แก้ รธน.รายมาตรา วิกฤตใหม่ที่ไม่จำเป็น?!

23 ก.ย. 2567 - 02:30

  • เพื่อไทยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

  • คู่ขนานการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

  • มาตราหลักที่แก้ไข คือการปลดล็อกคุณสมบัตินักการเมือง

Deep  SPACE_แก้รธน.วิกฤติใหม่-SPACEBAR-Hero.jpg

พรรคเพื่อไทย ใช้ฤกษ์ 18 ปีรัฐประหาร คมช.เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 6 ประเด็น ต่อประธานรัฐสภาไปในวันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเป็นการจงใจมากกว่า เพราะเดิมกำหนดจะยื่นในวันศุกร์ที่ 20 กันยายน

แต่เปลี่ยนใจกะทันหันไปยื่นผ่านสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 19 กันยายน เวลา 16.30 น.ก่อนหมดเวลาราชการพอดี ทั้งๆ ที่แจ้งนักข่าวไว้จะไปยื่นในวันรุ่งขึ้น

คงไม่ใช่สับขาหลอก แต่น่าจะเลือกเอาให้ตรงกับวันรัฐประหาร คมช.19 กันยายน 2549 มากกว่า

ในท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มาจากรอบด้าน เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองล้วนๆ ประชาชนทั่วไปแทบจะไม่ได้มรรคผลอะไรด้วยเลย เพราะมุ่งไปที่เรื่องจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ที่ปัจจุบันคนในรัฐบาลตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมา ไปจนถึงผู้นำจิตวิญญาณหรือผู้มีอำนาจเหนือพรรค กำลังถูกคำว่า ‘นิติสงคราม’ ไล่ล่า แถมยังประสบกับความยุ่งยากในการแต่งตั้งคนเข้ามาทำหน้าที่ในตำแหน่งทางการเมืองด้วย

จึงต้องปลดล๊อกรื้อระบบจริยธรรมที่อยู่ในรัฐธรรมนูญเสียใหม่ ชนิดที่ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

สมประโยชน์ไปด้วยกันทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ไม่ต้องกังวลเรื่องสารพัดคำร้องที่มีผู้ยื่นเอาผิดตั้งแต่ตัวนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงการยุบพรรค ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ก็มีคดียุบพรรคคาอยู่ใน กกต. 

ส่วนฝ่ายค้านก็หวาดเสียวไม่แพ้กัน เพราะสส.พรรคประชาชน กับแกนนำอีกรวม 40 คน มีคดีร้องเอาผิดฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง เอาคอพาดเขียงป.ป.ช.อยู่

ต่างมีชนักปักหลังที่รอช้าให้รัฐธรรมนูญใหม่มาปลดปล่อยไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลาอีกนาน จึงเป็นที่มาของการยื่นขอ ‘แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา’ คู่ขนานไปพร้อมกัน

แต่เหมือนได้คืบจะเอาศอก เพราะขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา สภายังไม่ทันได้เริ่มพิจารณา ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ มือกฎหมายเพื่อไทย ก็ประกาศยื่นแก้ไข 2 กฎหมายลูกต่อทันที ทั้ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.

โดยเนื้อหาสาระของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่จะขอแก้ไขนั้น มีความ ‘เชื่อมโยง’ กับปมนิติสงครามที่ถูกร้องเอาผิด ทั้งเรื่องการยุบพรรค และการครอบงำพรรค ซึ่งจะแก้ไขการยุบพรรคให้จำกัดไว้เฉพาะที่เกี่ยวกับการล้มล้างการปกครอง ส่วนคำว่า ‘ครอบงำ’ ก็จะปรับให้รัดกุมขึ้น

ส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.เป็นร่างเดิมที่เคยยื่นต่อสภาไว้ แต่ขอถอนออกไปปรับปรุงด้วยเหตุผลบางประการ ทว่าที่จะเสนอเข้ามาใหม่ ก็ยังคงมุ่งเน้นไปที่การ ‘ตัดอำนาจ’ ป.ป.ช.ไม่ให้ฟ้องเอง หลังอัยการสูงสุดและคณะกรรมการร่วมมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และให้ผู้เสียหายฟ้องเองได้ 

การขอแก้ไขสองกฎหมายลูกไปพร้อมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จึงมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงกันอย่างชัดเจน คือ ‘ปลดล๊อก’ ในรัฐธรรมนูญไม่พอ ต้องมา ‘แก้ล๊อก’ ในกฎหมายลูกด้วย

นอกจากนั้น เมื่อดูเนื้อหาการขอแก้ไขกฎหมายแม่และกฎหมายลูกไปพร้อมกันครั้งนี้ มีนัยไปถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยว่า ในท้ายที่สุดแล้ว คงไม่ได้เห็นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.เกิดขึ้น ตามที่หาเสียงไว้และที่กำลังดำเนินการอยู่

แต่จะได้เห็นการยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในมาตราอื่นๆ ที่เห็นว่าเป็นปัญหาต่อไปแทน

ทั้งนี้ ดูจากการที่ยื่นขอแก้ไขมาตรา 256 (8) ที่ให้เหลือเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ที่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ

ส่วนของเดิมที่ครอบคลุมถึงคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจนั้น ได้ถูก ‘ตัดทิ้ง’ ไป

นั่นเท่ากับว่า เป็นการปูทางให้ฝ่ายการเมือง สามารถใช้เสียงข้างมากในสภาแก้ไขมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือไป ‘รื้ออำนาจศาล’ องค์กรอิสระได้เอง โดยไม่ต้องไปจัดทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชนอีกครั้ง

เมื่อเป็นแบบนี้ การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดย ส.ส.ร.ก็ว่ากันยาวๆ ไป เพราะไม่มีความจำเป็นต้องไปเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แล้ว มาตราไหนที่เห็นว่าเป็นปัญหาก็ไปทะลวงตรงมาตรานั้น ง่ายกว่าด้วยซ้ำ

ใครที่รอให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชนก็ลืมกันไปได้เลย

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เริ่มมีเสียง ‘ทักท้วง’ จากนอกสภาหนาหูมากขึ้น โดยแม้พรรคเพื่อไทย จะไปเคลียร์กับพรรคร่วมรัฐบาลและผนึกฝ่ายค้าน ให้เห็นดีเห็นงามกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในครั้งนี้ได้ แต่ลำพังฉันทานุมัติในสภาอย่างเดียวคงไม่พอ จะต้องรับฟังเสียงจากนอกสภาไปพร้อมกันด้วย 

หาไม่แล้วอาจนำไปสู่การจุดชนวนวิกฤตรอบใหม่ขึ้นในสังคมโดยไม่จำเป็น?!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์