย 

ความสำเร็จครั้งใหญ่ของมูซามาจากการขยับขยายการค้าและการพัฒนาเมืองต่างๆ อย่างทิมบุคตูและเกาให้กลายเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม  

มูซาสร้างมัสยิดและสิ่งก่อสร้างสาธารณะภายในเมืองของเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ทิมบุคตูที่ถูกเปลี่ยนโฉมใหม่เป็นศูนย์กลางการศึกษาอิสลามที่สำคัญอย่างรวดเร็ว ด้วยความช่วยเหลือจากสถาปนิกชื่อดังที่เขาพามาจากตะวันออกกลางและทั่วแอฟริกา 

มูซาเสียชีวิตในปี 1337 ในวัย 57 ปี หลังจากนั้นลูกชายก็ขึ้นมาเป็นผู้ปกครองสืบต่อ และแม้ว่าทักษะความสามารถของมูซาจะช่วยให้อาณาจักรมาลีรุ่งเรืองเป็นที่เกรงขามไปทั่วทั้งทวีปในเวลาที่เขาเสียชีวิต แต่แล้วในที่สุดอาณาจักรมาลีก็ถึงคราวล่มสลาย 

มูซาสร้างความมั่งคั่งยังไง

British Museum ระบุว่า ในช่วงที่มูซาปกครอง อาณาจักรมาลีครอบครองทองคำเกือบครึ่งหนึ่งของทองคำในทวีปแอฟริกา ยุโรป และเอเชียที่เรียกว่า Old World รวมกัน และทองคำทั้งหมดนั้นเป็นของกษัตริย์

“ในฐานะผู้ปกครอง มันซา มูซาสามารถเข้าถึงแหล่งความมั่งคั่งที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกยุคกลางได้อย่างไม่จำกัด ศูนย์กลางการค้าหลักที่ซื้อขายกันด้วยทองคำและสินค้าอื่นๆ ก็อยู่ในดินแดนของเขา และเขาก็สั่งสมความมั่งคั่งจากการค้าขายนี้”

แคธลีน บิคฟอร์ด เบอร์ซอค ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะแฟริกาจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นในสหรัฐฯ เผยกับสำนักข่าว BBC เมื่อปี 2019

นอกเหนือจากทองคำแล้ว ความร่ำรวยของมูซายังมาจากเหมืองเกลือของมาลีและการค้าขายงาช้างด้วย

mansa-musa-richest-man-who-ever-lived-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ภาพมูซาใน Catalan Atlas Photo by Bibliothèque nationale de France/Wikimedia Commons

มูซาเป็นที่รู้จักได้อย่างไร 

ในช่วงที่มูซาขึ้นมาเป็นผู้ปกครองใหม่ๆ อาณาจักรมาลียังไม่เป็นที่รู้จักนักจักนอกแอฟริกาตะวันตก แม้จะมีแหล่งทรัพยากรล้ำค่าก็ตาม จนกระทั่งเขาเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่มืองมักกะในปี 1324 ซึ่งต้องเดินทางผ่านทะเลทรายซาฮาราและอียิปต์ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป 

Encyclopedia Britannica ระบุว่า นักเขียนชาวอาหรับในยุคนั้นบอกว่า มูซาเดินทางพร้อมกับคณะราว 60,000 คน อูฐอีกหลายตัวโดยแต่ละตัวบรรทุกทองคำน้ำหนัก 136 กิโลกรัม เมื่อเดินทางถึงกรุงไคโรของอียิปต์ มูซาและคณะแจกจ่ายทองคำที่ขนมาด้วยมากถึงขนาดทำให้ราคาทองคำราคาตก ทำลายเศรษฐกิจของอียิปต์ไปประมาณ 10 กว่าปี 

บริษัทด้านเทคโนโลยี SmartAsset.com ในสหรัฐฯ ประเมินว่า การเดินทางไปแสวงบุญของมูซาในครั้งนั้นก่อให้เกิดความสูญเสียกับเศรษฐกิจของตะวันออกกลางราว 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐอันเนื่องมาจากราคาทองคำที่ลดลง 

อย่างไรก็ดี สำนักข่าว BBC รายงานว่า มูซาพยายามแก้ไขความผิดพลาดในครั้งนั้นด้วยการพยุงเศรษฐกิขของอียิปต์โดยการรับจำนำทองคำโดยให้ดอกเบี้ยสูงๆ เพื่อดึงทองคำออกจากตลาด 

เรื่องราวความมั่งคั่งของมูซาเป็นที่เลื่องลือไปไกลถึงยุโรปผ่านแผนที่โลกยุคกลาง (Catalan Atlas) ที่ทำขึ้นโดยนักเขียนแผนที่ชาวสเปนในปี 1375 โดยบรรยายถึงแอฟริกาตะวันตกว่าอยู่ภายใต้ความยิ่งใหญ่ของมูซา แผนที่ฉบับนี้ยังมีภาพของมูซานั่งอยู่บนบัลลังก์ มือหนึ่งถือก้อนทองคำ อีกมือหนึ่งถือไม้เท้าทองคำด้วย 

คำบรรยายถึงมูซาตอนหนึ่งใน Catalan Atlas ระบุว่า “ผู้ปกครองชาวมัวร์คนนี้มีนานว่า มุสเซ เมลลี (แมนซา มูซา) เจ้าแห่งนิโกรแห่งกินี กษัตริย์องค์นี้เป็นผู้ปกครองที่ร่ำรวยที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุดในภูมิภาคนี้ เนื่องจากมีทองคำจำนวนมหาศาลที่พบในดินแดนของเขา”

 Photo by HistoryNmoor/Wikimedia Commons

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์