เลือกตั้งวิถีสหรัฐฯ ต่อให้ได้คะแนนเยอะก็ไม่ได้แปลว่าชนะเลือกตั้ง

5 พ.ย. 2567 - 09:52

  • SPACEBAR พาทำความรู้จักระบบคณะผู้เลือกตั้ง หรือ ‘Electoral college’ ผู้ชี้ชะตาผู้นำคนที่ 47 ของสหรัฐฯ ที่ต่อให้ได้คะแนน popular vote เยอะก็ไม่ได้แปลว่าจะชนะเลือกตั้ง

  • ‘Electoral college’ คืออะไร? ข้อดี-ข้อเสีย ของระบบนี้มีอะไรบ้าง?

win-the-vote-but-still-lose-behold-the-us-electoral-college-SPACEBAR-Hero.jpg

5 พฤศจิกายน 2024 วันชี้ชะตาว่าระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และ กมลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต ใครจะได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ แต่คะแนนโหวตเหล่านั้นไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าใครจะชนะ และแคนดิเดตที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด ‘อาจไม่ได้เป็นผู้ชนะ’ เนื่องจากเป็นการแข่งขันแบบรัฐต่อรัฐ 

ชาวอเมริกันอาจรู้สึกเหมือนว่าพวกเขากำลังกาบัตรเลือกตั้งเลือกผู้นำของเขา จริงๆ แล้วมันไม่ใช่แบบนั้น นั่นก็เพราะว่าประธานาธิบดีไม่ได้ถูกรับเลือกจากผู้มีสิทธิออกเสียงโดยตรง แต่ได้รับเลือกโดย ‘คณะผู้เลือกตั้ง’ (electoral college) ต่างหากล่ะ 

แล้ว ‘คณะผู้เลือกตั้ง’ คืออะไร?

win-the-vote-but-still-lose-behold-the-us-electoral-college-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Alex Wroblewski / AFP

ระบบคณะผู้เลือกตั้งมีต้นกำเนิดจากรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ในปี 1787 โดยกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางอ้อมแบบรอบเดียว บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งประเทศมองว่าระบบนี้เป็นการประนีประนอมระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงที่ประชาชนมีสิทธิออกเสียงทั่วไป และการเลือกตั้งโดยสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกปฏิเสธเนื่องจากไม่เป็นประชาธิปไตยเพียงพอ 

ระบบนี้ใช้เพื่อเลือกประธานาธิบดีเท่านั้น ส่วนการเลือกตั้งอื่นๆ ของสหรัฐฯ ทั้งหมดจะตัดสินโดยการลงคะแนนเสียงแบบธรรมดา (Popular Vote / คะแนนเสียงจากประชาชน) 

คณะผู้เลือกตั้งประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 538 คน ส่วนใหญ่มักเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการเลือกตั้งในท้องถิ่น หรือเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งจะมารวมตัวกันในเมืองหลวงของรัฐของตัวเองทุก ๆ 4 ปีหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพื่อเลือกผู้ชนะ แต่ชื่อของพวกเขาจะไม่ปรากฏบนบัตรลงคะแนน 

แต่ละรัฐมีคณะผู้เลือกตั้งเท่ากับจำนวนสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร (จำนวนขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของรัฐ) และในวุฒิสภา (2 คนในแต่ละรัฐ ไม่ว่ารัฐนั้นจะมีขนาดใดก็ตาม) ตัวอย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนียมีคณะผู้เลือกตั้ง 55 คน เท็กซัสมี 38 คน ส่วนรัฐอะแลสกา รัฐเดลาแวร์ รัฐเวอร์มอนต์ และรัฐไวโอมิงซึ่งประชากรเบาบางจึงมีคณะผู้เลือกตั้งเพียงรัฐละ 3 คน 

ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมาก 270 เสียงจาก 538 เสียงจึงจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้

รัฐส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ใช้กฎที่เรียกว่า ‘Winner Takes All’

หมายถึง แคนดิเดตประธานาธิบดีคนใดที่ได้คะแนนเสียง popular vote จากประชาชนของรัฐนั้นมากกว่าในการเลือกตั้ง จะได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งของรัฐนั้นไปครองทั้งหมด

มีเพียง 2 รัฐเท่านั้นที่ไม่ใช้หลักการนี้ แต่จะจัดสรรคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งให้ตามคะแนนเสียงที่แคนดิเดตประธานาธิบดีได้รับจากพลเมืองของรัฐ (popular vote) ได้แก่ : 

  • รัฐเมน 
  • รัฐเนบราสกา

คณะผู้เลือกตั้งจะมาประชุมกันในรัฐของตัวเองช่วงกลางเดือนธันวาคม ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 17 เพื่อลงคะแนนให้ประธานาธิบดี 

อย่างไรก็ดี ระบบคณะผู้เลือกตั้งมักจะสะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชน แต่ในการเลือกตั้ง 6 ครั้งหลังสุดนี้ชี้ให้เห็นว่าแคนดิเดตแพ้คะแนน popular vote ถึง 2 ครั้ง แต่กลับชนะจากการเลือกโดยคณะผู้เลือกตั้งและทำเนียบขาว แสดงว่าผลลัพธ์ไม่ได้สอดคล้องกันเสมอไป เนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียงคนเดียวในรัฐใหญ่มีอิทธิพลต่อคณะผู้เลือกตั้ง ‘น้อยกว่า’ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียงคนเดียวในรัฐเล็ก 

รัฐชนบทที่มีผู้แทนเกินจำนวนในปัจจุบันเป็นรัฐที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันมากขึ้น ดังนั้นพรรครีพับลิกันจึงสามารถชนะโหวตจากคณะผู้เลือกตั้งได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องชนะคะแนนโหวตในระดับประเทศก็ได้ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2000 และ 2016 

เมื่อผลลัพธ์เป็นที่คาดเดาได้ในรัฐที่สนับสนุนทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันอย่างมั่นคง แคนดิเดตส่วนใหญ่จึงทุ่มเทหาเสียงในรัฐที่มีการแข่งขันสูงเพียงไม่กี่รัฐ 

แม้ได้คะแนนเสียงมากที่สุดแต่ก็ ‘แพ้’ การเลือกตั้งได้ (?)

แคนดิเดตที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด สามารถ ‘แพ้’ การเลือกตั้งได้ และมีประธานาธิบดีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ชนะการเลือกตั้ง แม้ว่าแพ้คะแนน Popular Vote ยกตัวอย่างเช่น : 

  • ปี 2000 จอร์จ ดับเบิลยู บุช เอาชนะ อัล กอร์ ได้แม้ว่าจะได้คะแนนเสียงตามหลังเกือบ 5 แสนเสียงก็ตาม แต่ชนะจากคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง 271 ต่อ 266 เสียง 
  • ปี 2016 ที่ทรัมป์เอาชนะ ฮิลลารี คลินตัน ได้แม้ว่าจะได้คะแนนเสียงตามหลังเกือบ 3 ล้านเสียง แต่ชนะจากคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง 276 ต่อ 218 เสียง

แต่ถ้าแคนดิเดตคะแนนเสียงเท่ากันล่ะ?

หากแคนดิเดตทั้ง 2 คนได้คะแนนเสียงเท่ากัน หน้าที่ลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีก็จะเป็นของสภาผู้แทนราษฎร เหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ได้แก่ : 

  • การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1800 ระหว่าง โทมัส เจฟเฟอร์สัน และ จอห์น อดัมส์ แต่สภาผู้แทนราษฎรเลือกเจฟเฟอร์สันเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3  
  • การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1824 ระหว่าง จอห์น ควินซี อดัมส์ และ แอนดรูวส์ แจ็กสัน แต่สภาผู้แทนราษฎรเลือกอดัมส์เป็นประธานาธิบดีคนที่ 6

ข้อดี VS ข้อเสีย ของระบบคณะผู้เลือกตั้ง

-ข้อดี-

  • รัฐขนาดเล็กยังคงมีความสำคัญต่อแคนดิเดต 
  • แคนดิเดตไม่จำเป็นต้องหาเสียงไปทั่วประเทศ แต่สามารถเน้นที่รัฐสำคัญได้ 
  • การนับคะแนนใหม่ทำได้ง่ายกว่า

-ข้อเสีย-

  • ผู้ชนะ popular vote อาจแพ้การเลือกตั้ง 
  • ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงบางคนรู้สึกว่าคะแนนเสียงของตัวเองไม่มีความสำคัญ 
  • อำนาจที่มากเกินไปอยู่ในรัฐ ‘Swing State’ (อ่านเพิ่มเติม)

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ซื่อสัตย์!!!

รัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องลงคะแนนเสียงด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่บางรัฐจะกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้แคนดิเดตพรรคนี้ แต่หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แคนดิเดตคนอื่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนนั้นจะถูกนิยามว่าเป็น ‘ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่ซื่อสัตย์’ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ได้กล่าวถึงแนวคิดของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ซื่อสัตย์ แต่รัฐส่วนใหญ่มีกฎหมายที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องให้คำมั่นว่าจะลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครของพรรคนี้  มิฉะนั้นอาจต้องถูกลงโทษ หรือโดนปรับ 

แต่ในเดือนกรกฎาคม 2020 ศาลฎีกาสหรัฐฯ ได้ตัดสินว่ารัฐต่างๆ สามารถลงโทษผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ซื่อสัตย์ได้ ด้วยการออกกฎหมายบังคับให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องลงคะแนนตาม popular vote ในรัฐนั้นๆ 

ระหว่างปี 1796-2016 พบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 180 คนลงคะแนนเสียงคัดค้านผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีที่ได้รับชัยชนะในรัฐของตัวเอง แต่สุดท้ายแล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ซื่อสัตย์ก็ไม่เคยกำหนดผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ได้เลย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์